xs
xsm
sm
md
lg

โตโยต้า ซูปร้า ดิ้นตั้งแต่คันเร่งแรก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ชื่อของ “โตโยต้า ซูปร้า” (Toyota Supra) วัยรุ่นยุค 90 ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดีในฐานะรถสปอร์ตระดับตำนานที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของความแรงและความทนทาน โดยมีคู่แข่งร่วมยุคเป็นรถสปอร์ตอย่าง นิสสัน สกายไลน์ จีทีอาร์, มาสด้า อาร์เอ็กซ์-7, มิตซูบิชิ 3000 จีที และฮอนด้า เอ็นเอสเอ็กซ์









อย่างไรก็ตามด้วยภาวะเศรษฐกิจและตลาดที่เปลี่ยนไปทำให้ โตโยต้า ซูปร้า ยุติการทำตลาดไปนานนับสิบกว่าปี จนกระทั่งท่านประธานคนปัจจุบัน “อากิโอะ โตโยดะ” ได้เล็งเห็นว่า โตโยต้า ควรมีรถสปอร์ตทำตลาดอีกครั้ง จึงสั่งให้ทีมวิศวกรไปสร้างขึ้น คำสั่งนี้กลายเป็นที่มาของการคืนชีพ ซูปร้า โฉมใหม่ รหัส JZ90 หรือ A90 หรือ J29 เรียกได้ทั้งสิ้น (ขึ้นกับว่าจะอ้างอิงจากที่ไหน)









TOYOTA x BMW


เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า โตโยต้า ซูปร้า ใหม่นี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของทีมวิศวกร โตโยต้า และวิศวกรของบีเอ็มดับเบิลยู ซึ่งจากคำบอกเล่าของทีมวิศวกรผู้พัฒนาฝั่งโตโยต้าระบุว่า พวกเขาต้องไปเก็บตัวที่ศูนย์วิจัยของบีเอ็มดับเบิลยู เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ รวมถึงการนำรถไปให้ทดลองขับ และเป็นอะไรที่น่าประหลาดใจมากว่า ทีมวิศวกรของบีเอ็มดับเบิลยู ไม่เคยขับรถสปอร์ตของญี่ปุ่น พวกเขาทึ่งเป็นอย่างมากเมื่อได้ลองรถสปอร์ตญี่ปุ่น




ด้านสเปคของตัวรถนั้น การออกแบบภายนอกแตกต่างไปตามความต้องการของแต่ละแบรนด์ โดยโตโยต้าเลือกคงเอกลักษณ์ความเป็นซูปร้าไว้ด้วยรูปทรงคูเป้ ขณะที่บีเอ็มดับเบิลยูนั้นพัฒนาไปในแนวทางของโรดสเตอร์หลังคาเปิดประทุน











โดยดีไซน์ภายนอกของซูปร้า นั้นออกแบบตามแนวทางของรถรุ่น “ 2000 จีที” รถสปอร์ตระดับตำนานรุ่นหนึ่งของโตโยต้า ที่มีทรวดทรงเป็นเอกลักษณ์ทั้งหน้ารถที่ยาว ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบแถวเรียง ขับเคลื่อนล้อหลัง เบาะนั่ง 2 ที่นั่งและหลังคาแข็ง


สำหรับการออกแบบภายใน ยอมรับตามตรงว่า ดูแล้วรู้สึกว่า โตโยต้าพยายามสร้างตัวตนใหม่ของตัวเอง แต่มีชิ้นส่วนหลายรายการที่บ่งชี้แบบชัดเจนว่า หยิบมาจากค่ายใบพัดสีฟ้า เช่น คันเกียร์, ปุ่มควบคุมฟังก์ชัน และระบบปฏิบัติการ ส่วน ออฟชันต่างๆ นั้นส่วนใหญ่แตกต่างกับ Z4









ในส่วนของเครื่องยนต์นั้นใช้ร่วมกัน โดยสเปคของโตโยต้า ซูปร้าที่มาจำหน่ายในประเทศไทย เป็นเครื่องยนต์เบนซินขนาด 3.0 ลิตร แบบ 6 สูบแถวเรียง เทอร์โบคู่ กำลังสูงสุด 340 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร พละกำลังเท่ากันเพราะเป็นเครื่องยนต์ที่พัฒนาขึ้นโดยบีเอ็มดับเบิลยู รวมถึงชิ้นส่วนต่างๆ มีโลโก้ BMW ติดอยู่บนอะไหล่ด้วย












ซึ่งที่เป็นแบบนี้มิใช่เรื่องแปลกแต่ประการใดเพราะ โตโยต้า ซูปร้า ถูกผลิตขึ้นในโรงงานประกอบรถยนต์ของบีเอ็มดับเบิลยูที่ประเทศออสเตรีย นั่นเอง แล้วการขับขี่จะแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร












เดินคันเร่งเต็มเท้า...ดิ้น





ว่าด้วยการขับขี่นั้น บอกตรงนี้ว่า เราได้ขับบีเอ็มดับเบิลยู แซด4 ก่อนและต่อด้วยโตโยต้าซูปร้าแบบที่เรียกว่าลงจากคันแรกแล้วขับคันที่สองต่อในทันที ดังนั้นในแง่ของการเปรียบเทียบจึงรู้สึกได้อย่างชัดเจนว่าแตกต่างกันแบบไร้ข้อกังขา รวมถึงความเห็นของผู้โดยสารยืนยันว่า แตกต่างกัน แต่ด้วยบทความนี้เน้นที่การขับขี่ของซูปร้าเป็นหลัก ดังนั้นจึงขอสรุปความแตกต่างของทั้งสองรุ่นไว้เพียงเท่านี้










ความรู้สึกแรกหลังขึ้นรถและขับเคลื่อนตัวออกมา เสียงคำรามของท่อไอเสียดังมาก แม้เพียงกดคันเร่งเบาๆ เพื่อขยับไปข้างหน้า ไม่มั่นใจว่าเป็นความตั้งใจหรือไม่ประการใด รวมถึงการติดเครื่องยนต์เสียงท่อจะดังเรียกว่าน้องๆ การสตาร์ทซุปเปอร์คาร์ อย่าคิดจะใช้คันนี้แอบหนีเที่ยวยามค่ำคืน เพราะคนในบ้านจะตื่นทันทีที่ติดเครื่องยนต์




การใช้งานหน้าจอและออฟชันต่างๆ จะมีดีไซน์ที่เน้นในเรื่องของการใช้งานง่าย โดยเรือนไมล์เป็นแบบดิจิตอลผสมคลาสสิก ดูแปลกตาดี








ด้านทัศนวิสัย สไตล์รถสปอร์ต เสาเอใหญ่และหนา กระจกบานหน้าแคบ ถ้าเอาที่บังแดดลงมาจะเหลือเพียงช่องราวฝ่ามือกว่าๆ ให้มองเท่านั้น ไม่ถือว่าแปลกสำหรับสปอร์ตแบบนี้ ส่วนกระจกข้างเป็นแบบไร้กรอบ เมื่อขับด้วยความเร็วสูงจะมีเสียงลมและเสียงดังรบกวนเข้ามาที่ความเร็วเกินกว่า 140 กม./ชม.











การขับขี่ในเมืองถือว่าคล่องตัวไม่น้อยกับรถลักษณะเช่นนี้ พวงมาลัยน้ำหนักพอดีๆ ไม่เบาจนเกินไป รัศมีวงเลี้ยวแคบดี การดูดซับแรงสะเทือนต้องทำใจด้วยช่วงล่างที่เซ็ตมาให้ค่อนข้างแข็งเพื่อการยึดเกาะถนนเวลาวิ่งด้วยความเร็วสูง โดยช่วงล่างสามารถปรับได้ตามโหมดของการขับขี่




เราลองออกตัวแบบกดมิดเท้า บนพื้นถนนแบบราดยางมะตอย พบว่า จังหวะออกตัวมีอาการดิ้น ล้อเกือบจะฟรี พร้อมแรงดึงแบบหลังติดเบาะ ไม่เสียทีที่ได้ชื่อว่า ซูปร้า แต่หากไปออกตัวแบบเดียวกันบนพื้นถนนคอนกรีตจะไม่มีอาการดิ้น รถเกาะหนึบดี (ยางเป็นยี่ห้อและรุ่นซีรี่ย์เดียวกันกับบีเอ็มดับเบิลยู แซด4) ดังนั้นความแตกต่างของช่วงล่างจึงมาจากการเซ็ตอัพของทีมวิศวกรแต่ละค่ายที่อยากให้รถของตัวเองเป็นอย่างไร








ความเร็วสูงสุดที่เราลองขับได้คือ 180 กม./ชม. เท่าที่สถานที่จะเอื้ออำนวยในระยะทางสั้นๆ ความเร็วขึ้นเร็วสมกับพละกำลัง 340 แรงม้า ซึ่งยังเหลือชนิดที่น่าจะไปได้เกินกว่า 200 กม./ชม.แบบสบายๆ เรียกว่ากดเป็นมา ขับสนุกในทุกย่านความเร็ว












ความสนุกดังกล่าวย่อมต้องแลกมาด้วยสองสิ่งเสมอ นั่นก็คือ สิ่งแรกอัตราการบริโภคน้ำมัน ช่วงที่กดคันเร่งหนักๆ เห็นตัวเลขแล้วใจหายไม่น้อยเพราะอยู่ที่ราว 4 กม./ลิตร ส่วนค่าเฉลี่ยแบบใช้งานทั่วไป รวมการขับแบบหาความเร็วสูงสุดด้วยนั้นตัวเลขระบุที่ราว 8 กม./ลิตร จากการขับรวมระยะทางกว่า 400 กม.




สิ่งที่สองที่ต้องแลกคือความสบาย เบาะนั่งจังหวะลุกเข้าออกลำบากเพราะลึกและเตี้ย รวมถึงประตูรถที่ต้องใช้พื้นที่กว้างมากพอมิฉะนั้นจะไม่สามารถเปิดเพื่อเข้าออกรถได้ หากคุณรับได้กับ2 ข้อนี้ รับประกันได้ว่าคุณจะสนุกกับซูปร้าได้อย่างสบายใจที่สุด









เหมาะกับใคร





โตโยต้า ซูปร้า ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วจะซื้อได้ เพราะคุณต้องลงชื่อจองพร้อมกับรอลุ้นว่า โควต้า ที่โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้รับมานั้นจะมีกี่คัน จะถึงคิวที่คุณจองไว้หรือไม่ รวมถึงราคาและออฟชันต่างๆ ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ เนื่องจากยังไม่ทราบนั่นเอง โดยซูปร้า ล็อตแรกที่เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยมีเพียง 5 คัน และทุกคันมีเจ้าของเรียบร้อยแล้ว โดยราคาจำหน่าย ณ วันเปิดตัวคือ 4,999,000 บาท ส่วนล็อตใหม่นั้นรอลุ้นว่าจะเปิดที่ราคาเท่าไหร่




























กำลังโหลดความคิดเห็น