บล.หยวนต้า ประเมินกลุ่มยานยนต์ ยอดผลิตครึ่งแรกปีนี้แย่สุดในรอบ 7 ปี หลังไตรมาส 2 โดนไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดรุนแรงเล่นงาน จน 6 ค่ายรถหยุดการผลิต - เลื่อนจัดงานมอเตอร์โชว์ ส่องกำไร 3 หุ้นหลัก SAT-STANLY - AH กำไรทรุด 24% ขณะที่กำไรโค้งแรกปีนี้ ลดลง 15% จากช่วงเดียวกันปีก่อน คงมุมมองเป็นลบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์
บล.หยวนต้า เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์รายวัน ว่า กำไรปกติหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ใน Q1/63 ภายใต้ coverage จำนวน 3 บริษัท (AH SAT และ STANLY) จะอยู่ที่ 889 ล้านบาท ปรับลดลง 15% YoY เนื่องจากรับผลกระทบจากอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว ซึ่งสภาอุตสาหกรรมรายงานตัวเลขยอดผลิตรถยนต์ 2 เดือนแรก ที่ 306,870 คัน ปรับลดลง 15% YoY โดยยอดขายรถในประเทศ อยู่ที่ 139,959 คัน ปรับลดลง 13%YoY เป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทบกำลังซื้อ ขณะที่ตลาดส่งออกอยู่ที่ 160,486 คัน ปรับลดลง 12%YoY โดยการส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว แนวโน้มในเดือน มี.ค. คาดยังแย่ต่อ เราประมาณการยอดผลิตรถยนต์ Q1/63 ที่ 470,000 คัน ลดลง 16%YoY
ประเมินยอดผลิตรถยนต์ต่ำสุดรอบ 7 ปี
ทั้งนี้คาดผลกระทบจากโควิด-19 จะรุนแรงมากขึ้นใน Q2/63 และยอดผลิตจะตกต่ำสุดในรอบ 7 ปี ด้วยกำลังซื้อในประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กอปรกับภาครัฐประกาศ พรก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทางค่ายรถยนต์เลื่อนจัดงานมอเตอร์โชว์ ที่เดิมจะจัด ระหว่างวันที่ 25 มี.ค. - 5 เม.ย ทำให้ยอดขายในเดือนเมษายนจะติดลบ double-digit
ขณะที่ 6 ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่ ได้แก่ TOYOTA ,FORD, MAZDA ,HONDA ,ISUZU และ MITSUBISHI ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวในเดือน เม.ย โดยผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ อยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หากเริ่มคลี่คลายจะกลับมาผลิตมากขึ้น ในครึ่งปีหลัง
กำไรปี 63 (AH ,STANLY ,SAT) ทรุด 24%
สำหรับกำไรปกติของกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้ coverage ของเรา ปี 63ที่ 2,639 ล้านบาท (- 24%YoY) อิงสมมติฐานยอดผลิตรถยนต์ปีนี้ที่ 1.8 ล้านคัน (-11%YoY) ต่ำกว่าที่สภาอุตสาหกรรมคาดการณ์ ที่ 1.9 ล้านคัน
ทั้งนี้ คงมุมมองเป็นลบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ จากผลประกอบการที่อ่อนแอในปีนี้ อย่างไรก็ตามราคาหุ้นกลุ่มยานยนต์ปรับลดลงต่อเนื่องสะท้อนปัจจัยลบไปพอสมควร โดยซื้อขายที่ PER ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 6 ปี ที่ -2SD
SAT คาดกำลังผลิตลดลง 65% กดกำไรทั้งปีวูบ 20%
บล.หยวนต้า คาดกำไรปกติของ SAT ใน Q1/63 ที่ 235 ล้านบาท ลดลง 18%YoY จากผลกระทบของยอดผลิตรถยนต์ของประเทศ Q1/63 ที่คาดลดลง 16%YoY ส่งผลให้รายได้ของ SAT ปรับลดลง 9% YoY เหลือ 2,009 ล้านบาท ด้านประสิทธิภาพในการทำกำไรปรับลดลงจากผลของขนาดยอดขายที่ลดลง โดย EBITDA Margin ปรับลดลง จาก Q1/62 ที่ 18.6% เหลือ 17%
ส่วนแนวโน้ม Q2/63 คาดว่าจะเป็นไตรมาสที่แย่สุดของปี เนื่องจากค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่มีการหยุดการผลิตในเดือน เม.ย กอปรกับเป็นช่วง Low season ของธุรกิจ ภาพรวมปี 2563 เราประมาณการกำไรที่ 716 ล้านบาท -20% YoY จากสมมติฐานยอดผลิตรถยนต์ปี 2563 ลดลง 11% เหลือ 1.8 ล้านคัน และด้วยรายได้กว่า 70% มาจากตลาดรถกระบะ มีโอกาสได้รับผลกระทบจากภัยแล้งซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อ และผลกระทบจาก GM ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทมีการประกาศถอนการลงทุนในประเทศไทย กระทบต่อรายได้ราว 2%
แนะนำ “ซื้อ” แม้ปี 2563 จะเป็นปีที่แย่ของบริษัท แต่ราคาหุ้นได้ปรับลดลงสะท้อนปัจจัยลบไปแล้ว และเราประเมินมูลค่าพื้นฐานแบบอนุรักษ์นิยม อิง PE -1SD บนค่าเฉลี่ย 6ปี ที่ 7x ที่ 11.70 บาท ยังมี Upside จากราคาปัจจุบัน 18% และคาดปันผลน่าสนใจ ที่ 1.01 บาท ต่อหุ้น Yield 10.1% อิงสมมติฐาน Dividend Payout 60%
STANLY กำลังการผลิตหาย 80% - กำไรลด 20%
คาดการณ์กำไรปกติ STANLY งวด Q1/62 - 63 (สิ้นสุด มี.ค.63) ที่ 451 ล้านบาท ปรับลดลง 18%YoY โดยรายได้ลดลง 4%YoY ถือว่าชะลอตัวน้อยกว่าอุตสาหกรรมที่ยอดผลิตรถ คาดติดลบ 16%YoY เนื่องจากมีคำสั่งซื้อรถโมเดลใหม่ที่เป็น Global Model เข้ามา อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการทำกำไรลดลง
โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 18.9% ลดลงจาก 4Q61/62 ที่ 20.2% เป็นผลขายรายได้ที่ลดลง และผลจาก Product mix มาร์จิ้นจากออร์เดอร์ Global Model ที่ต่ำกว่าสินค้าเดิม และมีอัตราของเสียที่สูงในช่วงแรก และมีค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นจากโรงงานใหม่
แนวโน้ม Q1/63-64 คาดผลประกอบการจะชะลอตัวทั้ง QoQ และ YoY ซึ่งนอกจากจะเป็น Low season ยังรับผลกระทบจากการที่ค่ายรถยนต์ หยุดการผลิตในเดือน เม.ย โดยเฉพาะ Honda ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ ประกาศหยุดการผลิตของโรงงานทั้งสองแห่งตั้งแต่ 27 มี.ค – 30 เม.ย ภาพรวมปี 2563/64 (สิ้นสุด มี.ค 64) เราคาดกำไรปกติที่ 1,481 ล้านบาท ปรับลดลง 20%YoY โดยคาดอัตราการใช้กำลังการผลิตสำหรับโคมไฟและหลอดไฟรถยนต์ จะปรับลดลงจากปีก่อนที่ 80% เหลือ 63%
แนะนำ “เก็งกำไร” แม้มองปี 63/64 เป็นปีที่แย่ ของบริษัท แต่ราคาหุ้นปรับลดลงสะท้อนปัจจัยลบไปพอสมควร ลงมาซื้อขายที่ PE -2SD บนค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 6 ปี เราคาดผลประกอบการจะเริ่มดีขึ้นในครึ่งปีหลังหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย และผู้ผลิตรถยนต์กลับมาผลิตมากขึ้น เราประเมินมูลค่าพื้นฐานแบบอนุรักษ์นิยม อิง PE -1SD บนค่าเฉลี่ย 6ปี ที่ 8x ที่ 154 บาท
AH คาดกำไรปกติลดลง 41% เหลือ 442 ล้านบาท
คาดกำไรปกติของ AH งวด Q1/63 ที่ 203 ล้านบาท ปรับลดลง 6%YoY แม้รายได้จะปรับเพิ่มขึ้นถึง 28%YoY เป็น 5,430 ล้านบาท แต่เป็นผลจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยรวมงบของ Sakthi Portugal ซึ่งจะรวมรายได้เข้ามา ราว 750 ล้านบาท ต่อไตรมาส ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 33%YoY และ 44%YoY ซึ่งทำให้อัตรากำไรสุทธิลดลงจาก Q1/62 ที่ 5.1% เหลือเพียง 3.7%
แนวโน้ม Q2/63 คาดจะแย่กว่าไตรมาสแรก และมีโอกาสขาดทุน ซึ่งเริ่มรับผลกระทบจากการหยุดการผลิตของค่ายรถยนต์ในเดือน เม.ย เราคาดกำไรสุทธิปี 2563 ที่ 442 ล้านบาท ดีขึ้นจากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 181 ล้านบาท แต่หากไม่รวมรายการพิเศษปีก่อน 932 ล้านบาท (จากรายการพิเศษ หนี้สงสัยจะสูญโอนกลับ และ ขาดทุนด้อยค่าเงินลงทุน) จะมีกำไรปกติ ปรับลดลง 42%YoY ซึ่งรับผลกระทบจากอุตสาหกรรมผลิตที่ชะลอตัว และผลกระทบเต็มปีจากการหยุดรับรู้รายได้ดอกเบี้ยรับจาก SGAH ราว 240 ล้านบาทต่อปี
เราปรับคำแนะนำจากเดิม “เก็งกำไร” เป็น “ขาย” ด้วยแนวโน้มผลประกอบการที่แย่กว่าอุตสาหกรรม ขณะที่ราคาหุ้นปรับขึ้นมาเกินมูลค่าพื้นฐานของเราที่ 8.20 บาท (ประเมินโดย อิง P/E เฉลี่ย 6ปี -1SD ที่ 6x)