หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว หลังปีก่อนเจอสงครามการค้า พอปีนี้ถูกทุบโดย Covid-19 ประเมินไตรมาสสองหนักสุดจากค่ายรถยนต์หยุดผลิต อีกทั้งเป็นช่วง Low Season ฉุดทั้งปีผลประกอบการลดลงทั้งกลุ่ม แต่ SAT ยังเด่นจากอัตราปันผลสูง
ถือว่าเป็นกลุ่มหุ้นที่เผชิญปัจจัยลบกดดันมาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว สำหรับหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ หลังจากปีก่อนเผชิญปัจจัยลบอย่างสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน, การแข็งค่าของเงินบาท และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ขณะที่พอเข้าสู่ปี 2563 แรกเริ่มเชื่อว่าหลายปัจจัยลบก่อนหน้าจะยุติลงและเปิดทางให้หุ้นในกลุ่มนี้ฟื้นตัว แต่ท้ายที่สุดยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบสำคัญ นั่นคือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่กำลังลุกลามทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จนทำให้สภาวะเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวหนักในปัจจุบัน
มีการประเมินว่าจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้ยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศมีแนวโน้มต่ำกว่า 2 ล้านคัน จากที่เคยทำได้ในปี 2562 ที่ระดับ 2.01 ล้านคัน ซึ่งจะกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะจะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาด เช่น การประกาศปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ไปจนถึง 30 เม.ย.นี้ ซึ่งมีผลต่อการประกอบการกิจการ ขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวจะทำให้ยอดขายรถในประเทศปรับตัวลดลงด้วย โดยคาดว่าอาจลดลง 17% มาอยู่ที่ 68,271 คัน สาเหตุการลดลงเกิดจากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ และปัญหาการแพร่ระบาดของ Covid-19 ซึ่งยังฉุดยอดส่งออกลดลงด้วย โดยคาดว่าจะลดลง 5.3% เป็น 95,101 คัน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินภาพรวมกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ว่า คาดกำไรปกติหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ในไตรมาสแรกปีนี้ ภายใต้ coverage ของ 3 บริษัท (AH SAT และ STANLY) ที่ 889 ล้านบาท ลดลง 15% จากช่วงเดียวกันปีก่อนเพราะได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว ซึ่งสภาอุตสาหกรรมรายงานตัวเลขยอดผลิตรถยนต์ 2 เดือนแรกที่ 306,870 คันลดลง 15% โดยยอดขายรถในประเทศอยู่ที่ 139,959 คัน ลดลง 13% เป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งกระทบกำลังซื้อ ขณะที่ตลาดส่งออกอยู่ที่ 160,486 คัน ลดลง 12% เป็นการลดลงเกือบทุกตลาด เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว โดยแนวโน้มในเดือน มี.ค.คาดยังแย่ต่อทำให้ทั้งไตรมาสยอดผลิตรถยนต์จะอยู่ที่ 470,000 คัน ลดลง 16%
และเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2/63 คาดว่าผลกระทบจากการระบาดของ Covid-19 จะรุนแรงมากขึ้น และยอดผลิตจะตกต่ำสุดในรอบ 7 ปี ด้วยกำลังซื้อในประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กอปรกับภาครัฐประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโรคทำให้ทางค่ายรถยนต์เลื่อนจัดงานมอเตอร์โชว์ ที่เดิมจะจัดระหว่างวันที่ 25 มี.ค.-5 เม.ย ทำให้ยอดขายในเดือนเมษายนจะติดลบ double-digit นอกจากนี้ 6 ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่ ได้แก่ TOYOTA FORD MAZDA HONDA ISUZU และ MITSUBISHI ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวในเดือน เม.ย. และอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 หากเริ่มคลี่คลายจะกลับมาผลิตมากขึ้นในครึ่งปีหลัง
จากเหตุผลดังกล่าวทำให้คาดว่ากำไรปกติของกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้ coverage ปี 2563 ที่ 2,639 ล้านบาท ลดลง 24% จากปีก่อน อิงสมมติฐานยอดผลิตรถยนต์ปีนี้ที่ 1.8 ล้านคัน หรือลดลง 11% โดย SAT คาดกำลังการผลิตปรับลดลงจากปีก่อนที่ 65% เหลือ 48% ส่งผลให้กำไรปกติปรับลดลง 20% เหลือ 716 ล้านบาท ขณะที่ STANLY คาดกำลังการผลิตสำหรับโคมไฟและหลอดไฟรถยนต์จะปรับลดลงจากปีก่อนที่ 80% เหลือ 63% โดยคาดกำไรปกติลดลง 20% เหลือ 1,481 ล้านบาท และ AH คาดกำไรปกติลดลง 41% เหลือ 442 ล้านบาท นอกจากยอดขายจะชะลอตัวตามอุตสาหกรรม ยังรับผลกระทบจากรายได้ดอกเบี้ยรับจากการปล่อยกู้ SGAH ก้อนแรกครบกำหนดไปแล้วในปีก่อน ทำให้ส่วนแบ่งกำไรลดลง 240 ล้านบาทต่อปี
“คงมุมมองเป็นลบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์จากผลประกอบการที่อ่อนแอในปีนี้ อย่างไรก็ตามราคาหุ้นกลุ่มยานยนต์ปรับลดลงต่อเนื่องสะท้อนปัจจัยลบไปพอสมควร โดยซื้อขายที่ P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 6 ปี แต่แนะนำ “ซื้อ” SAT แม้คาดกำไรปีนี้ลดลง 20% แต่มีปันผลที่น่าสนใจ คาด Yield ปันผล สูง 10.1% อิงสมมติฐาน Dividend Payout 60% ประเมินมูลค่าพื้นฐานที่ 11.70 บาท ส่วน STANLY แนะนำ “เก็งกำไร” มูลค่าพื้นฐานที่ 154 บาท ขณะที่ AH ปรับคำแนะนำจาก “เก็งกำไร” เป็น “ขาย” โดยมองว่าราคาปัจจุบันเกินมูลค่าพื้นฐานที่ 8.20 บาท”
ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินว่า การหยุดประกอบรถยนต์ชั่วคราวของค่ายรถต่างๆ ถือเป็นปัจจัยลบต่อกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ (Automotive) โดย ฮอนด้า ถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 10% ของยอดผลิตรถยนต์รวม ดังนั้น การที่ฮอนด้าหยุดผลิตชั่วคราวจะกระทบต่อยอดผลิตรถยนต์ของไทยในเดือน เม.ย.ค่อนข้างมาก จากก่อนหน้านี้ ฟอร์ด ซึ่งมียอดการผลิตรถยนต์รวม 14% ได้ประกาศปิดโรงงานทั้ง 2 แห่งชั่วคราวไปแล้ว
โดยหุ้นที่จะได้รับผลกระทบจากการหยุดสายการผลิตของฮอนด้า ได้แก่ บมจ.ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า (STANLY) ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากฮอนด้า 20-30% และ บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) มีสัดส่วนรายได้ 4%ส่วน บมจ. อาปิโก ไฮเทค (AH) ไม่ได้มีการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้ฮอนด้า โดยยังคงให้น้ำหนักกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ "น้อยกว่าตลาด" แนะนำ "หลีกเลี่ยง" การลงทุน
ด้าน บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่าอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเข้าสู่การชะลอตัวรุนแรงมากกว่าที่คาดไว้เมื่อต้นปีจากปัญหาไวรัส Covid-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งด้านการซื้อรถยนต์ใหม่ภายในประเทศและการส่งออก ทำให้ปรับประมาณการยอดขายรถยนต์รวมในปีนี้อีกครั้งจาก 1.95 ล้านคัน ลดลง 5.4% จากปีก่อน เป็น 1.75 ล้านคัน หรือลดลง 15.1% ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่สมัยน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554
ไม่เพียงเท่านี้ ผลกระทบของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้รัฐบาลไทยออกมาตรการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดด้วยการปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนเป็นวงกว้าง เงินหมุนเวียนในระบบหยุดชะงัก แรงงานขาดรายได้ ทำให้คาดว่ายอดขายรถยนต์ใหม่ในเดือน มี.ค.-พ.ค. (เป็นอย่างน้อย) จะลดลงแรงที่ระดับ 25-30% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ขณะที่ประเทศคู่ค้ารถยนต์ของไทยก็ได้รับผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและเริ่มมีมาตรการสกัดกั้นไวรัส Covid-19 ที่เริ่มเข้มข้นมากขึ้นเช่นกัน อย่างประเทศออสเตรเลีย (ประเทศส่งออกรถยนต์อันดับ 1 ของไทย) ที่เริ่มมีการปิดประเทศ เป็นต้น กอปรกับราคาน้ำมันที่ลดลงรุนแรงกว่า 60% ภายในระยะเวลา 2 เดือน ทำให้มองว่าทวีปตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นทวีปที่ไทยส่งออกรถยนต์สูงเป็นอันดับที่ 3 อาจมีการชะลอซื้อรถยนต์ใหม่ เหมือนกับสมัยปี 2558-2559 ที่จำนวนรถยนต์ส่งออกลดลงระดับ 20-30% สองปีติดต่อกัน ทำให้เชื่อว่าด้านการส่งออกรถยนต์ของไทยจะลดลงราว 20-25% จากปี 2562 ในเดือน มี.ค.-พ.ค. (เป็นอย่างน้อย)
จากประมาณการดังกล่าว ทำให้ปรับยอดขายรถยนต์ใหม่อีกครั้งเป็น 1.75 ล้านคัน ลดลง 15.1% ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี โดยปรับยอดขายในประเทศลงเหลือ 8.3 แสนคัน ลดลง 17.6% และส่งออกเหลือ 9.2 แสนคัน ลดลง 12.7% โดยผลกระทบจาก Covid -19 น่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในช่วง มี.ค.-เม.ย.ได้รุนแรงมากที่สุด ดังนั้นจึงยังคงน้ำหนัก “น้อยกว่าตลาด” โดยแนะนำให้ติดตามยอดผลิตรถยนต์ในเดือน มี.ค.ก่อนการลงทุนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม มองว่าหากราคาหุ้นของบริษัทที่มีความแข็งแกร่งอย่าง SAT (บริษัทปลอดหนี้ และมีเงินสดสูงถึง 4 บาทต่อหุ้น) ได้ปรับตัวลงมาค่อนข้างมากที่ระดับ 6.7-7 บาท สะท้อนระดับ P/BV ที่ 0.4-0.42 เท่า ถือว่าเป็นจุดที่น่าสนใจอย่างมากในการเข้าลงทุน เนื่องจากต่อให้บริษัทมีกำไรในปีนี้ลดลงถึง 55% เหลือ 400 ล้านบาท บริษัทก็ยังสามารถจ่ายเงินปันผลได้และมีอัตราเงินปันผลที่สูงถึง 8% ต่อปี ทำให้เราเชื่อว่า SAT เป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่น่าจับตามองและสามารถลงทุนเพื่อหวังผลในระยะยาวได้
ส่องศักยภาพหุ้นชิ้นส่วนยานยนต์
บมจ. สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) : คาดกำไรปกติ ไตรมาสแรกที่ 235 ล้านบาท ลดลง 18% จากผลกระทบของยอดผลิตรถยนต์ของประเทศไตรมาสแรกที่คาดลดลง 16% ส่งผลให้รายได้ของ SAT ปรับลดลง 9% เหลือ 2,009 ล้านบาท ด้านประสิทธิภาพในการทำกำไรปรับลดลงจากผลของขนาดยอดขายที่ลดลง โดย EBITDA Margin ปรับลดลง จากไตรมาส1/62 ที่ 18.6% เหลือ 17%
ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2/63 คาดว่าจะเป็นไตรมาสที่แย่สุดของปี เนื่องจากค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่มีการหยุดการผลิตในเดือน เม.ย. กอปรกับเป็นช่วง Low season ของธุรกิจ ทำให้ภาพรวมปี 2563 ประมาณการกำไรที่ 716 ล้านบาท ลดลง 20% จากสมมติฐานยอดผลิตรถยนต์ปี 2563 ลดลง 11% เหลือ 1.8 ล้านคัน และด้วยรายได้กว่า 70% มาจากตลาดรถกระบะมีโอกาสได้รับผลกระทบจากภัยแล้งซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อ และผลกระทบจาก GM ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทมีการประกาศถอนการลงทุนในประเทศไทย
กระนั้นก็ตาม แม้ปี 2563 จะเป็นปีที่แย่ของบริษัท แต่ราคาหุ้นได้ปรับลดลงสะท้อนปัจจัยลบไปแล้ว และประเมินมูลค่าพื้นฐานแบบอนุรักษนิยมที่ 11.70 บาท พบว่ายังมี Upside 18% และคาดปันผลน่าสนใจ ที่ 1.01 บาท ต่อหุ้น Yield 10.1% อิงสมมติฐาน Dividend Payout 60%
บมจ.ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า (STANLY) : คาดกำไรปกติงวดไตรมาส 4/62 (สิ้นสุด มี.ค. 63) ที่ 451 ล้านบาท ลดลง 18% โดยรายได้ลดลง 4% ถือว่าชะลอตัวน้อยกว่าอุตสาหกรรมที่ยอดผลิตรถซึ่งคาดติดลบ 16% เนื่องจากมีคำสั่งซื้อรถโมเดลใหม่ที่เป็น Global Model เข้ามา อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการทำกำไรลดลง โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 18.9% ลดลงจาก 20.2% ในช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากรายได้ที่ลดลง และผลจาก Product mix มาร์จิ้นจากออเดอร์ Global Model ที่ต่ำกว่าสินค้าเดิม และมีอัตราของเสียที่สูงในช่วงแรก และมีค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นจากโรงงานใหม่
ทำให้แนวโน้มไตรมาส 1 (เม.ย.-มิ.ย.) คาดผลประกอบการจะชะลอตัว เพราะนอกจากจะเป็น Low season ยังรับผลกระทบจากการที่ค่ายรถยนต์หยุดการผลิตในเดือน เม.ย. โดยเฉพาะ Honda ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ประกาศหยุดการผลิตของโรงงานทั้งสองแห่ง ทำให้ภาพรวมทั้งปีมีกำไรปกติที่ 1,481 ล้านบาท ลดลง 20% โดยคาดอัตราการใช้กำลังการผลิตสำหรับโคมไฟและหลอดไฟรถยนต์จะปรับลดลงจากปีก่อนที่ 80% เหลือ 63%
“แนะนำ “เก็งกำไร” แม้มองปีนี้เป็นปีที่แย่ของบริษัท แต่ราคาหุ้นปรับลดลงสะท้อนปัจจัยลบไปพอสมควร โดยคาดว่าผลประกอบการจะเริ่มดีขึ้นในครึ่งปีหลังหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 เริ่มคลี่คลาย และผู้ผลิตรถยนต์กลับมาผลิตมากขึ้น โดยประเมินมูลค่าพื้นฐานแบบอนุรักษนิยมที่ 154 บาท”
บมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH) : คาดกำไรปกติไตรมาสแรกที่ 203 ล้านบาท ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้รายได้จะปรับเพิ่มขึ้นถึง 28% เป็น 5,430 ล้านบาท แต่เป็นผลจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยรวมงบของ Sakthi Portugal ซึ่งจะรวมรายได้เข้ามาราว 750 ล้านบาทต่อไตรมาส ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 33% และ 44% ทำให้อัตรากำไรสุทธิลดลง ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2/63 คาดจะแย่กว่าไตรมาสแรก และมีโอกาสขาดทุน ซึ่งเริ่มรับผลกระทบจากการหยุดการผลิตของค่ายรถยนต์ในเดือน เม.ย.
ทั้งนี้ คาดกำไรสุทธิปี 2563 ที่ 442 ล้านบาท ดีขึ้นจากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 181 ล้านบาท แต่หากไม่รวมรายการพิเศษปีก่อน 932 ล้านบาท (จากรายการพิเศษ หนี้สงสัยจะสูญโอนกลับ และ ขาดทุนด้อยค่าเงินลงทุน) จะมีกำไรปกติปรับลดลง 42% ตามผลกระทบจากอุตสาหกรรมผลิตที่ชะลอตัว และผลกระทบเต็มปีจากการหยุดรับรู้รายได้ดอกเบี้ยรับจาก SGAH ราว 240 ล้านบาทต่อปี จึงปรับคำแนะนำจากเดิม “เก็งกำไร” เป็น “ขาย” ด้วยแนวโน้มผลประกอบการที่แย่กว่าอุตสาหกรรม ขณะที่ราคาหุ้นปรับขึ้นมาเกินมูลค่าพื้นฐานที่ 8.20 บาท