ส.อ.ท.เผยวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ต้องหยุดไลน์ผลิตในประเทศชั่วคราวขณะนี้ หากยังยืดเยื้อไปถึงมิ.ย.จะส่งผลให้การผลิตรถยนต์อาจต้องปรับเป้าใหม่เหลือ 30% หรือเหลือราว 1.4 ล้านคัน แต่หากยื้อถึง ก.ย.จะลด 50% เหลือ 1 ล้านคัน เผยแนวโน้มแรงงาน 7.5 แสนคนส่อระส่ำ หากยืดเยื้อไปถึงมิ.ย.อาจมีการเลิกจ้างชั่วคราว จ่อระดมสมองกระตุ้นยอดซื้อรองรับหลังกลับมาผลิต
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ช่วงที่ผ่านมาค่ายรถยนต์ต้องหยุดไลน์การผลิตรถยนต์ภายในประเทศเป็นการชั่วคราวจนถึง 30 เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โควิด-19 ยังคงยืดเยื้อไปถึงมิ.ย. 63 คาดว่าการผลิตรถยนต์จะลดลงราว 30% หรือเหลือประมาณ 1.4 ล้านคัน (แบ่งเป็นขายในประเทศ 7 แสนคัน ส่งออก 7 แสนคัน) หรือหากยืดเยื้อถึง ก.ย. 63 จะลดลง 50% หรืออยู่ที่ 1 ล้านคัน (แบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 5 แสนคัน ส่งออก 5 แสนคัน) จากเป้าหมายแรกที่กำหนดไว้การผลิตรถยนต์ปีนี้จะอยู่ที่ 2 ล้านคัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1 ล้านคัน เพื่อส่งออก 1 ล้านคัน
"คงต้องขอดูสถานการณ์ก่อนที่จะมีการปรับเป้าหมาย เพราะก่อนหน้าเราตั้งเป้าไว้ 2 ล้านคัน แต่ต่อมาได้ปรับเป้าหมายใหม่เหลือการผลิตรถปีนี้ 1.9 ล้านคัน ซึ่งหากดูจากตัวเลขยอดขาย และการผลิตล่าสุดเดือนมี.ค.นี้ยอมรับว่าก็คงจะลดต่ำกว่านี้อีกแน่นอน" นายสุรพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ผลิตแต่ละค่ายได้พยายามรักษาระดับการจ้างงานไว้อยู่ไม่มีการเลิกจ้าง คงต้องติดตามว่าจะสามารถกลับมาผลิตได้ตามปกติเมื่อใด รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 จะสิ้นสุดเมื่อใดเป็นสำคัญ หากยือเยื้อและต้องปิดนานถึง ก.ย.อาจส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างชั่วคราวได้เช่นกัน ซึ่งแผนธุรกิจแต่ละรายคงจะต่างกันไป โดยปัญหาดังกล่าวก็จะกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ด้วย ซึ่งแรงงานในระบบอุตฯ ยานยนต์และชิ้นส่วนจะมีราว 7.5 แสนคน (ไม่รวมพนักงานอื่นๆ เช่นโชว์รูม ช่างซ่อม) ซึ่งยอมรับว่าจะหนักกว่าต้มยำกุ้ง
สำหรับยอดการผลิตรถยนต์ มี.ค. 63 มีทั้งสิ้น 1.46 หมื่นคัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.16% รวม 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค. 63) ผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 4.53 แสนคัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.2% โดยยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ มี.ค. 63 อยู่ที่ 6.01 หมื่นคัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 41.74% ส่งผลให้ยอดขาย 3 เดือนแรกมียอดขาย 2 แสนคัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 24.09%
ขณะที่การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป มี.ค. 63อยู่ที่ 8.97 หมื่นคัน ลดลงจาก มี.ค. 62 คิดเป็น 23.71% ส่งผลให้ส่งออก 3 เดือนแรก (ม.ค.- มี.ค. 63) อยู่ที่ 2.5 แสนคัน โดยส่งออกลดลงจากปี 2562 ในระยะเวลาเดียวกัน 16.53% มีมูลค่าการส่งออก 128,848.51 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.90%
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน ส.อ.ท.และที่ปรึกษาบริหารอาวุโส บ. โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า โตโยต้าฯ ไม่ต่างจากค่ายอื่นๆ โดยยังพยายามที่จะเลี้ยงพนักงานไว้อยู่โดยไม่ปลดออก ซึ่งยังคาดหวังว่า พ.ค.-มิ.ย.จะเริ่มกลับมาผลิตได้ปกติ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ค่ายรถฯ กำลังหารือกันคือการกระตุ้นตลาดหลังกลับมาว่าจะทำอย่างไรที่จะเร่งหารือและได้ข้อสรุปที่จะเสนอรัฐ ซึ่งในช่วงน้ำท่วมเคยมีนโยบายรถยนต์คันแรก แต่ครั้งนี้จะเป็นรูปแบบใดที่เหมาะสม