xs
xsm
sm
md
lg

MG HS 1.5 Turbo SUV คุ้มค่า ราคาเบา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์







เปิดตัวชนิดเรียกเสียงฮือฮาได้เหมือนเช่นเคย สำหรับรถยนต์น้องใหม่ล่าสุด เอชเอส (HS) จาก เอ็มจี ซึ่งถือว่าเป็นตัวตายตัวแทนรุ่น จีเอส ที่ยุติการทำตลาดไปโดยปริยาย ด้วยสนนราคาค่าตัวที่ต้องบอกว่า เร้าใจที่สุด เริ่มต้นเพียง 919,000 บาท และรุ่นท็อปสุดราคา 1,119,000 บาท เท่านั้นยังไม่พอในช่วงแนะนำตัว มากับส่วนลดพิเศษ 34,000 บาท ดังนั้นจึงมีราคาเริ่มต้นเพียง 885,000 บาท ซึ่งล่าสุด ราคานี้จะยืนถึงสิ้นปี 2562 นี้







สำหรับ เอ็มจี เอชเอส เมื่อมองที่ขนาดของตัวถังจะอยู่ในเซกเมนท์เดียวกับ ฮอนด้า ซีอาร์-วี, มาสด้า ซีเอ็กซ์-5, นิสสัน เอ็กซ์เทรล และ ซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีราคาอยู่ในระดับ 1.3-1.7 ล้านบาท การที่ เอ็มจี เอชเอส เคาะราคาเริ่มต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท มีอะไรมาให้บ้างและขับแล้วน่าสนใจเพียงใดเชิญติดตาม
















อ็อปชันแน่น ชิ้นส่วนยุโรปเพียบ



ขอกล่าวถึงข้อมูลเบื้องต้นของเครื่องยนต์กันก่อนจะไปถึงเรื่องอื่นๆที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เครื่องยนต์พกพาหัวใจขนาด 1.5 ลิตร เทอร์โบ กำลังสูงสุด 162 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร เรียกได้ว่า ไม่น้อยหน้ารถที่มีขนาดเครื่องยนต์ 2.0-2.4 ลิตรแต่อย่างใด สามารถใช้เชื้อเพลิงชนิด อี85 ได้อีกด้วย

















ระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติแบบ ทวินคลัทช์ (คลัทช์คู่) 7 สปีด โดยในรุ่นท็อปที่เราทดลองขับในครั้งนี้ จะมีโหมดการขับขี่ให้เลือกใช้ได้ 4 โหมด ได้แก่ Normal, Eco, Sport และ Super Sport รายละเอียดจะกล่าวในช่วงของการขับขี่ ช่วงล่าง หน้า อิสระ แมคเฟอร์สันสตรัท และหลัง อิสระ มัลติลิงค์ ระบบเบรกเป็นดิสก์เบรกทั้งสี่ล้อ




















รูปโฉมภายนอก จากภาพดูเหมือนเล็ก แต่คันจริงจะดูใหญ่กว่าในรูป โดยมีกลิ่นอายของการออกแบบคล้ายคลึงกับรถยุโรปบางยี่ห้อ ซึ่งจุดนี้หากมองย้อนกลับไปคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะหลายๆ รุ่นของแบรนด์อื่นๆ ไม่ว่าจะยุโรป ญี่ปุ่น หรืออเมริกา ต่างก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมานับไม่ถ้วน ส่วนหนึ่งมีเหตุผลมาจาก การเลือกใช้ซัพพลายเออร์ หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนรายเดียวกันนั่นเอง

































สำหรับภายในมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมาให้อย่างมากมายชนิดที่รถราคา 2-3 ล้านบาทยังให้ไม่เท่านี้ ซึ่งถ้าให้บรรยายคงไม่หมดขอคัดเฉพาะส่วนที่เราชื่นชอบ เบาะนั่งหนังทรงสปอร์ต มีในรุ่นท็อป และรุ่นกลาง โดยรุ่นท็อปจะมีแต่เบาะสีแดงสลับดำเท่านั้น ใครที่ไม่ชอบสีแดงแบบนี้อาจจะต้องทำใจสักหน่อย หรือเลือกรุ่นรองลงมาที่เป็นเบาะดำล้วน หลังคาซันรูฟแบบพาโนรามิค ยาวตั้งแต่หน้าจรดท้าย




















คุณภาพของตัววัสดุมากกว่า 50% เป็นวัสดุชนิดเดียวกับที่ใช้ในรถยุโรปหลายยี่ห้อ บางชิ้นเกรดเท่าเทียมกัน แต่บางชิ้น ที่ดูเป็นพลาสติกธรรมดายังมีให้เห็นอยู่ โดยรวมๆ แล้วดูคุ้มค่าเกินกว่าราคาที่จ่ายไปอย่างแน่นอน

















































ขับดีเกินคาด นิ่งทางยาว




การขับขี่นั้นกำหนดให้ขับแบบยาวๆ ซึ่งเราชื่นชอบมาก เส้นทางกรุงเทพฯ – เขาใหญ่ จากฝั่งธนบุรี ทะลุผ่านกลางกรุงเทพฯ ด้วยเส้นทางด่วน มีเจอรถติดแบบหนักๆ อยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ปัญหา เพราะพวงมาลัยเบามือ จับถนัดและแม่นยำ ประกอบกับ ทัศนวิสัยที่ดีจากกระจกหน้าสุดกว้าง ทำให้ ขับง่าย คล่องตัว แม้ตัวรถจะดูใหญ่ก็ตาม


















เมื่อขึ้นทางด่วน กดความเร็วระดับ 120 กม./ชม. ยาวๆ บางช่วงบางตอนขอลองหาความเร็วสูงสุด สามารถวิ่งไปแตะที่ 160 กม./ชม. ได้อย่างไม่ยาก ตัวรถยังคงค่อนข้างนิ่ง ถ้าวิ่งด้วยความเร็วที่ต่ำกว่า 140 กม./ชม. ส่วนถ้าเร็วเกินกว่านั้น เริ่มต้องใช้สมาธิให้มากขึ้น เสียงลมประทะเริ่มดังตั้งแต่ความเร็วเกินกว่า 120 กม./ชม. เป็นต้นไป




ออกจากด่วน เข้าสู่ถนนเส้นพหลโยธินมุ่งหน้ามิตรภาพ ช่วงนี้การจราจรหนาแน่น พอสมควร ทำให้ทำความเร็วได้ในระดับ 80-120 กม./ชม. มีบางช่วงเท่านั้นที่โล่งพอจะกดคันเร่งทะลุได้ถึง 140 กม./ชม. เรียกว่าเป็นช่วงทดสอบการขับแบบทางยาวๆ ที่ดีทีเดียว รถขับค่อนข้างนุ่มนวล และนิ่งดี ตอบสนองทันใจในทุกย่านความเร็ว รถไม่ถึงกับพุ่ง กดแล้วขึ้นแบบเนียนๆ
















การเร่งแซงทำได้อย่างมั่นใจ ไม่มีปัญหาเรื่องการรอรอบหรือต้องลุ้นว่าจะแซงพ้นหรือไม่ หากไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร เราจะคิดว่านี่คือเครื่องยนต์ขนาด 2 ลิตรขึ้นไปอย่างแน่นอน สิ่งนี้ต้องขอบคุณเทคโนโลยีเทอร์โบ และ ระบบเกียร์ คลัทช์คู่ 7 สปีดที่สามารถ ทำงานสอดประสานกำลังกันได้อย่างลงตัว




รอบนี้สารภาพว่า ไม่ได้ทดลองนั่งทางเบาะหลังแบบทางยาวๆ เลย มีได้ลองนั่งเพียงสั้นๆ ในที่พักเท่านั้น เนื่องด้วย เราขับแล้วรู้สึกว่า สบายและอยากขับอีก แม้จะไม่ใช่รถที่ขับสนุกแบบเร้าใจ แต่เป็นรถที่เราขับแล้วสบายใจ มีอะไรให้เล่นหลากหลายอย่าง รวมถึงระบบความปลอดภัยอย่าง ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน (LDW) ที่ทำงานควบคู่กับ ระบบช่วยควบคุมรถเมื่อจะออกนอกเลน (LDP) และ ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LKA)







อธิบายแบบง่ายๆ ความแตกต่างของ 2 ระบบนี้ คือ ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน (LDW) ที่ทำงานควบคู่กับ ระบบช่วยควบคุมรถเมื่อจะออกนอกเลน (LDP) คือ เมื่อคุณจะเปลี่ยนเลนแล้วไม่เปิดไฟเลี้ยวรถจะเตือนและมีการดึงพวงมาลัยกลับมา หากออกนอกเลน ช่วยป้องกันกรณีขับแล้วหลับใน ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ และทำให้เราต้องใช้สัญญาณไฟเลี้ยวทุกครั้งเวลาเปลี่ยนเลน




ส่วน ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LKA) จะทำหน้าที่เลี้ยงพวงมาลัยให้ รถวิ่งอยู่ตรงกลาง โดยจะมีการขยับได้เองเพียงเล็กน้อย เพื่อประคองรถ สามารถทำงานควบคู่กับระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน(Adaptive Cruise Control) ได้ โดยเราได้ลองทั้งสองฟังก์ชันนี้อย่างสนุกสนาน พบว่า มันสามารถทำงานได้จริง และมีประสิทธิภาพดีอีกด้วย



















อย่างไรก็ตามระบบดังกล่าว มีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องมีเส้นถนนที่ชัดเจน หากเส้นถนนไม่ชัด ระบบจะไม่สามารถทำงานได้เลย โดยดูได้จากไฟที่แสดงบนหน้าจอถ้าขึ้นสีเขียวหมายความว่าระบบพร้อมทำงาน แต่หากไม่อยากใช้งานเพียงแค่กดปุ่มปิดระบบการทำงานเป็นอันว่าเรียบร้อย
















หลังจากที่ได้ขับ มองกลับไปที่ราคาค่าตัว เริ่มต้นเพียง 885,000 บาท ส่วนคันที่เราขับคือรุ่นท็อป 1,085,000 บาท ขออนุญาตใช้คำว่า “คุ้มค่า” แบบเน้นๆ ด้วยส่วนต่างราคาเมื่อเทียบกับรุ่นท็อปของค่ายรถญี่ปุ่นที่ห่างกันราว 5-6 แสนบาท กับลูกเล่นต่างๆ ที่ เอ็มจี จัดมาให้มากกว่ามาก ดังนั้น ในแง่ของตัวผลิตภัณฑ์ คงไม่มีข้อสงสัย เหลือเพียงเรื่องของ คุณภาพในการประกอบและการดูแลหลังการขาย ที่ยังต้องการเวลาสำหรับการพิสูจน์อีกไม่น้อย













เหมาะกับใคร






จะเป็นรถคันแรกของครอบครัว ที่อยากได้รถใหญ่ไว้เดินทางไกลๆ หรือใช้งานในเมือง โดยไม่เกี่ยงเรื่อง ภาพลักษณ์ของตราสินค้า เอ็มจี เอชเอส คือหนึ่งในตัวเลือกที่เรากล้าใช้คำว่า คุ้มค่าที่สุด ในตลาดเวลานี้













กำลังโหลดความคิดเห็น