หลังจากเปิดตัวทำตลาดมาตั้งแต่ปี 2015 ภายใต้การเป็นผู้เปิดตลาดรายแรกของโครงการอีโคคาร์เฟสสอง ทำให้ มาสด้า 2 ก้าวขึ้นแท่นการเป็นผู้นำในกลุ่มรถเซกเมนท์อีโคคาร์ได้หลายครั้งหลายหน จนกระทั้งคู่แข่งเริ่มทยอยเปิดตัวออกมา ทำให้ในปีนี้ มาสด้า วางคิวเปิดตัว โฉมไมเนอร์เชนจ์ อย่างเป็นทางการในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ที่ผ่านมา
ซึ่งมาสด้า 2 ไมเนอร์เชนจ์ ก็ไม่ทำให้ผิดหวังสามารถกวาดยอดขายภายในงานดังกล่าวไปได้ถึง 2,200 คัน นับว่ายังคงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า และเพื่อไม่ให้เสียเวลา มาสด้า จัดทริปทดลองขับพิเศษนับว่าเป็นความกล้าและท้าทายอย่างยิ่ง ด้วยการให้สื่อมวลชนได้ลองขับ มาสด้า 2 ในสนามแข่ง ช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต ชนิดเต็มรูปแบบ ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรบ้าง เชิญติดตาม
เปลี่ยนหน้า เพิ่ม GVC+
สำหรับจุดใหญ่ใจความของการปรับเปลี่ยนแบบไมเนอร์เชนจ์ครั้งนี้ จะอยู่ที่การเปลี่ยนหน้าใหม่ ดูกระฉับกระเฉงขึ้น โดยเปลี่ยนชุดกันชนหน้าจากดีไซน์เรียบๆ มาเป็นแบบมีเส้นด้านล่างลักษณะเดียวกันกับรุ่นพี่อย่าง ซีเอ็กซ์-8 กระจังหน้าเป็นลายดวงดาว ไฟหน้าใหม่ โปรเจคเตอร์แบบ LED และมีไฟสำหรับการขับขี่ในเวลากลางวัน (Daytime Running Lamp) เพิ่มเข้ามาในรุ่น S, S Leather, SP, XD และ XDL
ส่วนไฟท้ายรุ่นแฮทช์แบ็ค 5 ประตูมีการเปลี่ยนตำแหน่งดวงไฟของโคมไฟท้าย และสปอยเลอร์หลัง ส่วนรุ่นซีดาน ไฟท้ายคงเดิมมีเพิ่มเติมเพียงชุดเสกิร์ตหลังด้านล่างที่ดูสปอร์ตมากขึ้น
เครื่องยนต์ยังเป็นตัวเดิมคือ มีให้เลือกทั้งรุ่นดีเซล 1.5 ลิตร 4 สูบ เทอร์โบ กำลังสูงสุด 105 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร อัตราการบริโภคน้ำมันเฉลี่ย 26.3 กม./ลิตร และรุ่นเบนซิน 1.3 ลิตร กำลังสูงสุด 93 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 123 นิวตันเมตร อัตราการบริโภคน้ำมันเฉลี่ย 23.3 กม./ลิตร
ส่วนสิ่งใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามาเป็นหัวใจในคราวนี้คือ ระบบ GVC+ ที่ได้รับการปรับการทำงานใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม โดยจะใช้การจัดการแรงบิดและเบรกเพื่อรักษาเสถียรภาพการทรงตัวให้สามารถควบคุมได้ง่ายขึ้น
การตกแต่งภายในมีการเปลี่ยนสีของเบาะหนังใหม่ มาในโทนสีเทาฟ้า โดยเป็นหนังกลับผิวละเอียด พร้อมปรับปรุงการเก็บเสียงในห้องโดยสารด้วยการเพิ่มความหนาของวัสดุบุเพดานหลังคา เพิ่มขอบซีลยางที่ประตูทางด้านหลัง (เฉพาะรุ่นแฮทช์แบ็ค) และวัสดุดูดซับแรงสะเทือนที่ด้านในของซุ้มล้อหลัง
เบาะนั่งคู่หน้าได้รับการปรับปรุงเพื่อลดอาการโยกของศีรษะลง และเพิ่มระบบการเชื่อมต่อผ่าน Apple Car Play รวมถึงเพิ่มระบบแสดงภาพ 360 องศาพร้อมเซนเซอร์กะระยะทางด้านหน้า โดยกล้องมุมกว้างที่ติดตั้งนั้นสามารถมองเห็นภาพได้กว้างถึง 177 องศา ทั้งด้านหน้าและหลัง ทำให้มั่นใจขึ้นเวลาออกจากซอยหรือถอยออกจากช่องจอดรถ
กดเต็มเท้า พิสูจน์การทำงาน GVC+
นับว่าเป็นหนึ่งในความกล้าหาญของทีมงานมาสด้า ที่ตัดสินใจให้สื่อมวลชนมาพิสูจน์สมรรถนะของมาสด้า 2 ไมเนอร์เชนจ์กันที่สนามแข่งรถ ช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต บุรีรัมย์ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ถ้ารถแรงไม่ถึง มันจะบ่งชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า รถของคุณนั้นอืดแล้วมาสด้า 2 เป็นเช่นนั้นหรือไม่
การทดลองขับแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 2 สถานีจำลองการขับขี่ และการขับจริงแบบเต็มรอบ เริ่มต้นด้วยจุดแรก การขับแบบหักหลบฉุกเฉิน โดยให้ขับท่านละสองรอบต่อจุด ทีมงานแนะนำให้ใช้ความเร็วประมาณ 70-80 กม./ชม. รอบแรกเราขับด้วยความเร็วเท่าไหร่ไม่ทราบได้แต่น่าจะราว 80 กว่ากม./ชม. หักหลบแบบรวดเร็ว ผลคือ เรายังคงควบคุมรถได้อย่างมั่นใจ ไม่รู้สึกว่ามีอาการหลุด แต่แล้วเมื่อลงมา คนที่ดูอยู่ข้างนอกบอกว่า “พี่ขับยังไง ล้อหลังยกขึ้นมาเลย ขออีกรอบนะ”
รอบหลังเหมือนเรารู้จังหวะแล้ว และเข้าด้วยความเร็วที่ต่ำกว่าเดิมเล็กน้อย ล้อจึงไม่ลอย ส่วนความรู้สึกในการควบคุมยังมั่นใจเหมือนเดิม ไม่มีเสียการทรงตัว หลังจากนั้นไปลองขับในจุดที่สอง เป็นโค้ง 6-10 ของสนามช้าง ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของการหลอกตา และเป็นโค้งที่สามารถลองการทำงานของระบบ GVC+ ได้เป็นอย่างดี
การทำงานของ GVC+ นั้นจะควบคุมแกนหมุนผ่านการเบรก เมื่อมีการกดคันเร่งในขณะเข้าโค้ง โดยจะทำการเบรกเพียงเล็กน้อยที่ล้อด้านนอกโค้ง พร้อมจัดการแรงบิดให้เหมาะสม เพื่อให้รถกลับมาอยู่ในลักษณะตรงที่สุด ช่วยให้การเปลี่ยนเลนด้วยความเร็วสูงหรือการขับขี่บนพื้นที่ลื่น (ถนนที่มีหิมะ) เป็นไปด้วยความปลอดภัยมาขึ้น
ซึ่งรอบแรกเราลองเข้าโค้ง (ที่โค้ง 9 )ด้วยความเร็วที่แนะนำคือ 90 กม./ชม. แต่ไม่กดคันเร่ง(GVC+ไม่ทำงาน) ปล่อยให้รถไหลไปตามแรงที่ส่งมา จังหวะพ้นโค้งบานออกไปถึงเกือบขอบแทร็คทั้งที่ความเร็วลดลง แตกต่างจากรอบสองที่เรากดคันเร่ง (GVC+ทำงาน) รักษาความเร็วที่ราว 90 กม./ชม. ตลอดการเข้าโค้ง รู้สึกได้อย่างชัดเจนว่า สามารถควบคุมรถได้ดีกว่า รถไม่บานออกไป ทำให้กล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่า ระบบนี้ใช้งานได้ดีจริง
สุดท้ายปิดด้วยการขับแบบเต็มรอบสนามสองรอบ ซึ่งแต่ละคนจะได้ขับสี่รอบสลับกันทั้งรุ่นเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล โดยใช้มาสด้า เอ็มเอ็กซ์-5 ขับนำขบวน ความเร็วสูงสุดที่ขับได้คือ 150 กม./ชม. ในช่วงสุดทางตรงยาว ส่วนโค้งความเร็วสูงสามารถเร่งขึ้นไปได้ถึงเกือบ 140 กม./ชม. ตัวรถยังคงทรงตัวได้อย่างมั่นใจ ขับสนุกทุกรุ่นไม่เสียชื่อ ซูม ซูม
เมื่อได้มาลองขับเต็มๆ ในสนามแบบนี้ เปรียบเทียบกันระหว่าง เบนซินและดีเซล แล้ว ดีเซล อาจจะเด่นกว่าในช่วงออกตัวหรือเร่ง ให้ความรู้สึกที่พุ่ง แต่หากเป็นการขับไล่กันแบบนี้รถเครื่องยนต์เบนซินกลับตอบสนองภาพรวมที่เร็วและสนุกมากกว่า ขณะที่รุ่นตัวถังแบบแฮทช์แบคนั้นเวลาเข้าโค้งแรงๆ จะรู้สึกได้ถึงแรงเหวี่ยงที่มากกว่ารุ่นตัวถังซีดาน
เหมาะกับใคร
รถคันแรกของบ้านหรือคันแรกหลังเริ่มต้นทำงาน ดูจะเหมาะสม ขับคนเดียวหรือสองคน ได้ทั้งความสนุกในการขับขี่และการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุภายในที่มีคุณภาพสูง ดูดีเกินกว่ารถในระดับเดียวกัน พร้อมระบบความปลอดภัยที่ใส่มาให้อย่างเต็มพิกัด ทำให้มาสด้า 2 ยังได้รับความนิยมในลำดับต้นๆของรถอีโคคาร์ในเวลานี้