สองโมเดลที่เรียกว่าร้อนแรงที่สุดในตลาดรถยนต์ไทยนาทีนี้คงต้องยกให้กับ “นิสสัน อัลเมร่า” และ “ฮอนด้า ซิตี้” ที่เปิดตัวในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ภายใต้โครงการอีโคคาร์ เฟสสอง ซึ่งทั้งสองรุ่นนี้ถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของยอดขายของทั้งสองแบรนด์ ดังนั้น จึงเป็นการเปิดตัวด้วยความคาดหวังอย่างสูงทั้งคู่
นิสสัน อัลเมร่า มียอดขายในโฉมก่อนหน้าที่เดือนละประมาณ 1,500 คัน ส่วนเป้าขายของโฉมใหม่แม้จะไม่มีการเปิดเผยแต่เชื่อว่าไม่น้อยลงไปกว่าเดิมอย่างแน่นอน ขณะที่ ฮอนด้า ซิตี้ นั้นยอดขายเดิมอยู่ที่ 3,000 คันต่อเดือน เมื่อเปิดตัวโฉมใหม่ตั้งเป้าเอาไว้ที่ 3,500 คันต่อเดือน
ส่วนหัวใจสำคัญที่ทำให้ทั้งสองโมเดลถูกนำมาเปรียบเทียบกันอย่างชัดเจนคือเรื่องของ เครื่องยนต์ที่ทั้งคู่คบหากับเครื่องเบนซินขนาด 1.0 ลิตร เทอร์โบ เหมือนกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ จัดอยู่กันคนละเซกเมนท์ (ฮอนด้า ซิตี้ - บีคาร์ และ นิสสัน อัลเมร่า - อีโคคาร์) ดังนี้แล้ว เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคบทความนี้จึงเกิดขึ้น
รู้จัก เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เทอร์โบ
สำหรับครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เทอร์โบ นั้นถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งจะเข้ามาคนไทยได้รู้จักมากขึ้น ส่วนในตลาดโลกนั้นมีมานานพอสมควรแล้ว ถือเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาการในการลดขนาดความจุของเครื่องยนต์ลงแต่คงประสิทธิภาพให้ดีขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทั้งสองรุ่นมากับเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันคือ เป็นครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เทอร์โบ แบบสามสูบ เหมือนกัน แต่จุดที่แตกต่างคือ ฮอนด้า มากับระบบวีเทค VTEC ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในเรื่องของพละกำลังและการประหยัดนำ้มันที่ตอบสนองการขับขี่อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยเห็นได้ชัดเจนจากสเปคของเครื่องยนต์
ฮอนด้า ซิตี้ มีกำลังสูงสุดถึง 122 แรงม้า มากกว่า นิสสัน อัลเมร่า ที่มีกำลังสูงสุด 100 แรงม้า และมาในรอบที่ตำ่กว่าด้วย (ดูตารางประกอบ) ส่วนแรงบิดนั้น ซิตี้ มีมากถึง 173 นิวตันเมตร พอๆ กับรถที่ใช้เครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตรเลยทีเดียวส่วน อัลเมร่า มีแรงบิดสูงสุด 152 นิวตันเมตร ตามสเปคถือว่า อัลเมร่าน้อยกว่าแบบไม่ต้องถกเถียงกัน
ขณะที่อัตราการบริโภคน้ำมัน ตามมาตรฐานของอีโคคาร์เฟสสองคือต้องมีอัตราที่ดีกว่า 23.25 กม./ลิตร ซึ่งทั้งคู่ผ่านมาตรฐานดังกล่าว โดย ฮอนด้า ซิตี้ทำได้ดีกว่าที่ 23.8 กม./ลิตร ส่วน นิสสัน อัลเมร่า ทำได้ 23.3 กม./ลิตร
ทั้งนี้ หากนำซิตี้ไปเทียบกับโฉมเดิมที่เป็นเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร จะเห็นว่า ซิตี้ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอีกด้วย ดังนั้นในแง่ของสเปคเครื่องยนต์แล้ว ฮอนด้า เหนือกว่าตามตัวเลขที่แสดงไว้ แม้จะเป็นเครื่องยนต์ลักษณะเดียวกัน แต่แตกต่างกันในรายละเอียดซึ่งเป็นผลลัพธ์มาจากระบบวีเทคนั่นเอง
เทียบอ็อปชัน ประชันราคา
ในส่วนนี้ เราขอกล่าวถึงมาตรฐานของตัวรถตามโครงการอีโคคาร์เฟสสองที่กำหนดให้ต้องมีอุปกรณ์มาตรฐานความปลอดภัยติดตั้งมาให้ทุกคัน ได้แก่ ระบบป้องกันล้อล็อก (ABS) และ ระบบควบคุมการทรงตัว (VSC/ESP หรือแล้วแต่จะเรียก) หมายความว่า ทั้งสองรุ่นจะมีระบบดังกล่าวติดตั้งเป็นพื้นฐานในทุกรุ่นย่อย
สำหรับ ฮอนด้า ซิตี้ มีระบบความปลอดภัยที่เพิ่มเติมเข้ามาได้แก่ ระบบกระจายแรงเบรก(EBD), ระบบออกตัวบนทางลาดชัน(HSA), ระบบสัญญาณไฟฉุกเฉินเมื่อเบรกกระทันหัน(ESS) และถุงลมนิรภัยคู่หน้าพร้อมด้านข้างคู่หน้ารวม 4 ตำแหน่ง ติดตั้งเป็นมาตรฐานในทุกรุ่นย่อย ส่วนรุ่นท้อปสุด RS จะมีม่านถุงลมด้านข้างเพิ่มเข้ามา รวมเป็น 6 ตำแหน่ง
ส่วน นิสสัน อัลเมร่า มีระบบกระจายแรงเบรก(EBD), ระบบเสริมแรงเบรก(BA) ระบบออกตัวบนทางลาดชัน(HSA) เพิ่มเข้ามาในทุกรุ่นย่อย ขณะที่รุ่นย่อย EL เพิ่มระบบเตือนเมื่อเสี่ยงต่อการชนด้านหน้า(IFCW) และระบบช่วยเบรกฉุกเฉินทั้งบุคคลและยานยนต์ (IEB)
ขณะที่รุ่น V อ็อปชันที่ได้รับการติดตั้งเพิ่มจากรุ่น EL คือ ระบบกล้องมองภาพรอบทิศทาง(IAVM) และระบบเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน(MOD) ส่วนรุ่นท้อปสุด RS มีครบทุกรายการและเพิ่มระบบเตือนจุดอับสายตา(BSW) และระบบตรวจจับวัตถุทางด้านหลัง(RCTA) เข้ามา
อย่างไรก็ตามถุงลมนิรภัย นิสสัน อัลเมร่า มีติดตั้งให้เพียงคู่หน้าในทุกรุ่นย่อย จะมีเพียงรุ่นท้อปสุดเท่านั้นที่มีครบ 6 ตำแหน่งเทียบเท่ากับฮอนด้า ซิตี้
ทั้งนี้ ในหัวข้อของระบบความปลอดภัยนั้น จะเห็นได้ว่า นิสสัน อัลเมร่า มีระบบเสริมความปลอดภัยที่ใส่มาให้มากกว่า โดยแลกกับถุงลมนิรภัยด้านข้างหายไปในทุกรุ่นย่อย ยกเว้นเมื่อเทียบกันในรุ่นท้อป อัลเมร่าจะมีครบ 6 ตำแหน่งและมากกว่าในแง่ของระบบเสริมความปลอดภัย เหนืออื่นใดเมื่อมองไปที่ราคาค่าตัว จะเห็นว่า อัลเมร่า ตัวท้อปถูกกว่า ฮอนด้าซิตี้ หนึ่งแสนบาท
ซึ่งส่วนต่างราคาระดับนี้ มีคำถามตามมาอย่างแน่นอนว่าแล้วได้อะไรที่แตกต่างเพิ่มขึ้นมาบ้าง นอกเหนือจากเครื่องยนต์ที่แรงกว่า และอ็อปชันด้านความปลอดภัยตามที่กล่าวมาแล้วนั้น เรารวบรวมมาให้ดังนี้
ฮอนด้า ซิตี้ ตัวท้อป RS จะมีลำโพง 8 จุด มากกว่า นิสสัน อัลเมร่าที่มี 6 จุด , ช่องจ่ายไฟสำรอง ซิตี้ มีทางด้านหน้า 1 จุด และด้านหลัง 2 จุด ส่วนอัลเมร่า มีเพียงด้านหน้าจุดเดียว, ช่องเสียบ USB ทั้ง อัลเมร่า และ ซิตี้มี 2 จุด ทางด้านหน้า โดย ซิตี้ สามารถเชื่อมต่อระบบ Honda Connect ได้
นอกจากนั้น ฮอนด้า ซิตี้ ยังมี ระบบเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย (Paddle Shift), ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (Cruise Control) และ ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว โดยอัลเมร่าเป็นขนาด 15 นิ้ว ซึ่งทั้งหมดนี้คือความแตกต่างในส่วนอ็อปชันของรุ่นท้อประหว่างฮอนด้า ซิตี้และนิสสัน อัลเมร่า
ภาพรวมด้านอื่นๆ นั้น ทั้งคู่รองรับนำ้มันเชื้อเพลิงชนิด อี20 มีการรับประกันคุณภาพ 3 ปี หรือ 100,000 กม. เท่ากัน ส่วนคุณภาพวัสดุและการออกแบบภายในและภายนอกนั้น ถือว่าอยุ่ในระดับที่ใกล้เคียงกันขึ้นกับความชอบของแต่ละบุคคลมากกว่า ดังนั้น การเปรียบเทียบจึงนำเฉพาะในสิ่งที่สามารถหาข้อยุติได้ในเชิงตัวเลข ซึ่งพอที่จะบ่งชี้คำว่า คุ้มค่า ได้
ถึงบรรทัดนี้ การตัดสินใจซื้อรถยนต์หนึ่งคัน คงไม่ใช่แค่เรื่องของอุปกรณ์เสริมหรือสมรรถนะเพียงอย่างเดียว แต่จะมีเรื่องของภาพลักษณ์และรูปทรงภายนอกที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจ โดยส่วนนี้แม้เราจะนำมาเปรียบเทียบได้ แต่คงไม่สามารถฟันธงแบบชัดเจนได้เพราะเป็นความรู้สึกและประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละท่าน ดังนั้น หากจำเป็นต้องเลือก บอกได้เพียงแค่ ฮอนด้า ซิตี้ ต้องจ่ายมากกว่าหนึ่งแสนบาท เมื่อเทียบกันในรุ่นท้อป ภายใต้ความแตกต่างอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด คุ้มค่าหรือไม่ ลองตัดสินใจดู