xs
xsm
sm
md
lg

Isuzu D-max V Cross 3.0 M ยกระดับขับนุ่ม นั่งสบาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์









เข้าสู่เจเนอเรชันที่ 3 อย่างเป็นทางการสำหรับ “อีซูซุ ดีแมคซ์ “ ที่ครั้งนี้มากับสโลแกน “พลานุภาพ ... พลิกโลก” ซึ่งทีมผู้บริหารของอีซูซุ กล่าวว่า นี่คือปิกอัพที่ได้รับการปรับปรุงใหม่หมดทั้งคัน ทั้งภายนอก ภายใน และเครื่องยนต์ รวมถึงแชสซีส์ด้วย มาดูกันว่า ดีแมคซ์ ที่ทำใหม่หมดทั้งคันนั้น แตกต่างจากเดิมมากน้อยเพียงใด หลังจากทีมงาน เอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง ได้มีโอกาสทดลองขับในช่วงระยะเวลาหนึ่ง







ใหม่ทุกจุด แต่ทำไมเครื่องยนต์รหัสเดิม...




รูปโฉมภายนอก มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด แม้บางคนอาจจะมองว่า เป็นการเปลี่ยนที่ไม่มากเนื่องจากยังมีเค้าโครงของรูปทรงเดิมอยู่ จริงๆ แล้ว การเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ดูคล้ายของเดิมนั้นมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจาก ความต้องการรักษาเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ตัวเองเอาไว้ ยิ่งถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีอยู่แล้ว การฉีกแนวเปลี่ยนโฉมไปมากๆ อาจจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่แน่ใจขึ้นได้ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนโดยอิงรูปทรงเดิมไว้ย่อมปลอดภัย




อย่างไรก็ตามในแง่ของการเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ใช่ว่าจะง่ายดาย เพราะการเปลี่ยนรูปทรงของชิ้นงานแต่ละชิ้นจะกระทบชิ้นอื่นๆ ไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะการเพิ่มเส้นสายและเหลี่ยมมุมเข้ามานั้นทำให้ต้องเปลี่ยนทุกชิ้นส่วน โดยใช้โมลด์ชุดใหม่หมด ซึ่งในแง่ของความสวยงาม เราจะไม่วิพากษ์เพราะถือว่าเป็นความชอบส่วนบุคคล















โครงสร้างแชสซีส์ มีขนาดใหญ่ขึ้น และใช้เหล็กที่มีความหนาและแข็งแรงมากกว่าเดิม โดยสามารถรับแรงบิดได้มากขึ้นกว่าเดิม 23% ส่วนช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระปีกนก 2 ชั้นที่ออกแบบให้จุดยึดปีกนกสูงขึ้น เพื่อลดการโยนตัว ช่วงล่างหลัง เป็นแบบแหนบแผ่นซ้อน




ภายในนับเป็นการออกแบบใหม่หมดอย่างไม่ต้องสงสัย จุดเด่นที่ถือว่าเป็นไฮไลต์คือ ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ แยกซ้ายขวาอิสระ (ในรุ่นท็อปที่เราขับ) โดยมากับปุ่มแบบเปียโนคีย์ ใช้การกดขึ้นลงดูหรูหราเฉกเช่นรถเก๋ง เช่นเดียวกับวัสดุภายในนั้นออกแบบใหม่ มาด้วยวัสดุที่จับแล้วผิวสัมผัสเนียนขึ้นเกรดดีขึ้นอย่างชัดเจน




ด้านอุปกรณ์มีการใส่เพิ่มเข้ามาอย่างมากมายตัดมาเฉพาะเด่นๆ ได้แก่ ที่ฉีดน้ำฝนแบบฝังอยู่บนก้านปัดน้ำฝน, ไฟหน้าแบบ Bi-LED พร้อม Daylight Running , หน้าจอแสดงผลการขับขี่ MID แบบดิจิตอล 4.2 นิ้ว, หน้าจอระบบความบันเทิงแบบสัมผัสขนาด 9 นิ้ว รองรับ Apple Carplay และ Android Auto, เบาะนั่งใหม่ กว้างหนานุ่มขึ้น และ ที่วางแก้วหน้าช่องแอร์ พร้อมที่วางขวดน้ำขนาด 1.5 ลิตรได้















สำหรับระบบความปลอดภัย อีซูซุ จัดมาให้อย่างเต็มพิกัด โดยเฉพาะในรุ่นท็อปที่เราขับนั้น มาครบไม่ว่าจะเป็น ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง, ระบบเตือนจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน BSM, ระบบเตือนจุดอับสายตาขณะถอยหลัง RCTA , ระบบควบคุมการทรงตัว ESC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีขณะออกตัว TCS, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA, ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน HDC และระบบเบรก ABS พร้อม EBD กระจายแรงเบรก และ BA เสริมแรงเบรก


ขณะที่เครื่องยนต์ตัวท็อป 3.0 ลิตร นั้นยังเป็นรหัสเดิมคือ 4JJ3-TCX แต่ได้รับเปลี่ยนชิ้นส่วนเช่น หัวฉีดแรงดันสูงขึ้นเป็น 250 MPa และปรับกล่อง ECU ใหม่ ผลลัพธ์ที่ได้ กำลังเท่าเดิม 190 แรงม้า แต่แรงบิดเพิ่มขึ้นเป็น 450 นิวตันเมตร ระบบส่งกำลังเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ซึ่งเป็นรุ่นที่เราทดลองขับในคราวนี้


หลายท่านคงสงสัยว่า สรุปแล้วเป็นเครื่องยนต์ใหม่หรือไม่ คำตอบแบบเข้าใจง่ายๆ คือ เครื่องยนต์ตัวเดิมที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นเอง













นุ่ม-นิ่ง มั่นใจยิ่งขึ้น


“ต้องไปลองขับนะ แล้วจะรู้ว่ามันขับดีขึ้นกว่าเดิมจริงๆ” ประโยคทิ้งท้ายของหัวเรือใหญ่ “โทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ที่บอกผู้เขียนเมื่อถูกถามถึงความเปลี่ยนแปลงของดีแมคซ์ใหม่ ส่วนการขับขี่นั้นเราได้รถรุ่น Vcross ขับเคลื่อนสี่ล้อ ตัวท็อปสุดนั้น เราเลือกขับโดยเน้นลักษณะการใช้งานแบบในเมืองและนอกเมืองเป็นหลัก ไม่มีการลุยแต่อย่างใด เนื่องจากมองในมุมของลูกค้าที่เลือกซื้อรถประเภทนี้ส่วนใหญ่ จะใช้งานแบบเอนกประสงค์ มากกว่าเอาไปลุย




สำหรับความรู้สึกแรกที่รับรถมาติดเครื่องยนต์ เสียงของเครื่องยนต์หากอยู่ภายนอก ยังคงดังไม่แตกต่างจากเดิมสักเท่าใดนัก แต่เมื่อเข้ามาในห้องโดยสาร ค่อนข้างเงียบ แต่หากกดเร่งเครื่องแรงๆ เกิน 3,500 รอบ/นาทีขึ้นไปเสียงดังมีเข้ามาให้ได้ยินชัด




ส่วนการขับขี่ โดยรวมถือว่า นุ่มขึ้นแบบสัมผัสได้ เจอหลุมหรือทางขรุขระ ดูดซับแรงกระเทือนได้ดีขึ้น ส่วนการทรงตัวรถนิ่งขึ้น กระเด้งน้อย การโคลงตัวหรือบิดตัวเวลาเลี้ยวน้อยลง มั่นใจได้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อวิ่งในเมืองด้วยความเร็วปกติ คล่องแคล่ว พวงมาลัยเบามือ และวงเลี้ยวแคบดี ซอยเล็กๆ แม้จะเสียวสักหน่อยเพราะรถใหญ่ แต่สามารถหักเลี้ยวเข้าได้สบาย












การขับออกนอกเมืองด้วยความเร็วไม่เกินที่กฎหมายกำหนดคือ 120 กม./ชม. ดีแมคซ์ ทำได้อย่างน่าประทับใจ ทรงตัวดีขึ้น เสียงลมประทะเริ่มได้ยินที่ความเร็วเกินกว่า 120 กม./ชม. โดยความเร็วสูงสุดที่เราลองขับในช่วงสั้นๆ คือ 140 กม./ชม. บนทางยกระดับที่มีลมแรง ดีแมคซ์ยังคงขับแบบสบายๆ




จุดใหญ่ใจความของการเลือกรุ่น Vcross แบบ 4 ประตู ที่มีระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ นอกจากความสวยงามภายนอกที่ดูลงตัวที่สุดแล้ว คงเป็นเรื่องของการใช้งานในแบบเอนกประสงค์ที่มีผู้โดยสาร 4-5 คน พร้อมกับการบรรทุกของไว้ท้ายกระบะ และต้องเดินทางไกลไปในเส้นทางที่ไม่อาจจะคาดเดาได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงด้วยคือ ความสบายของเบาะนั่งแถวที่สอง


ซึ่งเบาะนั่งหลังนั้นนั่งสบายขึ้น องศาของเบาะลาดเอียงรับกับช่วงหลังที่พิงได้พอดี ไม่ชันเหมือนรุ่นอื่นๆ สาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากการขยับพื้นที่ของห้องโดยสารให้สามารถจัดวางตำแหน่งเบาะได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสำคัญและยากอย่างยิ่ง เพราะมีเงื่อนไขจำกัดในแง่ของกฎหมายที่กำหนดขนาดเอาไว้ ไม่ให้ใหญ่จนเกินไป














ด้านอัตราการบริโภคน้ำมันเฉลี่ยตามการแสดงผลบนหน้าจอ ระบุ 11.4 กม./ลิตร กับการใช้งานในเมืองเจอรถติดแบบหนักหน่วงของวันศุกร์สิ้นเดือน และวิ่งทางยาวออกนอกเมืองในสัดส่วนอย่างละ 100 กม. ถือว่า น่าประทับใจ ด้วยตัวรถที่มีขนาดใหญ่และมีผู้โดยสารไปด้วย




ในแง่ของการเลือกคบหารถปิกอัพลักษณะนี้ มาเป็นพาหนะคู่ใจ อีกปัจจัยสำคัญคงเป็นเรื่องของความทนทานและบำรุงดูแลรักษาง่าย ซึ่ง อีซูซุ นั้นขึ้นชื่อในเรื่องของการดูแลหลังการขายได้ดีที่สุดในลำดับต้นๆ ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ใครหลายคนตั้งใจไม่ว่าจะเปลี่ยนรถกี่คันจะต้องเป็นรถอีซูซุ เท่านั้น เพราะการบริการหลังการขายที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้ เปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ซื้อรถหลักแสน บริการหลักล้าน








เหมาะกับใคร



เราขอเรียกว่า ปิกอัพ เอนกประสงค์ เพราะ ดีแมคซ์ Vcross 3.0 M ถือเป็นปิกอัพที่ครบเครื่องทั้งรูปลักษณ์ภายนอก ภายใน อุปกรณ์ที่ให้มาอย่างครบถ้วน ไม่น้อยหน้าคู่แข่ง เดินทางไปได้ทุกที่อย่างมั่นใจ ไม่ห่วงเรื่องการบริการหลังการขาย ประหยัดน้ำมัน แถมใช้ไปราคาขายต่อในอนาคตยังแข็งแรงอีกด้วย ถ้ากำลังจะเปลี่ยนหรือรอตัดสินใจอยู่ ...ซื้อไปเถอะครับ เพราะเพิ่งเปิดตัวมาใหม่อีกนานกว่าจะเปลี่ยนโมเดล สบายใจได้
























กำลังโหลดความคิดเห็น