xs
xsm
sm
md
lg

ชิมลาง “ฮอนด้า ซิตี้ 1.0 เทอร์โบ” ขับโดนใจ พร้อมไขความลับในห้องเครื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์







ฮอนด้า ซิตี้ มีกำหนดลงโชว์รูมในวันที่ 24 ธันวาคมเป็นต้นไป แต่หลังจากเปิดตัวมาจนถึงวันนี้ (18 ธันวาคม) เป็นเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ยอดจองล่าสุดแตะที่เกือบ 5,000 คัน เรียบร้อยแล้วและยังคงพุ่งทะยานทุกวัน ทั้งที่ยังไม่มีรีวิวหรือใครได้ขับ ลูกค้ากล้าจองด้วยแค่เพียงเห็นตัวจริงหรือสเปคในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โปที่ผ่านมา เท่านั้น นับว่าเป็น รถเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่จะทำแบบนี้ได้








อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างกระแสการรับรู้ทางฮอนด้า ออโตโมบิล ไม่หยุดนิ่ง จึงได้เชิญสื่อมวลชนกลุ่มแรกเข้าร่วมสัมผัสและทดลองขับ ฮอนด้า ซิตี้ 1.0 เทอร์โบ ณ สนามทดสอบรถยนต์ของฮอนด้า ที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งทีมงาน เอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง ไม่พลาดงานนี้ เชิญติดตามได้










ไขทุกความลับ หัวใจใหม่ 1.0 ลิตร เทอร์โบ


ด้วยการทดลองขับในวันนี้เป็นการขับแบบสั้นๆ 2 รอบสนามใหญ่และอีกหนึ่งรอบสนามเล็ก เท่านั้น จึงให้ข้อมูลได้ไม่สมบูรณ์แบบนัก ต้องรอการทดลองขับอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งในช่วงปลายเดือนมกราคม แต่คราวนี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมวิศวกรผู้พัฒนาฮอนด้า ซิตี้ ใหม่แบบเจาะลึก จึงขอมุ่งเน้นไปที่เรื่องราวที่หลายท่านน่าจะมีข้อสงสัย และคาใจอยู่





หัวใจสำคัญของการพัฒนาฮอนด้า ซิตี้ ใหม่คันนี้ เริ่มต้นจาก การที่ต้องพัฒนารถให้เข้ากับเงื่อนไขของ โครงการอีโคคาร์ เฟสสอง ที่เข้มงวดทั้งในแง่ของอัตราการบริโภคน้ำมันและการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมความปลอดภัยในระดับสูง ดังนั้นทีมวิศวกรจึงต้องใช้เวลาทุกนาทีให้คุ้มค่าที่สุด โดยหยิบเอาสิ่งดีๆ ที่ฮอนด้า มีอยู่แล้วมาสรรสร้างให้เหมาะสมกับการเป็นฮอนด้า ซิตี้ ของไทย




การวิจัยและพัฒนา ทีมวิศวกร ย้ายฐานทัพมาประจำการที่ประเทศไทย เนื่องจาก โมเดล ซิตี้ นี้ สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาจึงต้องมาทำที่เมืองไทย และไทยก็ได้สิทธิ์ในการเปิดตัวเป็นที่แรกในโลกอีกด้วย








โครงสร้างแชสซีส์นั้นทีมวิศวกรบอกว่าหยิบมาจากรุ่นเดิม เพื่อลดระยะเวลาในการพัฒนาโดยมีการเสริมความแข็งแกร่งให้มากขึ้นและรองรับระบบขับเคลื่อนรูปแบบอื่น ที่จะตามมาในอนาคต (แม้จะไม่มีคำยืนยันใดๆ จากทีมงานฮอนด้า แต่ท่านผู้อ่านน่าจะพอเดากันได้ คำใบ้คือ “ไฮบริด” ใช่หรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ อดใจรอตอนต่อไป )






ส่วนเครื่องยนต์นั้น หยิบยกมาจาก ฮอนด้า ซีวิค เวอร์ชันที่จำหน่ายในประเทศจีนและยุโรป ภายใต้รหัส P10A2 โดยมีการปรับแต่งให้สามารถผ่านมาตรฐานของโครงการอีโคคาร์เฟสสองได้จนสำเร็จอย่างน่าประทับใจ กับตัวเลขพละกลังที่ 122 แรงม้า และอัตราการบริโภคน้ำมันที่ต่ำเพียง 23.8 กม./ลิตร (ภายใต้การวัดตามมาตรฐานUNECDของอีโคสติกเกอร์ของไทย)


ความลับที่ทำให้เครื่องยนต์ตัวนี้สามารถบรรลุเป้าหมายเพื่อให้ ฮอนด้า ซิตี้ มีสมรรถนะดีขึ้นและบริโภคน้ำมันน้อยลง ได้ มีหลายปัจจัย โดยปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ การใช้เทคโนโลยี VTEC แบบสมบูรณ์ ที่มีทั้งการปรับระยะการเปิด-ปิดวาล์วให้กว้างหรือแคบ และระยะเวลาการเปิดปิดวาล์วให้สั้นหรือยาว ได้อย่างสอดคล้องกับลักษณะการขับขี่








อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือ การเลือกใช้อินเตอร์คูลเลอร์แบบน้ำระบายความร้อน (ปกติอินเตอร์คูลเลอร์จะใช้ลมเวลารถวิ่งระบายความร้อน) ทำให้อากาศที่ส่งผ่านมาจากเทอร์โบเย็นลง โดยที่ใช้ชิ้นส่วนน้อยลง และสามารถซ่อนอินเตอร์ที่มีขนาดเล็กนี้ ไว้ด้านในห้องเครื่องได้ โดยไม่ต้องนำไปติดตั้งทางด้านหน้า เฉกเช่นรถรุ่นอื่นๆ แถมทำให้ห้องเครื่องดูเป็นระเบียบเรียบร้อย อีกด้วย แต่จะมีชิ้นส่วนบางอย่างเพิ่มขึ้นมาคือ หม้อพักน้ำของอินเตอร์คูลเลอร์ ซึ่งมีหลายท่านสงสัย ทำไม ซิตี้ใหม่จึงมีหม้อพักน้ำ 2 ลูก คำตอบอยู่ตรงนี้

ขณะที่เกียร์นั้นเป็นแบบ ซีวีที กระดูงู ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ ให้มีความแข็งแรงมากขึ้นและตอบสนองได้ดีขึ้นโดยปรับมุมและรูปทรงใหม่ พร้อมระบบอุ่นน้ำมันเกียร์ เพื่อรองรับการทำงานของระบบ Idling Stop คือ เมื่อรถหยุดและเครื่องยนต์ดับภายใต้การทำงานของระบบดังกล่าวจะทำการอุ่นน้ำมันเกียร์ให้ร้อนไว้ เพื่อที่เวลาผู้ขับกดคันเร่งออกตัวจะสามารถทำได้ทันที โดยระบบเกียร์ไม่ได้รับความเสียหาย





ขณะที่ข้อด้อยของรถยนต์แบบ 3 สูบ คือ เรื่องของแรงสั่นสะเทือน อันเนื่องมาจากความไม่สมดุลของลูกสูบเวลาเดินเครื่อง จุดนี้ ฮอนด้า แก้ไขได้ด้วยการจัดระเบียบองศาเพลาข้อเหวี่ยงให้มีความสมดุล ด้วยการแบ่งแบบ 120 อาศา และออกแบบหัวลูกสูบให้เป็นรูปถ้วย เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างให้ระบบฉีดตรง ประกอบกับการเลือกใช้ยางรองแท่นเครื่องใหม่ชนิดพิเศษที่แข็งแรงกว่าเดิม ดังนั้นการสั่นโดยรวมของเครื่องยนต์จึงลดลง






ขับดีขึ้น แรงแบบนุ่มนวล


สำหรับการขับขี่อย่างที่เกริ่นไว้ว่า ขับเป็นระยะทางสั้นๆ แต่ก็เพียงพอจะนำมาเล่าสู่กันฟังได้ ทันทีที่ทุกอย่างพร้อม กดคันเร่งแบบคิกดาวน์ รถพุ่งออกไปแบบทันใจ แม้จะไม่ดึงมากหรือรู้สึกว่าสปอร์ต เท่ารุ่นก่อนหน้า แต่สิ่งที่สัมผัสได้คือ ไม่มีอาการรอรอบ การตอบสนองของเครื่องยนต์รวดเร็วตามการกดของเท้าในทุกย่านความเร็วที่ขึ้นไปแบบเนียนๆ



ทั้งนี้ ทีมงานกำหนดให้วิ่งทางตรงด้วยความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม. เวลาเข้าโค้งไม่เกิน 80 กม./ชม. แต่เรากดไปสุดเท่าที่ทางวิ่งจะมีอย่างปลอดภัยได้ความเร็วสูงสุดที่ 150 กม./ชม. แบบขึ้นสบายๆ กำลังยังเหลือ





เหนือสิ่งอื่นใด คือ ณ ความเร็วระดับนั้น ตัวรถยังคงนิ่ง การสั่นหรือโคลงน้อยมาก แต่เรื่องเสียงดังของเครื่องยนต์ต้องยอมรับว่ามีอยู่เพราะกดคันเร่งมิดเท้า แม้จะมีการยืนยันว่าเพิ่มฉนวนกันเสียงแล้วก็ตาม โดยทีมวิศวกรบอกว่า ความเร็วสูงสุดที่ล็อกไว้คือ 200 กม./ชม. ตีความแบบง่ายๆ คือถ้าปลดล็อกจะสามารถวิ่งได้เกินกว่านั้น รวมถึงการโมดิฟายด์เครื่องยนต์ทำได้ แต่ทีมวิศวกร ไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากจำทำให้อายุการใช้งานและความทนทานลดน้อยลง




การที่รถวิ่งด้วยความเร็วสูงแล้วยังคงนิ่ง การวิ่งความเร็วทั่วไป 80-120 กม./ชม. ย่อมต้องสบายอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งเป็นผลมาจากการเซ็ตช่วงล่างและโครงสร้างตัวถังที่สมดุลนั่นเอง โดยการเข้าโค้งในสนามเล็กที่จำลองสภาพผิวถนนที่ย่ำแย่ของประเทศไทยเอาไว้ด้วย (มีหลุมหรือแอ่งอยู่ในโค้ง) ตัวรถดูดซับแรงสะเทือนได้ดีขึ้นกว่าเดิมในระดับหนึ่ง และไม่เสียการทรงตัวแต่อย่างใด หลายโค้งที่เราลองขับเข้าด้วยความเร็วที่เกินกว่า ทีมงานฮอนด้ากำหนด สามารถทำได้อย่างมั่นใจ น้ำหนักพวงมาลัยพอดีมือ กระชับมั่นใจในทุกจังหวะ







อีกหนึ่งสิ่งที่สร้างความประทับใจให้ผู้เขียนแบบไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ น้ำหนักของการเบรก ซิตี้ใหม่ แม้เบรกหลังจะเป็นดรัมเบรก (เปลี่ยนจากดิสก์เบรกในโฉมเดิมเพื่อให้ผ่านมาตรฐานอีโคคาร์เฟสสองในแง่ของการประหยัดน้ำมัน) สามารถเบรกได้อย่างมั่นใจ และไม่จับไวเกินไปจนหัวทิ่ม เรียกว่ามีการปรับน้ำหนักเบรกให้ดีขึ้น




ส่วนอัตราสิ้นเปลืองแบบวิ่งจริงนั้น ยังไม่มีการเปิดเผยแต่อย่างใด คงต้องรอการทดลอบแบบเต็มรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง อนึ่งเบาะนั่งด้านหลังแบบพับได้ที่หายไปนั้น ทีมวิศวกรรับทราบแล้ว แต่จะกลับมาหรือไม่ เมื่อใด โปรดอดใจรอ


เหมาะกับใคร



หากมองในแง่ของการใช้งานทั่วไป ซิตี้ ใหม่ ตอบโจทย์ใช้งานในเมืองหรือวิ่งออกต่างจังหวัดได้อย่างมั่นใจ โดยมีทั้งความประหยัดและความแรงแบบพึ่งพาได้เมื่อต้องการ ด้วยราคาค่าตัวที่เบาลงกว่าโฉมก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากพิกัดภาษีเสียน้อยลง จึงทำให้เราได้รถที่มีสมรรถนะดีขึ้นแต่ราคาถูกลง จนทำให้ผู้บริหารถึงกับกล่าวแบบทีเล่นทีจริงว่า “อยากขึ้นราคา” ดังนั้น ใครที่กำลังจดๆ จ้องๆ มอง ซิตี้ ไว้เป็นคู่ใจใช้งาน จง รีบจอง รีบซื้อก่อนราคาขึ้นนะ เดี๋ยวจะหาว่าหล่อไม่เตือน













































กำลังโหลดความคิดเห็น