ในยุค 90 เมื่อครั้งที่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ หันลงมาทำตลาดรถขนาดเล็กหรือที่เรียกกันว่า BABY Benz นั้น สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากในเข้ามาจำหน่ายที่ประเทศไทย นับเป็นการเปิดเซกเมนท์และสร้างลูกค้ากลุ่มใหม่ขึ้น ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม จนกระทั่งมาถึงโมเดลล่าสุด ในตระกูลนี้
เอ-คลาส A-Class เจเนอเรชันที่ 4 รหัส W177 ผู้สืบสานตำนานของ เบบี้ เบนซ์ ให้คงอยู่ต่อไป สำหรับการทำตลาดในประเทศไทยนั้น ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ มีการเปิดตัวรุ่นนำเข้า A200 AMG Dynamic จำหน่ายในราคา 2,490,000 บาท โดยจำหน่ายเพียงรุ่นเดียว ส่วนรุ่นประกอบในประเทศจะเริ่มดำเนินการเมื่อใดนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ แต่ตามมาตรฐานเดิมคือ หลังจากเปิดตัวรุ่นนำเข้าแล้วราว 6 เดือน จึงจะเป็นคิวของรุ่นประกอบในประเทศ
ทั้งนี้เพื่อช่วยในการตัดสินใจ ทีมงานเอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง ได้ทดลองขับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอ200-เอเอ็มจี ไดนามิค เส้นทางกรุงเทพฯ – บุรีรัมย์ พร้อมการขับในสนามแข่งช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิตมานำเสนอ
CLS ย่อส่วน
ในแง่ของการออกแบบนั้น เอ-คลาส ถูกมองว่า นี่คือการเอารุ่นใหญ่อย่าง ซีแอลเอส (CLS) มาย่อส่วนซึ่งจุดนี้ หากมองด้วยตา คงต้องยอมรับว่า ใช่ แต่หากมองในแง่ของการพัฒนาแล้ว รูปร่างที่เหมือนกันแต่ขนาดต่างกันนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างต้องทำใหม่ทั้งหมด มีเพียงร่างต้นแบบในกระดาษเท่านั้นที่สามารถใช้งานร่วมกันได้
เนื่องด้วยการพัฒนารถสิ่งสำคัญคือ การสร้างสมดุล การคำนวณการกระจายน้ำหนัก การจัดวางตำแหน่งต่างๆ ของวัสดุภายในห้องโดยสารและการจัดวางระบบต่าง ดังนั้นการสร้างรถแต่ละรุ่นจึงมีความแตกต่างกันไม่สามารถลอกแบบกันได้ แต่จะใช้ชิ้นส่วนบางอย่างร่วมกันได้เพื่อลดต้นทุนและคงปรัชญาในการดีไซน์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันของแบรนด์ ทำให้รถยนต์แต่ละรุ่นจะมีกลิ่นไอของรุ่นอื่นๆ เข้ามาผสมผสานอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย
สำหรับ เอ200 เอเอ็มจี ไดนามิค ภายนอกมากับชุดแต่งแอโร ไดนามิคทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พร้อมล้อลาย 5 ก้านจากเอเอ็มจี โดยรถที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทยนั้นเป็นรถที่ผลิตจากประเทศเม็กซิโก ซึ่งมาในตัวถังแบบซีดาน ขณะที่ตลาดโลกมีรุ่นแฮทแบ็คแบบ 5 ประตู ทำตลาดด้วย ส่วนเมืองไทยรุ่น 5 ประตูจะเข้ามาด้วยหรือไม่ ยังไม่สามารถยืนยันได้ในเวลานี้
ภายในห้องโดยสารออกแบบใหม่หมด มาพร้อมกับหน้าจอแบบ 2 จอรวมเป็นหนึ่งจอใหญ่ พร้อมระบบ MBUX ใหม่ ที่ช่วยให้การปรับการแสดงผลและการเชื่อมต่อต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวกและเข้าใจง่ายกว่าเดิม ลดความสับสน โดยผ่านการควบคุม 2 จุดหลักคือ พวงมาลัย และ แป้นกลางคอนโซลกลาง
เบาะนั่งแบบหนังแท้ปรับไฟฟ้าเฉพาะคนขับ พวงมาลัยมัลติฟังก์ชันพร้อมหนังแท้ Nappa คอนโซลหน้าหนังสลับอลูมิเนียมพร้อมวัสดุสีเปียโน แบล็ก ให้ความรู้สึกสปอร์ต ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติแยกส่วนซ้าย-ขวา ช่องแอร์ดีไซน์ใหม่แบบใบพัดเครื่องบินไอพ่น ดูแล้วดุดันไม่น้อย
เครื่องยนต์เป็น เบนซินขนาด 1.3 ลิตร เทอร์โบ ให้กำลังสูง 163 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 7G DCT อัตราการปล่อยไอเสีย 130 กรัม/กม. มาตรฐานไอเสียยูโร 6 นับว่าเป็นเครื่องยนต์ที่ทันสมัยที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกในเวลานี้
1.3 ลิตร แต่แรงเหลือเฟือ
เครื่องยนต์ 1.3 ลิตร น่าจะเป็นสิ่งที่ค้างคาใจ และเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบมากที่สุดของคนที่สนใจ เอ-คลาส ว่ามันจะไหวหรือไม่ กับการพาน้ำหนักตัว 1,385 กิโลกรัม พุ่งไปข้างหน้า คำตอบแบบฟันธง คือ เหลือเฟือ มันเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร จริงเท็จแค่ไหน ติดตามกันได้
ตลอดเส้นทางกรุงเทพ-บุรีรัมย์ กว่า 400 กม. เราขับด้วยความเร็วที่หลากหลาย ความเร็วสูงสุดที่ทำได้คือ 175 กม./ชม. โดยมีผู้โดยสารรวมผู้ขับ 4 ท่าน ตัวรถวิ่งนิ่ง ชนิดที่ผู้โดยสารที่นั่งอยู่ตอนหลังไม่รู้สึกว่าเราขับเร็วหรือหวาดเสียวแต่อย่างใด เขายังถามกลับมาว่า ขับเร็วขนาดนั้นเลยหรือ เราตอบกลับไปว่า ใช่ครับ
ในแง่ของอัตราเร่ง จังหวะเร่งแซงกดคันเร่งแบบคิกดาวน์ รถพุ่งแบบติดเท้าในทุกย่านความเร็ว แม้จะไม่ถึงกลับดึงหลังติดเบาะ แต่กลับขับได้สนุกสนาน ผิดกับเอ-คลาสรุ่นก่อนๆ รวมถึงมีบุคลิกการตอบสนองที่แตกต่างจาก ซี-คลาสด้วย ซึ่งหากไม่บอกว่า เป็นรถยนต์เครื่อง 1.3 ลิตร เราคงคิดว่านี่คือเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตรอย่างแน่นอน
ทั้งนี้คงต้องขอบคุณเทคโนโลยี เทอร์โบ ที่ให้ กำลังได้สูง แรงบิดสูง ในรอบต่ำ พร้อมระบบส่งกำลังที่สามารถรองรับอย่างลงตัว ทำให้การขับขี่เป็นที่น่าประทับใจ
การบังคับควบคุมพวงมาลัย เบามือเมื่อวิ่งในเมืองความเร็วต่ำ และหนักขึ้นเมื่อขับนอกเมืองความเร็วสูง ทัศนวิสัยชัดเจนในทุกมุมมอง การใช้งานฟังก์ชันต่างๆ ขณะขับขี่ง่ายดาย เรียกว่าออกแบบได้อย่างลงตัวในทุกจุด ยกเว้นสิ่งเดียวที่เรากังวลใจ คือ ตำแหน่งการวางคันเกียร์มาไว้ที่หลังพวงมาลัย
ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เมืองไทยใช้รถพวงมาลัยขวา และคันโยกสำหรับไฟเลี้ยวจะอยู่ที่หลังพวงมาลัยด้านมือขวา อันเป็นความคุ้นเคยของคนไทย ที่ใช้รถญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่รถยุโรปไฟเลี้ยวจะอยู่ที่หลังพวงมาลัยด้านมือซ้าย หากใครใช้รถญี่ปุ่นเป็นประจำหรือต้องสลับรถไปมาระหว่างยุโรปและญี่ปุ่น จะเกิดความสับสนได้ง่าย
กรณีตั้งใจตบไฟเลี้ยวด้วยมือขวา จะกลายเป็นตบคันเกียร์แทน ด้วยขนาดของคันเกียร์ที่เท่าๆ กับคันโยกไฟเลี้ยว จึงทำให้หลงตบผิดได้อย่างง่าย ดั้งนั้น ต้องเพิ่มความระมัดระวัง และสร้างความคุ้นเคยให้มาก
ขณะที่ลูกเล่นต่างๆ ในตัวรถนั้นใช้งานง่าย และขอชมอย่างไม่อายว่า ยอดเยี่ยม ถูกใจผู้ใช้งานอย่างเรามาก ยิ่งเมื่อเทียบกับระบบการใช้งานเดิมแล้ว MBUX ชุดใหม่นี้ เปลี่ยนให้การใช้งานเป็นเรื่องน่าสนุก ไม่ซับซ้อนแต่อย่างใด
การขับในสนามแข่งบุรีรัมย์ ทำให้เราทราบถึงสมรรถนะของ เอ-คลาส ที่บอกได้เลยว่าสามารถกดคันเร่งช่วงทางตรงยาวได้ถึง 170 กม./ชม. อย่างสบายๆ โดยรถวิ่งนิ่ง และสามารถกระทืบเบรกเต็มแรง แล้วหักหัวเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเลือกใช้ล้อขนาด 18 นิ้ว ทำให้ได้สมรรถนะการเข้าโค้งในสนามที่เกาะหนึบ แต่การเลือกใช้ยางฮันคุก ทำให้การขับบนถนนจริง เกิดเสียงดังชนิดที่ต้องใช้คำว่า รบกวน เสียงเพลงที่บรรเลงในรถจริงๆ
สำหรับการลองขับแบบจิมคานา เอ-คลาส ยังสร้างความประทับใจได้ ด้วยขนาดที่กะทัดรัด คล่องตัว วงเลี้ยวแคบ การตอบสนองคันเร่งทันใจ เรียกว่า โดยภาพรวมแล้ว เดิมเราคิดว่า การเอา เอ-คลาส มาให้ลองขับรวมกับบรรดารถในตระกูล เอเอ็มจี จะทำให้ เอ-คลาส ดูด้อยไป แต่ความจริง เมื่อได้ลอง กลับกลายเป็นว่า เอ-คลาส ขับขี่ได้ไม่น้อยหน้ารถในตระกูล เอเอ็มจี แน่นอนว่าหากวัดกันคันต่อคันคงสู้กันไม่ได้ แต่เมื่อมองที่ราคาค่าตัว เอ-คลาสจ่ายน้อยกว่ามากๆ
เหมาะกับใคร
ยอมรับว่า คนจำนวนไม่น้อยที่เลือกเอ-คลาส คือเศรษฐีที่ซื้อรถให้ลูกเพื่อเป็นของขวัญการเรียนจบหรือประสบความสำเร็จในสิ่งที่ผู้เป็นพ่อแม่คาดหวังไว้ ทำให้ เอ-คลาส กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของคำว่า ของขวัญแห่งความสำเร็จ ในแง่ของสมรรถนะแล้วคันนี้เราขอให้นิยามว่า “พริกขี้หนูสวนแห่งเมืองสตุทการ์ท” ถ้าได้มาลองรับประกันติดใจแน่นอน