ช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือไปเที่ยวต่างจังหวัด อาจมีระยะทางไกลและใช้เวลาในการขับรถนาน เนื่องจากมีผู้เดินทางจำนวนมาก มีความเสี่ยงเกิดอาการเมื่อย ง่วงนอน และอาจประสบอุบัติเหตุได้
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แนะนำว่า เพื่อความปลอดภัย ก่อนขับรถทางไกลทุกครั้งผู้ขับจึงควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เตรียมผ้าเย็นเวลาง่วงและสวมแว่นตากันแดดขณะขับรถ ที่สำคัญควรตรวจสภาพของรถยนต์ให้พร้อมใช้งานปรับการนั่งขับรถให้ถูกต้อง โดยเลื่อนเบาะที่นั่งให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับตนเอง หลังชิดพนักพิง ไม่นั่งห่างหรือชิดพวงมาลัยมากเกินไปเพราะจะทำให้หลังโค้ง พิงพนักไม่ได้ หรือพิงได้แต่เวลาขับต้องเหยียดแขนและเข่ามากขึ้น เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดหลัง ซึ่งหากปวดหลังเป็นเวลานานและไม่มีการดูแลอย่างถูกวิธี อาจทำให้เกิดการปวดหลังถาวรได้และควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยขณะขับรถทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
ระหว่างการเดินทาง ผู้ขับรถยนต์สามารถลดอาการเมื่อยล้าได้แม้อยู่ในรถ ขณะที่รถหยุดนิ่ง หรือในช่วงรถติด ด้วยการบริหารร่างกายง่าย ๆ เช่น ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อคอ ให้เอียงคอลงมาด้านข้าง เข้าหาหัวไหล่ ให้ฝั่งตรงข้ามรู้สึกตึง ทำค้างไว้ประมาณ 15 วินาที จากนั้นสลับปฏิบัติด้านตรงข้าม ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อคอด้านหลัง ให้ค่อย ๆ ก้มศีรษะเข้าหาลำตัวจนรู้สึกตึงบริเวณลำคอด้านหลัง ลำตัวตรง ค้างไว้ประมาณ 15 วินาที ท่ายืดไหล่ ทำได้โดยนั่งยืดตัว แล้วบีบไหล่ยกขึ้นไปหาใบหู ค้างไว้ นับ 1-2 แล้วเอาลง จากนั้นทำซ้ำ 5 ครั้ง จะรู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้น ท่าบิดตัว ทำได้โดยนั่งยืดตัวตรงขึ้น มือจับที่ขอบเบาะแล้วบิดตัวไปข้างใดข้างหนึ่งค้างไว้ นับ 1-5 จากนั้นสลับปฏิบัติอีกข้าง ทำประมาณ 5 ครั้ง และท่าบริหารเท้า ทำได้โดยนั่งเหยียดขาออกไปด้านหน้า ยกเท้าให้ลอยขึ้นพ้นพื้น เหยียดปลายเท้าให้สุด จากนั้นกระดกปลายเท้าขึ้น-ลง ทำประมาณ 5 ครั้ง แล้วสลับข้างปฏิบัติอีกข้าง จะช่วยคลายเมื่อยได้
การบริหารใบหน้าและตา เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คลายง่วง มีวิธีการง่าย ๆ หลังจากจอดรถเพื่อพักผ่อน โดยเริ่มจาก
ท่าที่ 1 หลับตาเพื่อพักสายตา ประมาณ 10-30 วินาที
ท่าที่ 2 หันหน้าไปทางขวาค้างไว้ 5 วินาที กลอกตาขึ้นลง 5 วินาที หันไปทางด้านซ้ายทำเหมือนเดิม ทำซ้ำ 5 ครั้ง
ท่าที่ 3 แลบลิ้นออกมาให้ยาวที่สุดค้างไว้ 60 วินาที
ท่าที่ 4 ยกคิ้วขึ้นเปิดตาให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ห่อปาก ทำซ้ำ 5 ครั้ง
ท่าที่ 5 เปิดตาให้กว้างที่สุดโดยไม่ต้อง ยกคิ้วขึ้น ทำซ้ำ 5 ครั้ง
ท่าที่ 6 เงยหน้ามองที่เพดาน ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง
ท่าที่ 7 หายใจเข้าลึกๆ ขณะหายใจออกให้ห่อปากพ่นลมหายใจออกมาพร้อมกัน ทำท่านี้ 30-60 วินาที
ท่าที่ 8 ยกมือขวาให้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางติดกัน วางไว้บนโหนกแก้มขวา กดลงเล็กน้อย จากนั้นให้ยิ้มกว้างเพื่อยกโหนกแก้มให้สูงขึ้น ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นสลับมาด้านซ้าย ทำซ้ำเหมือนเดิม สลับไปมา ข้างละ 3 ครั้ง จะช่วยผ่อนคลาย แก้ง่วง และช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถได้
ด้าน นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ก่อนการเดินทางต้องเตรียมคนและเตรียมรถให้พร้อมทุกครั้ง ดังนี้ 1.การเตรียมคนขับ ถือว่าสำคัญมาก เพราะเป็นคนที่ต้องดูแลชีวิตของคนบนรถ นอกจากตัวเองและผู้โดยสารบนรถแล้ว ยังอาจส่งผลไปยังคนอื่นๆ ที่ร่วมทางด้วย โดยผู้ขับควรวางแผนการเดินทาง เตรียมความพร้อมสภาพร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดหรือทานยาที่ทำให้ง่วง เช่น ยาลดน้ำมูก ยาภูมิแพ้ ยาแก้ไอ เป็นต้น หาข้อมูลจุดบริการของหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในระหว่างเส้นทางของจังหวัด ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรและตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับรถ ผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทควรหยุดพักรถทุกระยะทาง 150 กิโลเมตร หรือทุกระยะเวลา 2 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ขับขี่ผ่อนคลายความอ่อนเพลียเมื่อยล้า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการหลับใน
2.การเตรียมรถ ขอให้ประชาชนตรวจสอบสภาพรถ ตรวจเช็คลมยาง ไฟส่องสว่างและไฟเลี้ยว ตรวจระบบเบรกให้มีความสมบูรณ์และใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ตรวจสอบน้ำกลั่นในหม้อแบตเตอรี่ เติมน้ำมันเครื่องให้พร้อม และควรมีเครื่องมือประจำรถและอะไหล่ต่างๆ สำรองติดรถเอาไว้ และศึกษาเส้นทางเพื่อให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น หากเป็นรถเช่าควรเลือกรถที่จดทะเบียนถูกต้อง มีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เลือกรถให้เหมาะสมกับการเดินทาง หลีกเลี่ยงรถโดยสาร 2 ชั้นในเส้นทางโค้งและมีความลาดชัน ทั้งนี้ ในการเดินทางอาจพบสภาพอากาศที่แปรปรวน เช่น ฝนตก ลมแรง และทัศนวิสัยไม่ดี ขอให้ขับรถด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด