เกียฝ่าด่านค่ายรถหรูตะวันตก ครองแชมป์ในการสำรวจคุณภาพรถใหม่เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ที่สำคัญอันดับ 2 ยังตกเป็นของเจเนซิส แบรนด์รถหรูจากฮุนได มอเตอร์ ส่งผลให้บริษัทรถจากแดนกิมจิร่วมกันคว้าอันดับ 1 และ 2 เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีจากการสำรวจของเจ.ดี. พาวเวอร์
ปอร์เช่, ฟอร์ด และแรมร่วมกันเติมเต็ม 5 อันดับแรก ขณะที่แบรนด์ที่กอดคอกันอยู่ด้านล่างสุดของตารางประกอบด้วยเฟียต, จากัวร์, วอลโว่, มิตซูบิชิ และแลนด์ โรเวอร์
การสำรวจคุณภาพรถยนต์ใหม่ถือเป็นการสำรวจที่ผู้ซื้อรถใหม่ให้ความสนใจมากที่สุด เนื่องจากเป็นการประเมินรถใหม่โดยอิงกับปัญหาที่พบในช่วง 90 วันหลังถอยจากโชว์รูม ด้วยการขอให้เจ้าของรถรุ่นปี 2017 เกือบ 80,000 คน ตอบคำถามทั้งหมด 233 ข้อ แบ่งออกเป็น 8 หมวดหมู่แนวโน้มปัญหา ได้แก่ ปัญหาภายนอกตัวรถ, เบาะนั่ง, ประสบการณ์ในการขับ, เครื่องยนต์/ระบบเกียร์, ฟีเจอร์/ส่วนควบคุม/การแสดงผล, ปัญหาภายในรถ, ระบบฮีทเตอร์ ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์ (HVAC) และระบบเสียง/การสื่อสาร/ความบันเทิง/การนำทาง
ผลสำรวจพบว่า ปัญหาที่เจ้าของร้องเรียนมากที่สุดยังคงมาจากระบบเสียง/การสื่อสาร/ความบันเทิง/การนำทาง นอกจากนี้แม้หมวดหมู่อื่นๆ มีคุณภาพดีขึ้นอย่างมาก แต่สำหรับฟีเจอร์/ส่วนควบคุม/การแสดงผลยังคงมีคะแนนลดลงต่อเนื่อง หมวดหมู่นี้ครอบคลุมเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อหลีกเลี่ยงการชนต่างๆ อาทิ ระบบเตือนการออกนอกเลน การตรวจจับจุดบอด และองค์ประกอบอื่นๆ ในเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ นอกจากนี้เจ้าของรถยังร้องเรียนเรื่องระบบจดจำเสียงไร้ประสิทธิภาพ ระบบนำทางสุดอืด และปัญหาในการจับคู่สมาร์ทโฟนกับรถ
เกี่ยวกับระบบขับขี่อัตโนมัตินั้น เจ.ดี. พาวเวอร์ชี้ว่า ผู้บริโภคยังต้องการความมั่นใจว่า ระบบไฮเทคเหล่านี้ปลอดภัยไร้ที่ติจึงจะยอมยกหน้าที่ควบคุมรถให้
ผลสำรวจระบุว่า เกียมีปัญหา 72 รายการจากรถ 100 คัน (PP100) ลดลงจาก 83 รายการเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ผูกขาดอันดับ 1 ไว้ได้เป็นปีที่สอง โดยปีที่ผ่านมาถือเป็นปีแรกที่แบรนด์รถตลาดมวลชนอย่างเกียปาดหน้าแบรนด์หรูเข้าเส้นชัย จากช่วง 15 ปีก่อนหน้านั้นที่เลกซัสกับปอร์เช่สลับกันเป็นแชมป์มาโดยตลอด
นอกจากนั้น เกียยังติดท็อป 5 ในการสำรวจความน่าเชื่อถือประจำปีของคอนซูเมอร์ รีพอร์ตส์ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ โดยเจ็ค ฟิชเชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายทดสอบรถยนต์ของคอนซูเมอร์ รีพอร์ตส์ บอกว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกียเข้ารอบลึกในการสำรวจคือ การที่ผู้เล่นจากเกาหลีใต้แห่งนี้ใช้เทคโนโลยีเก่าที่ผ่านการพิสูจน์ของกาลเวลามาแล้วจากแบรนด์ฮุนไดที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ขณะที่แบรนด์ที่ออกรถใหม่หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มักร่วงจากตาราง
สำหรับการสำรวจล่าสุดของเจ.ดี. พาวเวอร์นั้น ปัญหาที่พบในอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 97 รายการจากรถทุก 100 คัน โดยเจเนซิสพบปัญหา 77 รายการต่อรถ 100 คัน และปอร์เช่ 78 รายการ
เจ.ดี. พาวเวอร์ระบุว่า คุณภาพรถใหม่โดยรวมถือว่า อยู่ในระดับสูงสุดโดยเพิ่มขึ้น 8% จากปีที่แล้ว และมีการปรับตัวดีขึ้นในทุกหมวดหมู่ ยกเว้นเพียงการแสดงผลและส่วนควบคุมที่มีลูกค้าร้องเรียนจำนวนมาก
มินิเป็นรถที่มีพัฒนาการมากที่สุดในการสำรวจนี้ โดยเจ้าของรถรายงานปัญหาเพียง 94 รายการจากรถ 100 คัน ลดจาก 127 รายการในปี 2016 รถที่มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างชัดเจนยังรวมถึงแรมที่ติดอับ 4 ในปีนี้ , อาคูร่า (ปัญหาลดลง 19 รายการ), วอลโว่ (ปัญหาลดลง 18 รายการ) และฟอร์ด (ปัญหาลดลง 16 รายการ)
ในทางตรงข้าม เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ (FCA) ยังคงทำคะแนนน่าผิดหวัง นอกจากแรมแล้ว แบรนด์ทั้งหมดของ FCA มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยในอุตสาหกรรม และอันดับท้ายสุดของตารางคือเฟียต โดยเจ้าของรถเฟียตรายงานปัญหาถึง 163 รายการจากรถ 100 คัน หรือกว่าสองเท่าของปัญหาจากรถเกีย
ตำแหน่งรองบ๊วยเป็นของจากัวร์ เจ้าของรถพบปัญหา 148 รายการจากรถ 100 คัน อันดับ 3 จากท้ายตารางคือวอลโว่ มีปัญหา 134 รายการ
สำหรับผลการจัดอันดับทั้งหมดมีดังนี้
เกีย (72 PP100)
เจเนซิส (77 PP100)
ปอร์เช่ (78 PP100)
ฟอร์ด (86 PP100)
แรม (86 PP100)
บีเอ็มดับเบิลยู (88 PP100)
เชฟโรเล็ต (88 PP100)
ฮุนได (88 PP100)
ลินคอล์น (92 PP100)
นิสสัน (93 PP100)
โฟล์คสวาเกน (93 PP100)
มินิ (94 PP100)
บูอิค (95 PP100)
โตโยต้า (95 PP100)
มาตรฐานเฉลี่ยของอุตสาหกรรม 97 PP100
เลกซัส (98 PP100)
จีเอ็มซี (99 PP100)
ไครสเลอร์ (102 PP100)
เมอร์เซเดส-เบนซ์ (102 PP100)
อาคูร่า (103 PP100)
คาดิลแลค (105 PP100)
ฮอนด้า (105 PP100)
ดอดจ์ (106 PP100)
อินฟินิตี้ (107 PP100)
จี๊ป (107 PP100)
ซูบารุ (113 PP100)
ออดี้ (115 PP100)
มาสด้า (125 PP100)
แลนด์ โรเวอร์ (131 PP100)
มิตซูบิชิ (131 PP100)
วอลโว่ (134 PP100)
จากัวร์ (148 PP100)
เฟียต (163 PP100)