xs
xsm
sm
md
lg

สรุปทิศทางEVบิ๊กทรีญี่ปุ่น “โตโยต้า นิสสัน ฮอนด้า”...เมืองไทยพร้อมใช้รถไฟฟ้าหรือยัง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สามค่ายรถยนต์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันเกินครึ่งของยอดขายรถยนต์ในญี่ปุ่นและประเทศไทย โตโยต้า นิสสัน ฮอนด้า ถือเป็นแบรนด์ท็อปทรีที่มาลงหลังปักฐานในประเทศไทยยาวนาน ดังนั้นเมื่อรัฐบาลหวังแจ้งเกิดนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่ๆ หรือมีเทรนด์ยานยนต์ทันสมัยให้ขยับปรับตัว สามค่ายรถยนต์นี้นับว่ามีส่วนกำหนดทิศทางตลาดมากทีเดียว

ล่าสุดกับการสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) จากรัฐบาล “บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” พร้อมการรับลูกของทุกกระทรวง ทบวง กรม ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน เป็นต้น จึงกลายเป็นกระแสสังคมที่พูดถึงกันมากในปัจจุบัน

ยิ่งชัดเจนไปกว่านั้น เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (2 ส.ค.) เห็นชอบมาตรการส่งเสริมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่สนใจเสนอแผนลงทุนแบบแพกเกจใหญ่ และเมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI แล้ว จึงเริ่มได้สิทธิพิเศษนำเข้ารถยนต์ EV สำเร็จรูปทั้งคันเข้ามาทำตลาดในราชอาณาจักรไทยได้โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า(ในช่วงเริ่มต้น)

โดยบริษัทที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน จะสามารถนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (CBU) โดยได้รับการลดหย่อน หรือยกเว้นอากรขาเข้าในรุ่นรถยนต์ที่จะผลิต เพื่อนำมาทดลองตลาดในปริมาณที่กำหนด รวมทั้งจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนสำคัญซึ่งยังไม่มีการผลิตในประเทศในช่วงเริ่มต้นของการประกอบรถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม จะร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของปริมาณการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนที่จะได้รับสิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าของบริษัทที่สนใจลงทุนต่อไป

….เมื่อรัฐบาลมีนโยบายผลักดัน EV ขนาดนี้ (แม้ยังไม่เป็นรูปธรรมมาก) ลองมาดูความคิดเห็นของ สามค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นกันบ้าง แต่สรุปเบื้องต้นก็คือ โตโยต้า ฮอนด้า ยังไม่คิดว่า EV พร้อมสำหรับตลาดไทยในตอนนี้ สวนทางกับนิสสันที่ประกาศชัดเจนว่าตนเองเป็นผู้นำในตลาด EV และเตรียมนำเข้า “นิสสัน ลีฟ” มาขายแน่นอน


- โตโยต้ามุ่งเดินตามโรดแมปเดิม

เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บอกว่า โตโยต้ามีการพัฒนาEV อยู่แล้ว และมีการขายทั้งในประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทเชื่อว่า EV มีประโยชน์แต่ยังสู้รถยนต์ไฮบริดไม่ได้(เครื่องยนต์ผสานการทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้า) นั่นเพราะEVยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะทางวิ่ง และสถานีชาร์จไฟฟ้าไม่เพียงพอ

“ลูกค้าที่ใช้รถยนต์ไฮบริดได้ประโยชน์ทั้งความคุ้มค่า หรือซื้อไปแล้วสามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และไม่ต้องกังวลกับระยะทางที่วิ่งได้จำกัดเหมือนEV ดังนั้นโตโยต้าจะเดินหน้ากับรถยนต์ไฮบริดต่อไป พร้อมเตรียมการลงทุนเกี่ยวกับรถยนต์ไฮบริดรุ่นใหม่ๆที่จะเปิดตัวในเมืองไทยในอนาคต”

สอดคล้องกับลูกหม้อที่ดูแลงานรัฐกิจสัมพันธ์ “นินนาท ไชยธีรภิญโญ” ซึ่งเป็นรองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า แผนงานของบริษัทคือพัฒนาระบบไฮบริดให้ใช้กับรถยนต์ทั่วไปก่อน จากนั้นจะขยับไปสู่รถยนต์แบบปลั๊ก-อินไฮบริด และรถยนต์ฟิวเซลล์ (Fuel Cell)ใช้พลังงานไฮโดรเจนในลำดับถัดไป
iQ กับเมืองไทยยังอีกนาน
ทั้งนี้รถยนต์EVเปรียบเสมือนเหรียญสองด้านที่มีทั้งดีและลบ ข้อดีคือตัวรถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะไม่ปล่อยไอเสียเลย แต่กระนั้นมลพิษยังเกิดที่โรงงานผลิตไฟฟ้าอยู่ดี แม้จะปล่อยในปริมาณน้อยกว่ารถยนต์ใช้น้ำมันก็ตาม

- ฮอนด้าหวังนโยบายที่จะหนุนEVขอให้มาลงที่ไฮบริดก่อน

ฝั่งฮอนด้าโดยบอสใหญ่ “พิทักษ์ พฤทธิสาริกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)จำกัด มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลสนับสนุน EV แต่บริษัทยังไม่ได้สรุปว่าจะเข้าร่วมกับโครงการใหม่นี้ของรัฐบาลหรือไม่

“เรามีแผนเข้าไปคุยกับรัฐบาล อยากแสดงความคิดเห็นแบบกลางๆทั้งไฮบริด และ EV ซึ่งจริงๆแล้วเทคโนโลยี EV นั้นดี แต่ถ้ามองจังหวะของเทคโนโลยีจะต้องก้าวเป็นขั้นเป็นตอน จากเครื่องยนต์สันดาปภายใน สู่ไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด จากนั้นจะมีสัดส่วนของ EV เพิ่มเข้ามา จนสุดท้ายก้าวไปสู่ยุคของรถยนต์ฟิวเซลล์ ใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงาน”
แอคคอร์ด ไฮบริด เพิ่งเปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์  ก้าวต่อไปต้องเป็นปลั๊ก-อิน ไฮบริดแล้วละ
สำหรับการทำตลาด EV ต้องมองความพร้อมหลายด้าน เพราะรถยังมีข้อจำกัดของระยะทางการวิ่ง,เวลาการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง ขณะที่สถานีชาร์จไฟต้องลงทุนสูงยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในการใช้รถ EV ที่มีอยู่ในวงแคบ ซึ่งกว่า EV จะพร้อมจริงๆต้องใช้เวลาอีก 5-10 ปี

ในเมื่อ EV ความคุ้มค่าต่อการผลิตยังไม่สูง ไหนจะมีเรื่องของเทคโนโลยีแบตเตอรีอีก ที่ต้องใช้เวลาพัฒนาให้เบาลงและเก็บประจุไฟฟ้าได้เยอะ สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตจะถูกลงในอนาคต ดังนั้นฮอนด้ามองว่ารัฐบาลควรสนับสนุนรถยนต์ไฮบริดไปก่อน เพราะจริงๆไฮบริดกับ EV เป็นเทคโนโลยีที่ไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี

“สุดท้ายการใช้เทคโนโลยียานยนต์ตัวไหน ความต้องการตลาดจะเป็นผู้กำหนด เพียงแต่จะโตเร็วโตช้าขึ้นอยู่กับแนวทางของรัฐบาล แต่สำหรับนโยบายเตรียมสนับสนุน EV ทั้งเรื่องการลงทุนและแต้มต่อภาษีก็ขอให้นำมาใช้กับรถยนต์ไฮบริดก่อนจะดีกว่าไหม”

- นิสสันสวนทางพร้อมลุยEV

“ทุกค่ายรถยนต์ไม่สามารถปฏิเสธการมาของEV แต่มีคำถามว่าจะมาเมื่อไหร่เท่านั้นเอง” คะซุทากะ นัมบุ ประธานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวและว่า

นโยบายของแต่ละค่ายรถยนต์ไม่เหมือนกัน แต่เรามั่นใจที่จะทำตลาดEV เพราะชัดเจนว่าในระยะยาวทิศทางจะไปทางนี้แน่นอน แม้ค่ายรถยนต์ใหญ่ๆไม่เห็นด้วยในตอนนี้ แต่ถามว่าจะสามารถยื้อกับดีมานด์ของตลาดโลกได้แค่ไหน

“หลักสำคัญคือการเคารพในสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะที่นิสสันมีจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับ EV รถยนต์ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมเป็นผู้นำด้วยยอดขายทั่วโลกกว่า 2.25 แสนคัน จากนิสสัน ลีฟ”

แม้นิสสันยังไม่แน่ใจว่า สุดท้ายรัฐบาลจะกำหนดเงื่อนไขอย่างไร แต่เห็นแนวทางทั้งการสนับสนุนด้านภาษี การขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นการจุดประกายในการสร้างตลาดEVขึ้นมา โดยนิสสันจะเดินหน้าไปตามโจทย์ของรัฐบาล เพราะมีองค์ความรู้ โปรดักต์ และเทคโนโลยีEV พร้อมอยู่แล้ว
นิสสัน ลีฟ ออกงานแสดงเทคโนโลยีในเมืองไทยมาหลายครั้งแล้ว
"อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสนับสนุนต่อยอดให้เกิดการผลิตในประเทศ อยากให้พิจารณาเรื่องของการเพิ่มแรงจูงใจในการซื้อ ทั้งด้านภาษีสรรพสามิตที่ต้องเก็บน้อยกว่ารถยนต์ทั่วไป นั่นเพราะEVปล่อยไอเสียน้อยกว่าแต่ต้นทุนการผลิตสูง ถ้าอยากให้ราคาสามารถเข้าถึงได้ง่ายรัฐบาลต้องสนับสนุนตรงนี้ สอดคล้องไปกับการเพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ทั่วถึง" นายนัมบุกล่าว

…ชัดเจนกับนโยบายการทำตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า EV ของสามค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ซึ่งอนาคตต้องมองกันยาวๆ ว่าจะขึ้นไลน์ผลิตในประเทศไหม และรัฐบาลจะให้แรงจูงใจในการผลิตและการซื้อแก่ประชาชนอย่างไรบ้าง?

แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของ EV ด้วยความพยายามเกาะติดเทคโนโลยีทันสมัยพร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างไม่หยุดนิ่ง แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีอีกหลายปัจจัยให้คำนึงถึง โดยเฉพาะการหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้กับที่อยู่อาศัย เพื่อการพาณิชย์ อุตสาหกรรม และรถยนต์ที่กำลังจะเป็นเทรนด์ใหม่ ซึ่งประเทศไทยคงต้องคำนวณเสถียรภาพของพลังงาน ความคุ้มค่า และอัตราการปล่อยไอเสียกันตั้งแต่ต้นน้ำ หากจะนำ EV มาวางคุยกันบนโต๊ะแล้วบอกว่านี่เป็นรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบบ Zero Emission
กำลังโหลดความคิดเห็น