กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้ารายงานความคืบหน้าครม.รับทราบแผนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ชงหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการต่อ ย้ำค่ายรถยนต์ต้องการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็น 0% มากที่สุด คาดกำหนดกรอบการส่งเสริมฯ ชัดเจนภายในเดือนกันยายนนี้ ด้านกระทรวงพลังงานเตรียมประกาศหลักเกณฑ์และการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสิงหาคมนี้
สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้นำเสนอแผนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม2559 เพื่อรับทราบความคืบหน้าและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการต่อ โดยให้นำรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ได้จริงภายในเดือนพฤศจิกายน2559
สำหรับแนวทางสำคัญเพื่อส่งเสริมให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้าคือ การที่กระทรวงการคลังและสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องกำหนดนโยบายภาษีและแนวทางส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะส่วนที่กลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์ต้องการมากที่สุดคือ การยกเว้นภาษีนำเข้าให้เป็น 0% และต้องการให้บีโอไอกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับสิ่งที่กลุ่มผู้ประกอบการฯ นำเสนอ ขณะที่บีโอไอกำหนดเงื่อนไขให้กลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์ต้องยื่นแผนการลงทุนประกอบหรือผลิตชิ้นส่วนในไทยด้วย ส่วนกระทรวงพลังงานจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องสถานีชาร์จและสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) จะดูเรื่องมาตรฐานของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่ากรอบการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าจะมีความชัดเจนภายในเดือนกันยายน2559
ทั้งนี้ ปัจจุบันภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วยภาษีสรรพสามิต 10% ภาษีศุลกากร หากนำเข้าจากจีนจะเป็น 0% ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน หากนำเข้าจากญี่ปุ่นอัตราภาษีในปีนี้อยู่ที่ 24.5% และปี 2560 จะลดลงเป็น 20% ตามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ส่วนภูมิภาคอื่นอยู่ในอัตรา 80% ตามปกติ
ในปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกประมาณ 50 คัน หากมีการปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์เป็น 0% น่าจะมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มมีการนำเข้ามาจำหน่ายแล้วโดยค่ายนิสสัน เช่น นิสสัน ลีฟ และจะทำให้ราคาถูกลงประมาณ 5- 6 บาทต่อคัน จากราคา 1.8-1.9 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม แนวทางการส่งเสริมจะต้องมองที่การผลิตชิ้นส่วนด้วย ไม่ใช่การนำเข้ารถยนต์เท่านั้น
ก่อนหน้านี้ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้วางกรอบแนวทางการพัฒนาเพื่อส่งสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อลดการใช้พลังงานในภาคขนส่ง ตามนโยบายของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสอดรับกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 2558-2579 เนื่องจากเป็นภาคที่ใช้พลังงานมากที่สุด โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดทำมาตรการการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทไฮบริดปลั๊กอิน และยานยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 โดยคาดว่าภายในเดือนสิงหาคมปีนี้ จะสามารถประกาศหลักเกณฑ์และการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการจัดตั้งสถานีไฟฟ้าเพื่อรองรับได้
อย่างไรก็ตาม ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานและจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยมีหน่วยงานภาครัฐและตัวแทนภาคเอกชนเป็นคณะทำงาน ขณะที่ กระทรวงคมนาคมได้เห็นชอบให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นำร่องด้วยการเช่ารถโดยสารไฟฟ้าแบบนำเข้ามาประกอบในประเทศจำนวน 20 คัน ดำเนินการควบคู่กับการจัดหารถโดยสารไฟฟ้า 200 คัน
ทั้งนี้ แผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 1.2 ล้านคน ภายในปี 2579 แบ่งการดำเนินงานเป็น 4 ระยะ ช่วงนี้อยู่ในระยะที่1 ระหว่างปี 2559-2560 เป็นการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายการขออนุญาตและการสนับสนุนการวิจัยเรื่องแบตเตอรี่ เน้นนำร่องกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ (ขสมก.) 200 คัน และรถเฉพาะจุด เช่น รถรับ-ส่ง พนักงานของปตท. รถรับ-ส่ง สุวรรณภูมิ-พัทยา รวมทั้ง การเตรียมความพร้อมด้านสถานี Charging Station และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ระยะที่ 2 ปี 2561-2563 ดำเนินการเชิงวิจัยอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ทั้งเรื่องสมรรถนะแบตเตอรี่ มอเตอร์ รวมทั้ง เพิ่มจำนวนรถและจุด Charging Station ให้พอเพียง ระยะที่3 ปี 2564-2578 ขยายผลการศึกษาให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ และระยะที่4 ปี 2579 เป็นต้นไป ตั้งเป้าหมายรถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันได้อย่างเต็มที่