“อาคม” เผยผลทดลอง “สาทรโมเดล” มาตรการแก้รถติด ได้ผลน่าพอใจ เผย 4 ตัวชี้วัดสะท้อนความเร็วรถเฉลี่ยดีขึ้น เป็น 17 กม./ชม. รถติดสะสมลดลง เตรียมสรุปชง “คจร.” ต่อยอดขยายไปใช้กับถนนสายอื่น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลการทดลองจัดจราจรเต็มรูปแบบเพื่อแก้ปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืนบนถนนสาทร หรือสาทรโมเดล ว่าผลการทดลองเชิงสังคมครั้งที่ 3 ของโครงการ “สาทรโมเดล” ระหว่างวันที่ 6-17 มิ.ย. 2559 ถือว่าน่าพอใจ จาก 4 ตัวชี้วัดที่ดีขึ้น คือ 1. ความเร็วเฉลี่ยรถในชั่วโมงเร่งด่วนเพิ่มขึ้นเป็น 17 กม./ชม. หรือเพิ่มจากเดิม 3 เท่า โดยปี 2558 มีความเร็วเฉลี่ย 5.1 กม./ชม. และปี 2557 ความเร็วเฉลี่ยยู่ที่ 6 กม./ชม.เท่านั้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ร่วมสนับสนุนในโครงการสาทรโมเดลในทุกมิติ จากทั้งหมด 24 มาตรการ เช่น จัดบริการ Shuttle Bus และเรื่องจุดจอดแล้วจร (Park & Ride) 2. รถเคลื่อนตัวได้คล่องตัวมากขึ้น 3. ปริมาณจราจรสะสมน้อยลงโดยระยะต่อคิวรถลดลงจาก 3 กม.เหลือ 2 กม. 4. ใช้ระยะเวลาในการเดินทางสั้นลง 20 นาที
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ไม่ใช่แค่การก่อสร้างสาธารณูปโภค หรือแก้ปัญหาทางกายภาพอย่างเดียว แต่จะต้องร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการสร้างการเรียนรู้ในการวางแผนการเดินทางที่สามารถเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่งหลายรูปแบบ ซึ่งถนนสาทร มีทั้ง รถยนต์ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร จักรยาน การเดินเท้า โดยจัดทำแผนที่ในแอปพลิเคชันที่สามารถเข้าถึงและใช้วางแผนการเดินทางได้ ขณะที่ต้องพัฒนาเจ้าหน้าที่จัดจราจรใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น รู้สถิติปริมาณจราจรในแต่ละแยก สามารถจัดการได้เหมาะสมกับแต่ละจุด ดังนั้นระหว่างที่รถไฟฟ้ายังอยู่ระหว่างก่อสร้างโดยจะครบทั้ง 10 สายในปี 2565 จะต้องเน้นการวางแผนเดินทางแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบ
“สาทรโมเดลไดรับความร่วมมือจาก 11 บริษัทเอกชนที่สมัครใจร่วมเหลื่อมเวลาทำงาน จึงมีผลออกมาน่าพอใจและเป็นต้นแบบที่จะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อพิจารณานำโมเดลนี้ไปทดลองในถนนสายอื่น หรือนำบางมาตรการไปใช้ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งต้องยอมรับว่าในปี 2560 การจราจรในถนนหลายสายจะวิกฤตมากกว่าปีนี้ เนื่องจากจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มอีก”
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานร่วมคณะกรรมการโครงการคมนาคมอย่างยั่งยืน 2.0 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในมาตรการจอดแล้วจร สาทรโมเดลมีลานจอดรถ 2,794 ลานจอด ที่จอดมีผู้ใช้ 504 คน และจากการสำรวจความต้องการที่จอดรถในพื้นที่ชั้นในพบว่า ฝั่งธนบุรี สถานีกรุงธน-บางหว้า มากกว่า 1,000 คัน/วัน อุดมสุข-แบริ่งประมาณ 900 คัน/วัน หมอชิต-สะพานควาย มากกว่า 2,000 คัน/วัน แอร์พอร์ตลิงก์ มักกะสัน-ลาดกระบัง 2,000 คัน/วัน ต้องหาทำเลและราคาที่เหมาะสม ส่วนมาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน มี 11 บริษัทร่วม มีพนักงานรวมกันกว่า 4,300 คน ส่วนระบบผู้ช่วยวางแผนการเดินทาง (LinkFlow) หรือแอปพลิเคชัน ลิงก์โฟลว มีผู้ใช้ถึง 3,308 ราย ซึ่งมี 69% ของพนักงานบริษัทที่สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางที่ดีขึ้นผ่านแอปพลิเคชันลิงก์โฟลว