xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอ SPCG ชี้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนลดต่ำลงมาก มั่นใจโกยรายได้ 800 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มูลนิธิพลังงานฯ จัดสัมมนาปลดล็อกพลังงานหมุนเวียนไทย ชี้ต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนต่ำลงมากเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ ด้านซีอีโอ SPCG ย้ำความสำเร็จธุรกิจขายพลังงานแสงอาทิตย์ เดินหน้าลุยโซลาร์รูฟต่อ หลังเห็นสัญญาณดีหลายหน่วยงานแห่ติดตั้งเพื่อลดค่าใช้จ่าย มั่นใจปีนี้โกยรายได้ 800 ล้านบาท

ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาหัวข้อ “ปลดล็อกพลังงานหมุนเวียนไทย” เพื่อสนับสนุนงานตามนโยบายของภาครัฐทางด้านพลังงาน โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศให้เป็นไปอย่างแพร่หลาย โดยมีนางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) และนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มาร่วมงานด้วย

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พลังงานหมุนเวียนไทยวันนี้” ว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนลดต่ำลงมาก ในขณะที่ประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะลมและแสงอาทิตย์ ผลมาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ขณะที่แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานก็มีต้นทุนต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สามารถผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ แต่รัฐบาลต้องกำหนดราคาพลังงาน ทั้งพลังงานหมุนเวียนและปิโตรเลียม และใช้ระบบประมูลแข่งขันด้านราคาในกรณีที่โครงการมีลักษณะที่คล้ายกัน เช่น แสงอาทิตย์ เป็นต้น

นางวันดีบรรยายในหัวข้อ “Solar Energy... โอกาสของคนไทย” ว่า โครงการโซลาร์ฟาร์มของเอสพีซีจีเกิดขึ้นในสมัย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็น รมว.พลังงาน ถือว่าได้เปิดศักราชใหม่ มีนโยบายด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เอสพีซีจีได้นำระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงมาพัฒนาในประเทศไทยสำเร็จครั้งแรกในปี พ.ศ. 2553 พร้อมกับขายไฟในโครงการโซลาร์ฟาร์ม โคราช 1 ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และได้พัฒนาต่อยอดจนถึงปัจจุบัน ทำให้บริษัทมีโซลาร์ฟาร์มที่พัฒนาแล้วถึง 36 โครงการ กำลังการผลิต 6-7 เมกะวัตต์ต่อ 1 โครงการ และก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางด้านระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

ทั้งนี้ เอสพีซีจีได้ต่อยอดธุรกิจจากการทำโซลาร์ฟาร์มสู่ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ซึ่งเป็นธุรกิจดาวรุ่งของบริษัทฯ และมีความตั้งใจให้ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยในปีแรกสามารถทำรายได้ได้ถึง 200 ล้านบาท ปี 2015 ทำรายได้ 400 ล้านบาท และเป้าหมายปี 2016 อยู่ที่ 800 ล้านบาท มั่นใจว่าธุรกิจจะเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 โดยขณะนี้โซลาร์รูฟของบริษัทได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากประชาชน ทั้งบ้านพัก โรงงานอุตสาหกรรม สถาบันการเงินที่มีชื่อเสียง บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้มาติดตั้งแผงโซลาร์รูฟเพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนของการใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม เพราะปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาล ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ถึงภายในปี 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น