xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานจับมือมูลนิธิอาคารสีเขียวเปิดให้ยื่นออกแบบเมืองอัจฉริยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงพลังงานโดยกองทุนอุรักษ์ฯ ร่วมกับมูลนิธิอาคารสีเขียวไทยหนุนเอกชน รัฐ ออกแบบเมืองอัจฉริยะต้นแบบ Smart Cities - Clean Energy กำหนดส่งผลงานภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ภายในเวลา 16.30 น.

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเปิดงานสัมมนาโครงการเมืองอัจฉริยะ ที่กองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย สนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะต้นแบบ Smart Cities - Clean Energy ว่า ไทยมีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกจาก 20% เป็น 25% ในปี 2573 จึงได้สนับสนุนโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities - Clean Energy) เพื่อเป็นแนวทางหรือแบบรายละเอียดเบื้องต้น (Schematic Design) การพัฒนาเมืองของชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ โดยเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น Clean Energy และ Green City เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“เครือข่ายพลังงานอัจฉริยะ (Smart Grid) ยานยนต์พลังงานทางเลือก เป็นต้น ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสะดวกสบาย ลดการใช้พลังงาน เกิดการใช้พลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้จะสามารถเป็นต้นแบบลดการใช้พลังงาน และลดคาร์บอนไดออกไซด์ ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทย และยังเป็นการสร้างมิติใหม่ของการพัฒนาเมือง ให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City” รมว.พลังงานกล่าว

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงานกล่าวว่า โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities - Clean Energy) จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน ร่วมโครงการออกแบบและพัฒนาเมือง ด้วยการเน้นการจัดรูปเมืองและโครงสร้างพื้นฐานหลักของเมือง เช่น โครงสร้างระบบขนส่ง ระบบราง การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในทุกรูปแบบ และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เต็มศักยภาพ ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลมาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อจะเป็นการช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการร่วมส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์อีกด้วย

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานสถาบันอาคารเขียวไทย กล่าวว่า เกณฑ์เบื้องต้นการประเมินเมืองอัจฉริยะ จะต้องมีพื้นที่ใช้สอยรวมไม่น้อยกว่า 1 ล้านตารางเมตร หรือความต้องการกำลังไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 เมกะวัตต์ หรือมีจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า 30,000 คน หรือสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยกว่า 30,000 ตันต่อปี โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้น ดังนี้ 1) การส่งผลงานเพื่อประกวด ในขั้นตอนที่ 1 (Conceptual & Urban Planning) 2) ผังแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City Development Master Plan) จะมีการคัดเลือกผู้เข้ารอบแรก 20 รายได้เงินรางวัล 5 แสนบาท รอบต่อไปจะมีการคัดเลือกข้อเสนอที่เป็นแนวคิดที่ดีที่สุด 7 ลำดับแรก จะได้รับเงินสนับสนุนสำหรับใช้ในการดำเนินการขั้นต่อไป ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อแห่ง รวมเป็นเงิน 70 ล้านบาท

โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถส่งผลงานได้ด้วยตนเองที่สถาบันอาคารเขียวไทย กำหนดส่งผลงานภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ในเวลา 16.30 น. และประกาศผลการประกวดทาง www.tgbi.or.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันอาคารเขียวไทย E-mail Smartcities.th@gmail.co
กำลังโหลดความคิดเห็น