xs
xsm
sm
md
lg

“ซี-คลาส เอสเตท” ดีเซลไฮบริดบนความคลาสสิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฉมใหม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาส W205 เปิดตัวครั้งแรกในเมืองไทยที่งานบางกอก มอเตอร์โชว์ 2014 กับสองรุ่นนำเข้าคือ C 250 AMG Dynamic ราคา 3.19 ล้านบาท และ C 180 Exclusive ราคา 2.79 ล้านบาท ซึ่งปลายปีเดียวกันผู้เขียนได้ทดสอบรถยนต์ทั้งสองรุ่นที่สนามแข่งบุรีรัมย์ เซอร์กิต

ถัดมาช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ปรับทัพใหม่ เมื่อเริ่มขึ้นไลน์ประกอบซี-คลาสไฮบริด ตามรอยรุ่นพี่อย่าง อี-คลาส และเอส-คลาส ที่เริ่มในปี2556 และ 2557 ตามลำดับ เรียกว่าปล่อยทีเด็ดทุกปีในช่วง 3 ปีหลัง

ทำให้ล่าสุดซี-คลาส ใหม่มีขาย 4 รุ่นย่อยใน 2 ตัวถัง เริ่มจากตัวถังซาลูน (ซีดาน) C 200 เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร และC 300 BlueTEC Hybrid แบ่งเป็นรุ่น Exclusive กับ AMG Dynamic ขณะที่ตัวถังเอสเตท(แวกอน)เป็นรถนำเข้า C 300 BlueTEC Hybrid AMG Dynamic (ยังมีโมเดลเก่า ตัวถังคูเป้ C 180AMG Plus วางเครื่องยนต์เบนซิน 1.6 ลิตร)

ไล่ไทม์ไลน์เพื่อให้เห็นภาพครับ เพราะในปัจจุบันเมอร์เซเดส-เบนซ์ เสริมทัพรถใหม่เยอะจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเล็กกลุ่ม“นิว เจเนอเรชัน คอมแพกค์คาร์” อย่าง เอ,บี,ซีแอลเอ,จีแอลเอ-คลาส หรือกลุ่มดรีมคาร์ราคาแพง รวมถึงพวกเอสยูวีรุ่นใหม่อย่าง “จีแอลอี คูเป้” และกำลังจะมาอย่าง “จีแอลซี”

อย่างไรก็ตามเมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่ม Contemporary คือ ซี,อี,เอส พร้อมเดินตามแผนขึ้นไลน์ประกอบในประเทศ ที่สำคัญในยุคใหม่สมัยนี้ยังเน้นระบบขับเคลื่อนไฮบริด โดยซี-คลาส กับอี-คลาส น่าจะมีสัดส่วนขายในรุ่นไฮบริดมากถึง 80% จากยอดขายรวมในคลาสของตัวเอง

….น่าสนใจนะครับกับทิศทางใหม่ของเจ้าพ่อรถหรูเมืองไทย

สำหรับซี-คลาส ที่ผู้เขียนได้ลองขับล่าสุด คือ C 300 BlueTEC Hybrid AMG Dynamic ตัวถังเอสเตท แม้ไม่ได้ประกอบเมืองไทยเหมือนพวกตัวถังซีดาน ทว่าราคาขายยังทำได้น่าสนใจที่ 3.39 ล้านบาท หรือแพงกว่าตัวถังซาลูน(รุ่นเดียวกัน) 3 แสนบาท

ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนด้านราคาจากบริษัทแม่ หวังเอาใจแฟนพันธุ์แท้รถตราดาวที่ชื่นชอบความอเนกประสงค์แบบเอสเตท ขณะเดียวกันน่าจะดูทิศทางคู่แข่งอย่างบีเอ็มดับเบิลยูที่มีอาวุธหนักเป็น “เอ็กซ์ 3”และคงประเมิน “ซีรีย์3 จีที” 320d ประกอบไปด้วย

ด้านขุมพลังไฮบริดที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ 2.2 ลิตร 204 แรงม้า เทอร์โบคู่ ผสานการทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ให้กำลัง 27 แรงม้า แรงบิด 250 นิวตันเมตร ส่งกำลังสู่ล้อหลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 7 สปีด โดยหลักการทำงานก็คล้ายๆของโตโยต้า (ซีรีย์ผสมพาราเรล) ทว่าความสามารถขับได้ในโหมดไฟฟ้าล้วน(EV) ยังน้อยไปนิด

เริ่มจากการกดปุ่มสตาร์ท โดยปกติเครื่องยนต์ดีเซลยังไม่ติดขึ้นมานะครับ แต่ให้สังเกตที่หน้าปัดถ้ามีไฟสีเขียวReady เด้งขึ้นมาระหว่างไมล์ความเร็วกับวัดรอบเครื่องยนต์ นั่นแสดงว่ารถพร้อมแล้วให้คุณใส่เกียร์ D (เกียร์มือ) พร้อมออกตัวได้เลย

แน่นอนว่าการออกตัวด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าระบบขับเคลื่อนจะเงียบมาก ถ้าคุณไม่รีบบี้ขยี้คันเร่งหรือออกตัวแรงๆ รถจะวิ่งด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจนถึงความเร็วประมาณ 20-25 กม./ ชม. จากนั้นเครื่องยนต์ดีเซลถึงจะเริ่มติด “ชึ่ง” ขึ้นมา

จากนั้นระหว่างการขับขี่เหมือนเครื่องยนต์จะทำงานเป็นหลัก แต่ถ้าเราต้องการเพิ่มความเร็วกะทันหัน มอเตอร์ไฟฟ้าจะเข้ามาเสริมช่วยอีกแรง ก็ช่วยแบ่งเบาภาระเครื่องยนต์ลงไปได้บ้างละครับ

อัตราเร่งไม่ใช่ปัญหาสำหรับรถคันนี้ ดูเอาเถอะครับจากจุดหยุดนิ่งไล่ความเร็วไปถึง 100 กม./ชม. ใช้เวลาเพียง 6.7 วินาที ดังนั้นไม่ว่าจะออกตัว หรือต้องการความเร็วในย่านไหน ระบบขับเคลื่อนไฮบริดจัดให้เต็มที่แบบทันใจเสมอ

ขณะที่การชะลอหยุด เพียงยกคันเร่งหรือแตะเบรก เครื่องยนต์ดับทันทีแล้วมอเตอร์ไฟฟ้าจะหันกลับมาทำหน้าที่เป็นเจเนอเรเตอร์ นำพลังงานจลน์ที่หมุนเพลาซึ่งจะเสียไปเปล่าๆปั่นกลับมาเป็นไฟฟ้าส่งไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่แบบลิเธียมไออนสะสมพลังงานต่อไป

เพียงแต่ว่าในย่านความเร็วต่ำ หรือรถติดขับตามๆกันไปช่วงการจราจรหนาแน่นรถจะออกอาการฉุดดึงเล็กๆ หัวทิ่มน้อยๆ ทั้งจังหวะยกคันเร่ง จังหวะเบรก หรือเตะคันเร่งส่ง ลักษณะการเคลื่อนตัวไม่ค่อยนุ่มนวลนัก ซึ่งประเด็นนี้รับรู้ได้ทั้งคนนั่งและคนขับ

ส่วนช่วงล่างเน้นไปทางสปอร์ตมากกว่าความนุ่มนิ่ม ด้วยการเป็นรุ่น AMG Dynamic ความสูงของรถลดลง 15 มม.(สปริงโหลด)ประกบล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว ยางหน้า 225/45 R18 หลัง 245/40R18 แค่ขับในโหมดคอมฟอร์ด(เป็นโหมดเริ่มต้นหลังสตาร์ทรถ) ก็หนึบแข็งแล้ว ดังนั้นถัาเปลี่ยนเป็นโหมดสปอร์ต หรือสปอร์ต พลัส ระบบ AGILITY CONTROL จะปรับโช้คอัพให้หนืดขึ้นไปอีก พร้อมความหน่วงของพวงมาลัยและการตอบสนองของพละกำลังที่รวดเร็วขึ้น

ขณะเดียวกันด้วยโครงสร้างตัวถัง,น้ำหนักและความยาวระดับ 4.7 เมตร การขับในช่วงทางโค้ง(ความเร็ว 80-100 กม./ชม.)อาจจะละเลียดไม่เฉียบคมเท่าตัวถังซาลูน คือยังรู้สึกถึงความหน่วงในด้านท้ายอยู่นิดๆ

ในส่วนแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนวางอยู่ใต้เบาะนั่งด้านหลัง ต่างจากไฮบริดของโตโยต้า (คัมรี,พริอุส) ที่จะวางแพกแบตเตอรี่ไว้ติดกับพนักพิงของเบาะหลัง ซึ่งต่างแนวคิดกันละครับวิศวกรญี่ปุ่นกับเยอรมัน แต่ที่แน่ๆคือการวางแบตเตอรี่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ มีข้อดีคือไม่เกะกะ และยังคงพื้นที่เก็บสำภาระด้านหลังได้อีกเพียบ

โดยพนักพิงเบาะหลังสามารถพับลงมา เพื่อเชื่อมกับพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลังด้วยปุ่มกดด้านข้างเพียงปุ่มเดียว ไม่ต้องโยกดึงให้เมื่อย พร้อมเพิ่มพื้นที่เก็บของรวมได้ถึง 1,470 ลิตร (ถ้าไม่พับเบาะพื้นที่ด้านหลังจะจุ 450 ลิตร)

ด้านอัตราบริโภคน้ำมัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ เคลมว่าโดยเฉลี่ย C 300 BlueTEC Hybrid Estate จะทำได้ 23.8 กม./ลิตร ส่วนการใช้งานจริงของผู้เขียนห็นตัวเลขแถวๆ 15-16 กม./ลิตร

รวบรัดตัดความ...กระแสเอสยูวี/ครอสโอเวอร์ มาแรงในระยะหลังๆ ทุกค่ายต่างเพิ่มและเน้นการทำตลาดรถยนต์ประเภทนี้มากขึ้นจนหลายคนแทบจะลืมความคลาสสิกจากรถเอสเตทหรือแวกอนไปแล้ว สำหรับ C 300 BlueTEC Hybrid Estate แม้ไม่โฉบเฉี่ยวแบบตัวถังชูตติ้งเบรก แต่รูปลักษณ์ในภาพรวมก็ไม่เชยแถมยังได้ความอเนกประสงค์ แฝงกลิ่นอบอวนของความอบอุ่นในแบบฉบับคนรักครอบครัว ส่วนระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริด ดีเซลกับมอเตอร์ไฟฟ้าให้ทั้งความประหยัดน้ำมันพร้อมตอบสนองการขับขี่ได้แบบรุนแรง ยิ่งเปลี่ยนเป็นโหมดสปอร์ต หรือสปอร์ต พลัส ก็พุ่งไปกันใหญ่...ย้ำอีกทีว่านี่เป็นรถนำเข้า ที่ให้ความแตกต่างเฉพาะตัวสูง แถมราคาไม่โดดเด้งจนน่าเกลียด











ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวในวงการยานยนต์ได้ที่หน้าแฟนเพจ ASTVผู้จัดการ Motoring

กำลังโหลดความคิดเห็น