xs
xsm
sm
md
lg

5 ข่าวเด่นอุตฯยานยนต์โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"เอเอสทีวีผู้จัดการมอเตอริ่ง รวบรวม 5 ข่าวดังในอุตสาหกรรมยานยนต์โลกในรอบปีที่ผ่านมา

วิกฤตครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกัน

กลายเป็นข่าวฮือฮาและสร้างความปั่นป่วนให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐอเมริกาและทั่วโลก เมื่อบิ๊กทรีแห่งอุตสาหกรรมรถยนต์ของเมืองลุงแซมอย่างจีเอ็ม หรือเจนเนอรัล มอเตอร์ส, ฟอร์ด มอเตอร์ส และไครสเลอร์ แอลแอลซี ประสบปัญหาทางด้านสภาพคล่องทางการเงินและมีวี่แววว่าจะล้มครืนลงมาในเร็วหลัง หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ความจริงแล้วต้นตอของเรื่องไม่ได้เป็นผลกระทบโดยตรงมาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2008 เพียงแต่วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกลายเป็นตัวเร่งชั้นดีที่ทำให้ปัญหาของบิ๊กทรีถึงจุดที่วิกฤตขึ้นมาเร็วกว่าที่ควรจะเป็นมากกว่า

ทั้งนี้เนื่องจากสภาพโดยรวมของบิ๊กทรีมีปัญหาเรื้องรังกันมานานแล้ว และทั้งฟอร์ดและจีเอ็มก็ประสบปัญหาการขาดทุนสะสมมาตลอดในช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้จนต้องงัดแผนฟื้นฟูกิจการกันมาใช้ ขณะที่ไครสเลอร์ก็เพิ่งเข้าสู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเจ้าของ เมื่อทางเดมเลอร์ เอจีแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดทุนไม่ไหวและจัดการเทขายหุ้นจำนวน 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ของไครสเลอร์มาให้กับทางเซอร์เบอรุส แมเนจเมนต์เมื่อเดือนสิงหาคม 2007

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ 3 บริษัทอเมริกันกลายเป็นข่าวรายวันที่ได้รับความสนใจ และทำให้รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาต้องกระโดดเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งก็รวมถึงการที่นายบารัค โอบามา และจอห์น แม็คเคน 2 ผู้ชิงตำแหน่งประนาธิบดีสหรัฐต่างชูเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อใช้ในการหาเสียง
ในตอนแรกเรื่องทำท่าว่าจะจบลงแบบไม่สวยเพราะทางด้านสภาครองเกรสส์ของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถผลักดันให้แผนการให้กู้เงินฉุกเฉินจำนวน14,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 490,000 ล้านบาทให้กับบิ๊กทรีของอุตสาหกรรมรถยนต์เมืองลุงแซมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมเดินทางไปถึงขั้นตอนของการลงมติคะแนนเสียงของวุฒิสมาชิกได้ และทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกันตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการล้มละลายมากยิ่งขึ้น

แต่สุดท้ายประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชกลายมาเป็นพระเอกขี่มาขาวสำหรับชาวดีทรอยต์ในการช่วยต่อลมหายใจด้วยการอนุมัติเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 17,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 609,000 ล้านบาทให้กับทางจีเอ็มและไครสเลอร์ ในขณะที่ฟอร์ดยังมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีอยู่ ไม่ได้เรียกร้องขอความช่วยเหลือ

เงินกู้ทั้งหมดแบ่งมาจากงบประมาณกอบกู้วิกฤติการเงิน หรือ Troubled Asset Relief Program จำนวน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 24.5 ล้านล้านบาทเพื่อเข้าช่วยเหลือบริษัทของสหรัฐอเมริกาที่มีปัญหาทางด้านการเงิน แต่บริษัททั้งสองแห่งจะต้องเร่งปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ ภายในวันที่ 31 มี.ค.ปีหน้า เพื่อให้บริษัทมีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ หากบริษัททั้งสองแห่งไม่สามารถปฏิบัติได้ เงินกู้ทั้งหมดจะถูกเรียกเก็บคืนรัฐบาล และบริษัททั้งสองแห่งอาจจะถูกปล่อยให้ล้มละลาย

การให้เงินกู้ช่วยเหลือนี้แบ่งออกเป็น 9,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 329,000 ล้านบาทสำหรับจีเอ็มในช่วงเดือนมกราคม 2009 และอีก 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 140,000 ล้านบาทสำหรับในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ทางไครสเลอร์จะได้รับเงินจำนวน 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 140,000 ล้านบาทสำหรับการช่วยเหลือในครั้งนี้
เงินจำนวนนี้เท่ากับเป็นการต่อลมหายใจให้กับบริษัทรถยนต์ทั้ง 2 แห่งในการเร่งจัดการสะสางปัญหาที่เกิดขึ้นให้รวดเร็วที่สุด แต่จะไปได้ไกลขนาดไหนคงต้องรอดูกันต่อไปในปีหน้า

แต่ว่ากันว่าเงินจำนวนนี้ยังไงก็ไม่น่าจะเพียงพอในการช่วยบริษัทให้พ้นวิกฤต เพียงแต่ช่วยพยุงไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายหนักลงไปอีก เพราะนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าเงินที่มากพอจะช่วยสะสางปัญหาในครั้งนี้จะต้องมากถึง 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1.2 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

ทาทา นาโน รถของประชาชนรังแกประชาชน

เมื่อเดือนมกราคม 2008 ราทาน ทาทา ซีอีโอของทาทา มอเตอร์ ประกาศเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่เขย่าตลาดรถยนต์ทั่วโลก เพราะว่านี่คือรถยนต์ใหม่ป้ายแดงที่มีราคาถูกที่สุดในโลก โดยสตาร์ทกันที่ 2,500 เหรียญสหรัฐฯ หรือว่า 80,000 บาทเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ชื่อของทาทา นาโนกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกได้ยินกันอีกครั้ง แต่คราวนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นข่าวที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไร เมื่อเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องความไม่โปร่งใสในการเวนคืนที่ดินในเมืองซิกูร์ แคว้นเวสต์ เบงกอลสำหรับนำไปสร้างเป็นโรงงานของทาทาในการผลิตรถยนต์รุ่นนี้

เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะบรรดาชาวนาได้ออกมาประท้วงอันเป็นผลมาจากการที่พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของการเวนคืนที่ดิน โดยมีทั้งการจ่ายเงินชดเชยที่ไม่เป็นธรรมและการถูกบีบบังคับให้ขายที่ดินตามนโยบายการปฏิรูปที่ดินของรัฐบาลแคว้นเวสต์ เบงกอลที่ต้องการดึงดูดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเบื้องหลังการประท้วงเป็นผลมาจากการแฉข้อมูลและปลุกระดมของพรรคฝ่ายค้าน Trinamool Congress party ที่นำโดยนาย Mamta Banjeree หัวหน้าพรรค พร้อมกับเรียกร้องให้ทาทาคืนที่ดินจำนวน 400 เอเคอร์คืนแต่ชาวนาที่เสียผลประโยชน์

ทาทาถือเป็นผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นรัฐบาลของแคว้นเวสต์ เบงกอลมานานร่วม 30 ปี และตกอยู่เป็นจำเลยในเรื่องที่บีบบังคับชาวนาในการเวนคืนที่ดินอย่างไม่เป็นธรรมในครั้งนี้ โดยเหตุผลที่ทาทาต้องการที่ดินจำนวนมากสำหรับการก่อสร้างโรงงานให้กับนาโนก็เพราะเรื่องต้นทุนการผลิตเป็นหลัก

ทั้งนี้ทาทาต้องการให้ซับพลายเออร์ผลิตชิ้นส่วนจำนวน 60 แห่งตั้งอยู่โดยรอบของพื้นที่โรงงาน ซึ่งประเด็นนี้จะมีส่วนช่วยอย่างมากในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต และทำให้สามารถตั้งราคาขายได้ต่ำอย่างที่เคยประกาศเอาไว้ในตอนเปิดตัว

ในตอนแรกของการประท้วง ราทาน ทาทา ประธานของทาทา มอเตอร์สได้ออกมาขู่ว่าจะทำการย้ายโรงงาน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้กระแสความรุนแรงของการประท้วงลดลง แต่กลับเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และทำให้บรรดาคนงานที่ต้องเดินทางมายังโรงงานแห่งนี้ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายโดยผู้ประท้วง

สุดท้ายสายการผลิตที่เมืองซิกูร์ก็ต้องปิดตัวลง และทาทาจัดการย้ายไปยังเมืองซานันด์ รัฐคุชราต หลังจากได้พิจารณาหาสถานที่ตั้งแห่งใหม่รวมถึงข้อเสนอจากผู้บริหารรัฐต่างๆ ของอินเดีย

โรงงานที่เมืองซานันด์จะถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ประมาณ 1,100 เอเคอร์ ประกอบด้วย โรงงานหลัก พร้อมทั้งมีบริเวณสำหรับโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่ดำเนินการโดยพันธมิตร และพื้นที่สำหรับผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง โรงงานแห่งนี้จะเริ่มต้นผลิตรถยนต์ได้ 250,000 คันต่อปี และสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 500,000 คันต่อปี อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมได้กว่า 10,000 ตำแหน่ง

นายราทัน เปิดเผยว่า “การเลือกใช้พื้นที่รัฐ คุชราตจะช่วยให้ทาทา มอเตอร์ส สามารถสร้างฐานการผลิตรถรุ่น ‘นาโน’ ได้อย่างรวดเร็ว และเกิดความล่าช้าน้อยที่สุด โดยมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่ำที่สุด ทั้งนี้โครงการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวเป็นโครงการแรกของทาทา มอเตอร์สในรัฐนี้ และเป็นการขยายศักยภาพในการผลิตของบริษัทฯ เราจึงมีความยินดีที่โรงงานผลิตรถยนต์ของเราได้มีส่วนเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมของรัฐคุชราต ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของที่นี่ด้วย

อหังการโตโยต้า ขอขึ้นเป็นหมายเลข 1

ก่อนที่เรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและตลาดโลกจะกลายมาเป็นหัวข้อที่บริษัททั่วโลกให้ความสนใจ ตลาดรถยนต์เคยมีเซอร์ไพรส์ในช่วงกลางปีให้รับทราบ เมื่อความฝันของโตโยต้าในการก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทรถยนต์หมายเลข 1 ของโลกใกล้ที่จะกลายมาเป็นความจริงแล้ว

ศึกชิงความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ของโลกยกที่สองระหว่างโตโยต้า กับเจ้าของตำแหน่งอย่างจีเอ็ม หรือเจนเนอรัล มอเตอร์สเริ่มขึ้นแล้ว และดูเหมือนว่าผู้ท้าชิงจะออกตัวได้ดีกว่า เพราะว่ามียอดขายรถยนต์รวมทั่วโลกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2008 นำลิ่วไปก่อน

ทางด้านจีเอ็มเปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปีนี้มียอดขายในตลาดโลกลดลง 1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้มียอดขายลงมาอยู่ที่ 2.25 ล้านคัน สวนทางกับโตโยต้าที่มียอดขายเพิ่มขึ้น 2.7% ด้วยตัวเลข 2.41 ล้านคัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยอดขายลดลง แต่จีเอ็มกลับทำสถิติใหม่ในด้านยอดขายของ 3 ใน 4 ภูมิภาคหลัก ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกากลับมียอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง และในไตรมาสแรกนี้ก็ลดลงถึง 10% ส่วนภาพรวมของตลาดนอกสหรัฐอเมริกา ซึ่งคิดแล้วมีส่วนแบ่งเป็น 64% จากยอดขายรวมทั้งหมด มีตัวเลขเพิ่มขึ้น 8%

‘แม้ตลาดในสหรัฐอเมริกาจะยังต้องเผชิญกับแรงกดดันในเรื่องของปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ แต่เราก็ยังพอใจที่เห็นตลาดในภูมิภาคอเมริกาใต้, แอฟริกา และตะวันออกกลางมียอดขายเพิ่มขึ้น 20% เช่นเดียวกับตลาดเอเชียแปซิฟิกที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้น 6%’ จอห์น มิดเดิลบรู๊ค รองประธานด้านการตลาดของจีเอ็มเปิดเผย

สำหรับความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นของโตโยต้าในครั้งนี้มีการเปิดเผยว่าเป็นเพราะความตระหนักถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้บริโภคทั่วโลก ทำให้คนเริ่มหันมามองรถยนต์ขนาดเล็กที่มีความประหยัดน้ำมันกันมากขึ้น โดยเฉพาะโคโรลล่าซึ่งมียอดขายในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยอดขายปิกอัพในตลาดเมืองไทยที่มีตัวเลขเติบโตอย่างคงที่ก็มีส่วนช่วยเรื่องความสำเร็จในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

ปีที่แล้ว ศึกยกแรกของทั้งคู่จบลงด้วยต่างฝ่ายต่างกุมชัยชนะกันคนละฝั่ง โดยจีเอ็มเป็นบริษัทที่มียอดขายรถยนต์ทั่วโลกสูงที่สุด ขณะที่โตโยต้ากลายเป็นบริษัทที่มียอดการผลิตรถยนต์มากที่สุดในโลก และในปีนี้โตโยต้าหมายมั่นปั้นมือว่าจะชิงความเป็นที่ 1 จากทั้ง 2 ประเภทมาให้ได้

อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามบทสรุปของศึกในครั้งนี้จากการเปิดเผยตัวเลขยอดจำหน่ายรวมของปี 2008 ซึ่งตมปกติแล้วทั้งคู่จะเปิดเผยออกมาในช่วงมกราคม 2009 ว่าโตโยต้าจะสามารถแซงหน้าจีเอ็มได้อย่างที่ตัวเองต้องการหรือไม่

รัสเซียมาแรงเตรียมผงาดเบอร์ 1 ยุโรป

ด้วยขนาดประเทศและจำนวนประชากรที่มากแถมยังมีการขยายตัวในตลาดรถยนต์อย่างต่อเนื่องตามสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเหมือนกับจีนและอินเดีย ทำให้รัสเซียถูกมองว่าจะขึ้นเป็นตลาดรถยนต์หมายเลข 1 ของยุโรปแทนที่เยอรมนีอย่างแน่นอน และถ้าอัตราการขยายตัวของการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ที่ต่อเนื่องเหมือนกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เชื่อแน่ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะมาเร็วกว่าที่คิด และจะเกิดขึ้นภายในปี 2010

รายงานชิ้นนี้มาจากการวิจัยและวิเคราะห์โดยอาร์แอล โพล์ค แอนด์ โคซึ่งระบุว่าในตอนนี้ตลาดรัสเซียกำลังจะทวีความสำคัญอย่างต่อเนื่องเหมือนกับที่จีนและอินเดียเป็นอยู่ในตอนนี้ โดยเฉพาะบทบาทของการก้าวขึ้นเป็นตลาดรถยนต์ที่มีการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่มากที่สุดในยุโรปแทนที่เจ้าของเดิมคือเยอรมนี ซึ่งปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจของประชากรที่ดีขึ้นและทำให้รถยนต์ส่วนตัวกลายเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินความสามารถ

ในปี 2007 รัสเซียขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 4 ตามหลังเยอรมนี, อิตาลี และอังกฤษ หลังจากที่มีการเปิดเผยยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่มากถึง 2.35 ล้านคัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของรัสเซียที่มีตัวเลขนี้เกิดหลัก 2 ล้านคัน และถ้าอัตราการขยายตัวยังเป็นในลักษณะนี้ ภายในปี 2010 รัสเซียจะมีตัวเลขขยับขึ้นมาเป็น 3.7 ล้านคัน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในยุโรป

‘ในตอนนี้ถ้านับเฉพาะรายชื่อของผู้ผลิตรถยนต์ที่เข้ามาอยู่ในตลาด รัสเซียมีตัวเลขในส่วนนี้มากกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป’ อูลริช วินเซน หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์และที่ปรึกษาระดับสูงของอาร์แอล โพล์คกล่าว
‘สำหรับโตโยต้า นิสสัน มิตซูบิชิ ฮุนได เกีย และเชฟโรเลต รัสเซียคือตลาดที่พวกเขาให้ความสนใจและเตรียมพร้อมที่จะเข้าไปเก็บเกี่ยวยอดจำหน่าย’

นับจากการเพิ่มบทบาทในฐานะตลาดเกิดใหม่เมื่อต้นปี 2002 รัสเซียขยับจากยอดขายรถยนต์ใหม่ในจำนวน 1 ล้านคันมาสู่ระดับมากกว่า 2 ล้านคันในตอนนี้ หรือมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นถึง 140% เมื่อเปรียบเทียบเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ส่วนรถยนต์ที่ผูกขาดส่วนแบ่งในตลาดนั้นยังเป็นของลาดา แม้ว่าส่วนแบ่งตลาดจะลดฮวบจาก 70% ปี 2002 ลงมาอยู่ที่ 27% ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงปี 2010 ตามที่คาดการณ์ ลาดาก็จะยังคงความเป็นเจ้าตลาดเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าส่วนแบ่งตลาดจะลดลง และคาดว่า 80% ของรถยนต์ใหม่ที่จะทะเบียนจะเป็นแบรนด์จากต่างแดน

วิกฤตเศรษฐกิจส่งผลต่อมอเตอร์สปอร์ต

วิกฤตเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์หดตัวทั่วโลกกลายเป็นปัญหาที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่ออุตาหกรรมรถยนต์เท่านั้น แต่ในแวดวงมอเตอร์สปอร์ตก็พลอยฟ้าพลอยฝนโดนกันไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน

ข่าวแรกที่ถือว่าช็อคคนทั่วโลก คือ การประกาศถอนตัวออกจากการแข่งขัน F-1 ในปี 2009 อย่างเป็นทางการและกะทันหันของฮอนด้า เมื่อต้นเดือนธันวาคม โดยทางทาเคโอ ฟุคุอิ ประธานและซีอีโอของฮอนด้า มอเตอร์สเปิดแถลงข่าวชิ้นนี้ที่กรุงโตเกียว

เหตุผลของการตัดสินใจ แม้ไม่มีการระบุออกมาอย่าง
ชัดเจน แต่ทุกฝ่ายก็เสนอข่าวออกมาในทำนองที่ว่า ฮอนด้ากำลังหวั่นๆ กับพิษเศรษฐกิจที่กำลังพ่นอยู่ทั่วโลกว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของบริษัท และทีมแข่งของฮอนด้าก็ประสบปัญหาขาดทุน และผลาญเงินงบประมาณมาโดยตลอด สุดท้ายขอเลือกที่จะรักษาสถานภาพที่เป็นแกนหลักของบริษัทเอาไว้ก่อน เพราะอนาคตภายใต้คลื่นลมที่รุนแรงของพายุแห่งพิษเศรษฐกิจ อะไรก็เกิดขึ้นได้

หลังข่าวนี้หลุดออกมา ทำเอาหลายฝ่ายถึงกับตะลึงโดยเฉพาะพนักงานที่ต้องตกงานแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว โดยทางนิค ฟราย ซีอีโอของบริษัท ฮอนด้า เอฟ-วัน กล่าวว่าในตอนนี้มีผู้ที่สนใจจะเข้ามาเทคโอเวอร์กิจการ และทำงานต่อไป ซึ่งทางรอสส์ บรอวน์ ผู้ควบคุมทีมที่เพิ่งจะมีโอกาสแสดงฝีมือของตัวเองอย่างเต็มที่ในปี 2009 ก็บอกว่า ทีมอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และมีความแข็งแกร่งกว่าในปี 2008 อย่างมาก และมั่นใจว่าหากมีคนเข้ามาช่วยกู้สถานการณ์ได้ทัน ก็น่าที่จะสร้างผลงานได้อย่างดีแน่นอน

ขณะที่เบอร์นีย์ แอคเคิลสโตน ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของวงการ F-1 ในยุคปัจจุบัน ถึงกับออกมาเตือนว่า การถอนตัวของฮอนด้าคือ สัญาณเตือนที่อันตรายสำหรับ F-1 และโลกมอเตอร์สปอร์ต

และนั่นก็เป็นความจริง เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ทั้งออดี้และพอร์ชตัดสินใจยุติบทบาทการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตในสหรัฐอเมริกา โดยถอนตัวจากการแข่งขันรายการ AMLS หรือ American Le Mans Series ที่เข้าร่วมมานานั้งแต่ปี 2000

ตามด้วยการประกาศตัวทีมออกจากการแข่งขันแรลลี่ชิงแชมป์โลก หรือ WRC ของซูซูกิ ทั้งที่เพิ่งเข้าร่วมการแข่งขันได้เพียงปีเดียว ตามด้วยทีมโรงงานของซูบารุภายใต้ชื่อ SWRT ก็ถอนตัวออกจากรายการนี้เช่นกันซึ่งทั้งหมดล้วนมาจากเหตุผลเดียวกันคือ การลดค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาสถานภาพของบริษัทท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ

ส่วนโตโยต้าเองยังยืนยันส่งทีมโรงงานเข้าร่วมการแข่งขัน F-1 ปี 2009 ต่อไป แม้ว่าปีธุรกิจ 2008 มีแนวโน้มว่าบริษัทจะประสบปัญหาขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบกว่าครึ่งศตวรรษก็ตาม และพร้อมทุ่มงบประมาณในการทำทีมที่ถือว่าสูงสุดในบรรดาทีมต่างๆ ของ F-1 ปี 2009 ด้วยตัวเลข 445 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 15,500 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น