xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ไทยยังแข็งแกร่งจากบทเรียนต้มยำกุ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตอนนี้ใครที่อยู่ในแวดวงเศรษฐกิจ - การเงิน ถ้าไม่รู้จักวิกฤตการเงินของสหรัฐอเมริกา คงต้องเรียกว่าตกข่าวครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต เพราะปัญหาดังกล่าวลุกลามกลายเป็นปัญหาระดับนานาชาติ ผลกระทบที่เกิดขึ้นขยายวงกว้างออกจากสหรัฐฯไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปที่ได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า ตอนนี้เราขอย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทยกันบ้างว่า ทางผู้บริหารภาคธุรกิจเเละเอกชน อย่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม นักวิเคราะห์ เเละนักวิชาการ มองผลกระทบวิกฤตการเงินสหรัฐเที่กิดขึ้นนั้นส่งผลกับประเทศไทยอย่างไรบ้าง เเละมีวิธีการเเก้ไขอย่างไร

วรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุนและกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด กล่าวถึงวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ต่อประเทศไทยว่า แม้วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นจะร้ายแรง แต่ในส่วนของธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการป้องกันที่ดีมาก ในเเง่ของการดูเเลเงินตราที่จะไหลไปต่างประเทศ หรือเงินต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย

ทั้งนี้หลังจากวิกฤตการเงินเเละฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 ประเทศไทยได้รับบทเรียน ทำให้รู้จักระวังตัวตลอดเวลา พร้อมทั้งมีแผนรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามวิกฤตที่เกิดขึ้นคงส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ส่วนที่น่ากังวลคือ ธนาคารพาณิชย์ เพราะต้องยอมรับว่าผลกระทบทางการเงินนั้นส่งผลไปทั่วโลก หรือที่เรียกว่า Inter Bank เเต่เชื่อว่าหลายประเทศได้เตรียมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมไปถึงประเทศไทยเองก็เตรียมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นกัน

ด้าน เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด มองว่า วิกฤตปี 2540 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ถือว่าเป็นบทเรียนหนึ่งที่น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่ามาตรการที่สหรัฐฯใช้เเก้ปัญหานั้นยังไม่ตรงจุด โดยสิ่งที่ภาครัฐของสหรัฐควรจะรีบดำเนินการคือ 1.ปรับโครงสร้างหนี้จากเดิมที่ต้องยึดสินทรัพย์เเละนำมาขายทอดตลอด ซึ่งจะทำให้ทางสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อต้องสูญเงินเป็นจำนวนมาก ต่างกับการเรียกลูกหนี้มาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ซึ่งสถาบันการเงินจะไม่ต้องสูญเงินไป

"ผมขอยกตัวอย่าง เช่น บ้านราคา 100 บาท ถ้านำไปขายทอดตลาด ด้วยสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้เสี่ยงต่อการขายไม่ออก หรือโดนกดราคา 100 บาทอาจได้คือมา เเค่ 30 บาท สถาบันการเงินจะสูญเงินไปถึง 70 บาท ตรงกันข้ามหากมีการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนึ้ ทางเจ้าหนี้อาจได้เงินคืนมา 80 บาท ซึ่งระหว่างทางสูญเงินไปเพียง 20 บาทเท่านั้น"* เศรษฐพุฒิ กล่าว

ส่วนข้อที่ 2 คือ การเพิ่มทุนให้กับสถาบันทางการเงิน โดยอาจจะเป็นการเพิ่มเงินให้กับสถาบันการเงินทางอ้อม เช่น ไรท์ดาวน์เข้าไป 500,000 ล้านดอลลาร์ โดยรัฐอาจจะออกให้ 200,000 ล้านดอลาร์ เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินนั้นเอง

นักวิชาการมองวิกฤติการเงินส่งผลดีกับโอบาม่า

อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองกับเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันไม่เว้นแม้แต่ต้นตำหรับของประชาธิปไตยอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยตอนนี้ทั่วโลกจับตามองไปที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะเกิดขึ้น เราลองมาดูเเวดวงนักวิชาการกันบ้างว่า พวกเขาคิดกันอย่างไร

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นร้อนเกี่ยวกับวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในวอลล์สตรีต และบานปลายกลายเป็นปัญหาของทุกประเทศ ในมุมมองต่อประโยชน์ในการหาเสียงเพื่อช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างบารัค โอบามา และจอห์น แม็คเคนว่าโดยทั่วไปหากเป็นประเด็นเรื่องทหาร การรบ ความรุนแรง เหตุการณ์ 9/11 หรือเหตุระเบิด คนอเมริกันมักจะเชื่อใจพรรครีพับลิกันมากกว่า แต่ถ้าเป็นปัญหาปากท้อง หรือประเด็นด้านเศรษฐกิจ พรรคเดโมแครตจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ โดยเฉพาะหากวิกฤตการเงินรอบนี้ยิ่งบานปลายและยืดเยื้อ

"ตอนนี้วิกฤตยังอยู่ในระยะเริ่มแรก ฟองสบู่เพิ่งแตก แต่ต้องดูว่าถ้ามีอากาศในฟองสบู่มาก ก็มีโอกาสเจ็บตัวมาก และต้องดูวิธีที่ฟองสบู่แตกด้วยว่า มันค่อยๆ แตก หรือแตกโพละ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมาตรการรับมือว่าจะได้ผลแค่ไหน แต่อย่างไงเศรษฐกิจอเมริกาก็ยังจะแย่อยู่ดี และไม่แน่ว่า 7 แสนล้านดอลลาร์จะพอหรือไม่ในการจะซื้อหนี้เสียจากการปล่อยสินเชื่อโดยไม่ระมัดระวังมาตลอดหลายปี ทำให้คนซื้อบ้านหลังที่ 2 โดยไม่ต้องดาวน์ แล้วมาปล่อยเช่าต่อ จนเกิดปัญหาซับไพรมที่ลามไปถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์และสถาบันการเงินทั้งหลาย ซึ่งผมคิดว่า 7 แสนล้านดอลลาร์อาจจะไม่พอ เพราะต้องดูถึงความเสียหายที่แท้จริง และจิตวิทยาความเชื่อมั่น หากคนไม่เชื่อมั่นก็ยิ่งจะบานปลาย แต่หากมาตรการต่างๆ เรียกความเชื่อมั่นได้ และหนี้เน่าที่แท้จริงอยู่ในวงที่กองทุนรับมือได้ก็ยังพอเยียวยาได้”

ฐิตินันท์ กล่าวว่า ตอนนี้นับว่า โอบามา ค่อนข้างได้เปรียบเมื่อดูจากผลการสำรวจความคิดเห็นในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา และโดยทั่วไปปัญหาปากท้อง วิกฤตการเงินที่อาจบานปลายจะเข้ามือโอบามามากกว่าแม็คเคน

ด้านสก๊อต คลุก กรรมการผู้จัดการฝ่ายกิจการประชาสัมพันธ์ บริษัท กฏหมายระดับประเทศ Foley and Larcher กล่าวเห็นด้วยกับความเห็นของดร.ฐิตินันท์ที่บอกว่า วิกฤตการเงินน่าจะช่วยโอบามามากกว่า ดังที่เห็นจากคะแนนนิยมของโอบามาเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ปัญหาเรื่องปากท้องก็อาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อพรรคเดโมแครตเสมอไป ยกตัวอย่างในปี 1980 ช่วงที่ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ก็เป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหา และมีกระแสว่าเดโมแครตจะมา แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะต้องดูว่าใครเป็นผู้มีอำนาจในวอชิงตันที่คุมเศรษฐกิจด้วย

"ส่วนของประเทศไทย คงต้องฝากภาระหน้าที่ในการดูเเลนโยบายเศรษฐกิจ ไว้กับ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ และรัฐมนตรีคลัง สุชาติ ธาดาธำรงเวช ถึงเเม้หลายฝ่ายจะมองกันว่าทั้งสองยังไม่สามารถ ระบุผลกระทบวิกฤติการเงินสหรัฐอมริกาว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้อย่างชัดเจนก็คงต้องติดตามดูการทำหน้าที่กันต่อไป" สก๊อต กล่าว

ที่มารูป : voteford70change.com
กำลังโหลดความคิดเห็น