xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นสภาผู้แทนฯUSลงมติ ร่างกม.ซื้อสินทรัพย์แบงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ผมคาดหวังว่าเสียงส่วนข้างมากในแบบร่วมมือกันทุกพรรคฝ่าย จะให้การสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวดในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศชาติของเรามีเสถียรภาพ ทั้งนี้ก็เพื่อชาวอเมริกันผู้ทำงานทุกๆ คน" ส.ส.สเตนี ฮอยเออร์ ของพรรคเดโมแครต ในฐานะผู้นำเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ออกคำแถลง
และขณะที่สภาผู้แทนราษฎรเริ่มการอภิปรายตั้งแต่เวลา 9.00 น. ตามเวลาของกรุงวอชิงตันวานนี้ (ตรงกับ 20.00 น.เวลาเมืองไทย) บรรดา ส.ส.ที่ขึ้นพูดต่างก็ใช้ถ้อยคำอันแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกที่แรงกล้า
"วันนี้เราโหวตให้แก่กฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่มีความสมบูรณ์เลย และสถานการณ์ก็กำลังย่ำแย่มาก" ส.ส.โจ วิลสัน ของพรรครีพับลิกันกล่าวอภิปรายในสภา "แต่ผมหวังว่าสภาจะไม่ทำให้ประชาชนชาวอเมริกันผิดหวัง ด้วยการบอกว่าร่างกฎหมายนี้สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ เพราะมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น" เขากล่าวต่อพร้อมกับเรียกร้องว่าอุตสาหกรรมบริการทางการเงินจำเป็นต้องมีการกำกับตรวจสอบ
ร่างกฎหมายซึ่งเป็นแผนการใช้เงินราว 700,000 ล้านดอลลาร์ ช่วยซื้อสินทรัพย์มีปัญหาจากพวกสถาบันการเงิน เพื่อทะลุทะลวงภาวะอุดตันของระบบการเงินฉบับนี้ ในร่างเดิมได้ถูกสภาผู้แทนราษฎรลงมติคว่ำไปเมื่อวันจันทร์(29ก.ย.) แต่หลังจากมีการแก้ไขประเด็นเรื่องขยายวงเงินค้ำประกันเงินฝากในธนาคารต่างๆ ตลอดจนเพิ่มมาตรการหั่นลดภาษีให้แก่ธุรกิจ, บุคคล, และการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมเป็นมูลค่าประมาณ 150,000 ล้านดอลลาร์แล้ว ก็สามารถผ่านสภาสูงไปได้อย่างง่ายดาย ทำให้เกิดความหวังกันเพิ่มมากขึ้นว่า สภาล่างน่าจะเดินตามอย่าง
ความหวังนี้ดูจะสูงขึ้นอีก ภายหลังการอภิปรายในสภาล่างวานนี้ผ่านไปราว 1 ชั่วโมง จอห์น โบห์เนอร์ ผู้นำ ส.ส.รีพับลิกันได้ออกมาแถลงว่า จากการคว่ำกฎหมายฉบับนี้ในร่างเดิมไปเมื่อวันจันทร์ เวลานี้ก็ได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นแล้ว ถึงแม้ยังไม่มีความสมบูรณ์ แต่ก็เห็นชัดว่าดีขึ้นเมื่อเมื่อสัปดาห์ก่อน
"ผมมองโลกในแง่ดีสำหรับวันนี้ เราไม่ได้ปล่อยให้อะไรเกิดขึ้นไปตามใจหรอก เรากำลังดำเนินการพูดจากับสมาชิกของเรากันอยู่ แต่มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงมือปฏิบัติการกัน" เขากล่าว
ก่อนหน้านั้น ผู้สมัครชิงตำแหน่งชิงประธานาธิบดีจากทั้ง 2 พรรค คือ บารัค โอบามา แห่งเดโมแครต และ จอห์น แมคเคน ของรีพับลิกัน ซึ่งต่างได้ลงมติเห็นชอบกับร่างกฎหมายนี้ในวุฒิสภา ก็ได้ออกมาผลักดันบรรดา ส.ส.ให้พิจารณาอนุมัติใหม่โดยเร็ว
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เข้าร่วมการออกแรงกดดันสภาผู้แทนราษฎรด้วย โดยเตือนว่าประชาชนอเมริกันกำลังตกอยู่ในอันตรายที่จะต้องสูญเสียงานทำ
"ประเด็นปัญหานี้ได้ขยายเกินเลยไปจากนิวยอร์กและวอลล์สตรีทไปแล้ว นี่เป็นประเด็นปัญหาที่กำลังมีผลกระทบกระเทือนประชาชนผู้ทำงานหนัก" บุชกล่าวในวันพฤหัสบดี(2) โดยเป็นครั้งที่ 14 ในรอบ 15 วันที่ผ่านมาซึ่งเขาออกมาพูดเรียกร้องสมาชิกรัฐสภาให้สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้
ทางด้าน แซค แวมป์ ส.ส.รีพับลิกันบอกกับข่าวโทรทัศน์ฟอกซ์นิวส์ในวันพฤหัสบดี ยอมรับว่าชาวอเมริกันยังคงโกรธเกรี้ยวเรื่องที่มีการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ช่วยเหลือความผิดพลาดของวอลล์สตรีท "แต่คุณก็ต้องทำสิ่งที่คุณคิดว่าถูกต้อง ผมคิดว่าเป็นเรื่องถูกต้องในวันจันทร์ที่จะโหวตไม่รับรอง และผมคิดว่าสิ่งที่ถูกต้องที่จะทำในวันพรุ่งนี้ก็คือการไปโหวตรับรอง"
ส่วน ส.ส.จอห์น แชดเดกก์ ผู้นำคนหนึ่งในกลุ่มอนุรักษนิยมจัดที่ออกเสียงคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ในวันจันทร์ อีกทั้งเรียกร้องให้รัฐมนตรีคลัง เฮนรี พอลสัน ลาออก ได้บอกกับสถานีวิทยุแห่งหนี่งในมลรัฐที่เป็นเขตเลือกตั้งของเขาว่า หลังมีการแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายแล้ว เขาคิดว่าน่าจะให้การสนับสนุนได้
ทางด้าน จิม แรมสแต็ด ส.ส.รีพับลิกันอีกคนหนึ่งที่เคยคัดค้าน ก็พูดแสดงท่าทีเช่นกันว่า เขาได้เปลี่ยนใจแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองบอกว่าร่างกฎหมายแก้ไขปรับปรุงใหม่แล้วนี้จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ ยังไม่ใช่เรื่องที่ชัดเจนเลย เพราะถึงอย่างไรก็มี ส.ส.รีพับลิกันหลายคนกล่าวว่ายังคงไม่เห็นด้วย ขณะที่ ส.ส.เดโมแครตบางคนกล่าวว่าพอมาแก้ไขเช่นนี้ ก็เลยต้องเปลี่ยนมาคัดค้าน
**เวลส์ ฟาร์โก ตัดหน้าซิตี้กรุ๊ป ซื้อวาโคเวีย**
ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังจะเริ่มการอภิปรายร่างกฎหมายลุ้นระทึกทั่วโลก ทางด้าน เวลส์ ฟาร์โก แอนด์ โค หนึ่งในธนาคารสหรัฐฯที่ยังคงมีฐานะแข็งแกร่ง ก็ประกาศวานนี้ว่า ได้ตกลงเข้าไปซื้อธนาคาร วาโคเวีย คอร์ป แบงก์ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของสหรัฐฯเมื่อวัดจากมูลค่าสินทรัพย์ และเป็นอันยุติข้อตกลงที่วาโคเวียทำไว้กับซิตี้กรุ๊ปเมื่อวันจันทร์(29ก.ย.) ที่ซิตี้กรุ๊ปจะเทคโอเวอร์เฉพาะกิจการด้านการธนาคารของวาโคเวีย
เวลส์ ฟาร์โก แจ้งว่า จะซื้อวาโคเวียทั้งกิจการ ในราคาเท่ากับ 15,100 ล้านดอลลาร์ โดยชำระด้วยการเอาหุ้นของตนมาแลกกับหุ้นวาโคเวีย และจะดำเนินการโดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วย แตกต่างจากข้อตกลงของซิตี้กรุ๊ป ที่จะซื้อสินทรัพย์เฉพาะด้านธนาคารของวาโคเวียในราคา 2,160 ล้านดอลลาร์ โดยที่หน่วยงานของรัฐเข้ามาเป็นตัวกลาง รวมทั้งรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

**วิกฤตการเงิน"ตัวแปร"เลือกตั้ง
วานนี้ ( 3 ต.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา และสำนักข่าวสารอเมริกัน จัดรายการราชดำเนินเสวนา เรื่อง นับถอยหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ เจาะลึกนโยบายเศรษฐกิจ- การเมือง และผลกระทบต่อไทย
โดยนายสก๊อต คลุก กรรมการผู้จัดการฝ่ายกิจการประชาสัมพันธ์ บริษัทกฎหมายโฟเลย์ แอนด์ ลาร์ดเนอร์ และอดีตสมาชิกสภาคองเกรส รัฐวิสคอนซิน จากพรรครีพับลิกัน ระบุว่า ในระบบ
เลือกตั้งของสหรัฐฯ การเลือกตั้งประธานาธิบดี จะต้องได้คะแนนเสียงจากผู้แทนจาก 51 รัฐซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะเลือกผู้สมัครรายใด จำนวนมาก ดังนั้น การดีเบตระหว่างผู้สมัครชิงเก้าอี้ ประธานาธิบดี จึงมีผลต่อคนกลุ่มนี้ ขณะที่สื่อมวลชนสหรัฐฯ ก็มีส่วนต่อการตัดสินใจของประชาชนมากเช่นกัน เพราะแม้คนเหล่านี้จะมีความเห็นของตัวเอง แต่ก็อาจไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของผู้สมัครแต่ละคน และบางเรื่อง ก็ซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจได้เอง การนำเสนอข้อมูลของสื่อจึงมีผลต่อการตัดสินใจของคนกลุ่มนี้
เมื่อถามถึงประเด็นร้อนเกี่ยวกับวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในวอลล์สตรีต ซึ่งบานปลายกลายเป็นปัญหาของทุกประเทศอยู่ตอนนี้ ใครจะได้ประโยชน์จากวิกฤตครั้งนี้มากกว่ากัน ระหว่าง บารัค โอบามา และจอห์น แม็คเคน รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า หากเป็นประเด็นเรื่องทหาร การรบ ความรุนแรง เหตุการณ์ 9/11 หรือเหตุระเบิด คนอเมริกันมักจะเชื่อใจพรรครีพับลิกันมากกว่า แต่ถ้าเป็นปัญหาปากท้อง หรือประเด็นด้านเศรษฐกิจ พรรคเดโมแครต จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ โดยเฉพาะหากวิกฤตการเงินรอบนี้จะบานปลาย และยืดเยื้อหรือไม่ ตอนนี้ต้องจับตาผลการโหวตของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 3 ต.ค. ว่าจะผ่านแผนอุ้มสถาบันการเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ หรือไม่
"แต่ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ เศรษฐกิจอเมริกา ก็ยังจะแย่อยู่ดี และไม่แน่ว่า 7 แสนล้านดอลลาร์จะพอหรือไม่ในการจะซื้อหนี้เสียจากการปล่อยสินเชื่อ โดยไม่ระมัดระวังมาตลอดหลายปี ทำให้คนซื้อบ้านหลังที่ 2 โดยไม่ต้องดาวน์ แล้วมาปล่อยเช่าต่อ จนเกิดปัญหาซับไพรม์ ที่ลามไปถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการเงินทั้งหลาย ซึ่งผมคิดว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ อาจจะไม่พอ เพราะต้องดูถึงความเสียหายที่แท้จริง และ จิตวิทยาความเชื่อมั่น หากคนไม่เชื่อมั่น ก็ยิ่งจะบานปลาย แต่หากมาตรการต่างๆ เรียกความเชื่อมั่นได้ และหนี้เน่าที่แท้จริงอยู่ในวงที่กองทุนรับมือได้ ก็ยังพอเยียวยาได้ "
อ.ฐิตินันท์ กล่าวว่า โอบามา ค่อนข้างได้เปรียบ เมื่อดูจากผลการสำรวจความคิดเห็นในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา และโดยทั่วไปปัญหาปากท้อง วิกฤตการเงินที่อาจบานปลาย จะเข้ามือโอบามา มากกว่า แม็คเคน
ด้านนายคลุก ระบุว่า เห็นด้วยกับความเห็นของ อ.ฐิตินันท์ ที่บอกว่า วิกฤตการเงินน่าจะช่วยโอบามา มากกว่า ดังที่เห็นจากคะแนนนิยมของโอบามา เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ปัญหาเรื่องปากท้อง ก็อาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อพรรคเดโมแครตเสมอไป ยกตัวอย่างในปี 1980 ช่วงที่ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ก็เป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหา และมีกระแสว่าเดโมแครต จะมา แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะต้องดูว่าใครเป็นผู้มีอำนาจในวอชิงตันที่คุมเศรษฐกิจด้วย

**พลังเงียบตัดสินแพ้-ชนะ
นายคลุก กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าคนกลุ่มไหน จะมีบทบาทชี้ขาดผลเลือกตั้ง เพราะประเด็นที่ใช้หาเสียงมีหลากหลาย ทั้งเศรษฐกิจ บริการสุขภาพ ภาษี พลังงาน แต่ยังมีคนอีก 12% ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกใคร ซึ่งนอกเหนือจากประเด็นด้านเศรษฐกิจ และการก่อการร้ายในอิรัก ยังให้ความสนใจ เรื่องอายุของผู้สมัครจากรีพับลิกัน ซึ่งหากแม็คเคน ชนะเลือกตั้ง ก็จะเป็นประธานาธิบดีที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ส่วนโอบามา ก็มีคำถามว่า คนอเมริกัน พร้อมรับประธานาธิบดีคนแรก ที่เป็นคนผิวดำหรือไม่
ด้าน อ.ฐิตินันท์ ระบุว่า สังคมอเมริกัน ก็มีความแตกแยกเหมือนบ้านเรา โดย ผลเลือกตั้งมักจะออกมา 40 กว่า ต่อ 50 กว่า จะไม่ใช่ 70 ต่อ 30 ขณะที่จำนวนคนออกมาใช้สิทธิในอเมริกา ก็ไม่ได้มากนัก แค่ประมาณ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ เมื่อดูคนที่ออกมาใช้สิทธิ จะมีผู้ที่สนับสนุนรีพับลิกัน และเดโมแครต อีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่ไม่อิงพรรคใด
แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ คนหนุ่มสาวเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งโอบามา สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นประโยชน์ได้มากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว และคนกลุ่มนี้ก็คือคนที่ไม่ค่อยออกไปใช้สิทธิในอดีตนั่นเอง แต่สำคัญว่าใครจะดึงคนในพรรคออกมาใช้สิทธิได้มากเท่าไร

**จับตา “สีผิว-รองประธานาธิบดี”
อ.ฐิตินันท์ กล่าวว่า เลือกตั้งครั้งนี้มี 3 ประเด็น หลักๆ ที่จะตัดสินผล คือ 1. คนแก่ VS คนดำ ซึ่ง 30 ปีที่แล้ว คนสหรัฐฯ ยังเหยียดสีผิวกันมาก และแม้ตอนนี้สังคมอเมริกันจะเปลี่ยนไปมาก เนื่องจากมีคนต่างชาติเข้าไปมาก แต่ที่สำคัญ คือ เปลี่ยนไปมากพอที่จะเปิดรับคนครึ่งขาว ครึ่งดำ ที่มี
ภรรยาเป็นคนผิวดำ มาเป็นประธานาธิบดีหรือไม่ แม้จะมีผลสำรวจระบุว่า สีผิวไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ แต่เมื่อถึงเวลาเลือกเป็นเช่นนั้นหรือไม่
2.รองประธานาธิบดี ซึ่งซาราห์ เพลิน อาจเป็นความเสี่ยงของแม็คเคน มากกว่าที่ โจ ไบเดน เป็นจุดเสี่ยงของเดโมแครต เพราะ เพลิน มีความรู้ด้านเศรษฐกิจน้อยกว่า และผลงานในอลาสก้า ก็ไม่ได้โดดเด่น
3.ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ในช่วงโค้งสุดท้าย มักมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อ
คะแนนเสียง เช่น หากจับกุม บิน ลาเดนได้ ก็อาจเป็นประโยชน์ต่อ แม็คเคน มากกว่า
ด้าน คลุก กล่าวว่า สำหรับเรื่องสีผิวนั้น คนอเมริกันมาไกลมากแล้วในเรื่องการยอมรับสีผิว ดูอย่าง ไมเคิล จอร์แดน (นักบาสเก็ตบอล) แม้จะยังมีบางส่วน ก็เป็นจำนวนน้อยเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วใครจะชนะ ไม่ใช่เป็นเพราะคนอเมริกันไม่อยากให้คนผิวดำเป็นประธานาธิบดีหรือไม่ แต่เป็นเพราะคนๆ นั้นมีความเหมาะสมที่จะเป็นประธานาธิบดีมากกว่า
สำหรับประเด็นเรื่องรองประธานาธิบดีนั้น มีคนมองว่าการเลือก โจ ไบเดน มาเติมเต็มส่วนที่โอบามาขาด ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การเลือก ซาราห์ เพลิน มาช่วยแม็คเคน ค่อนข้างเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์
นายคลุก กล่าวว่า คุณสมบัติของเพลินนั้น มีการพูดถึงมานานแล้ว แต่ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าเพลิน เป็นผลดีต่อแม็คเคนหรือไม่
อ.ฐิตินันท์ กล่าวว่า ต้องดูว่าเพลิน จะเรียนรู้ในระยะเวลาสั้นได้มากขนาดไหน แต่เธอเป็นผู้หญิงที่ตรงข้ามกับ ฮิลลารี คลินตัน เพลิน เป็นตัวแทนของสุภาพสตรี แต่มีแนวคิดแบบรีพับลิกัน และมีภาพลักษณ์ของ เอาต์ดอร์ ในแบบรีพับลิกัน ทั้งล่าสัตว์ ยิงปืน แต่เธอแสดงความอ่อนหัดออกมา ดังนั้นเธอต้องเรียนรู้เรื่องต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพราะตอนนี้เริ่มมีคนเรียกร้องให้ถอนตัว ขณะที่เมื่อเทียบกับ โจ ไบเดน คู่หูโอบามา แม้จะน่าเบื่อ แต่ชัวร์กว่าไม่มีความเสี่ยงเท่า เพลิน

**ไทยเตรียมรับความเปลี่ยนแปลง
เมื่อให้กูรูทั้ง 2 เปรียบเทียบนโยบายของ 2 ผู้สมัคร อ.ฐิตินันท์ กล่าวว่า หากโอบามาชนะ ประเด็นเรื่อง แรงงาน ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน จะมีน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งจะเป็นความท้าทายต่อไทย แต่ถ้าแม็คเคน ชนะ ความสัมพันธ์ ระหว่างสหรัฐ-เอเชีย สหรัฐ-ไทย ภายใต้รัฐบาลรีพับลิกันน่าจะราบรื่นกว่า
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะชนะ ก็ต้องเผชิญความท้าทาย เพราะที่ผ่านมา ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-เอเชีย ไม่ได้เป็นแบบพหุภาคี แต่พึ่งทวิภาคี กับบางประเทศมากกว่า แต่ต่อไปสหรัฐฯ จะต้องเริ่มคิดถึงกรอบพหุภาคีมากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะ เสียเปรียบจีน ที่ให้ความสำคัญกับเอเชียอย่างมาก
ขณะที่ นายคลุก มองว่าไม่ว่าใครจะชนะ สหรัฐฯ จะยังให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนเดิม เพราะทั้งโอบามา และแม็คเคน มีความผูกพันกับภูมิภาคนี้ โดยโอบามา เติบโตที่นี่ ขณะที่แม็คเคน เคยเป็นทหารรบในสงครามเวียดนาม แต่ประเด็นการค้าเสรี ไม่น่าจะเปลี่ยนไปมาก เพราะเรื่องนี้สำคัญต่อสหรัฐฯ มากเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น