xs
xsm
sm
md
lg

รบ.-สภาสหรัฐฯตกลงกันได้ แผน$7แสนล.กู้วิกฤตสดใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี/นิวยอร์กไทมส์ – แผน 7 แสนล้านดอลลาร์ช่วยชีวิตสถาบันการเงินสหรัฐฯ และแก้ปมวิกฤตสินเชื่อที่คุกคามเศรษฐกิจทั่วโลก ทำท่าเสร็จเรียบร้อยได้ก่อนตลาดเอเชียเปิดทำการเช้าวันนี้ (29) โดยบรรดาผู้นำรัฐสภาอเมริกัน และคณะรัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช วานนี้ใช้เวลาตกแต่งจัดทำรายละเอียดขั้นสุดท้าย หลังเจรจาตลอดทั้งคืนวันเสาร์(27) จนตกลงแก้ไขประเด็นสำคัญๆ กันได้

ภายหลังเจรจากันอย่างมาราธอนตลอดคืนวันเสาร์จนย่างเข้าชั่วโมงแรกๆ ของเช้าวันอาทิตย์ รัฐมนตรีคลัง เฮนรี พอลสัน พร้อมด้วยบรรดาผู้นำรัฐสภาจากทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ก็ออกมาแถลงข่าวว่ามีความคืบหน้าไปอย่างใหญ่หลวง ขณะที่มีรายงานว่าพวกเขาสามารถทำความตกลงกัน ในการแก้ไขส่วนสำคัญๆ ของแผนการกอบกู้ช่วยชีวิตวอลล์สตรีท ซึ่งริเริ่มเสนอโดยคณะรัฐบาลบุช

การเจรจาที่ดำเนินอยู่ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยที่มีการพลิกกลับไปมาอยู่หลายตลบ ได้ทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วน รวมทั้งพลิกผันเส้นทางของการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 6 สัปดาห์ก็จะถึงวันเลือกตั้งแล้ว

“เราคืบหน้าไปได้ใหญ่หลวงเพื่อไปสู่การทำข้อตกลง ซึ่งจะใช้ได้ผล และจะมีประสิทธิภาพเมื่อนำไปใช้ในตลาด” พอลสันกล่าวในการแถลงข่าว

ขุนคลังสหรัฐฯต้องแสดงฝีมือในการต่อรองและล็อบบี้อย่างเต็มสูบ เพื่อผลักดันแผนการคราวนี้ ซึ่งจะกลายเป็นมาตรการชุบชีวิตภาคการเงินการธนาคารให้พ้นจากภาวะล้มละลายที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยเขาพยายามแจกแจงว่า มันจะช่วยให้ตลาดสินเชื่อซึ่งกำลังถูกโถมทับด้วยปัญหาสินทรัพย์เน่าเสียที่ส่วนใหญ่อิงกับสินเชื่ออสังริมทรัพย์ สามารถกลับฟื้นขึ้นมาทำหน้าที่ตามปกติได้ใหม่ ทั้งนี้หากตลาดสินเชื่อยังคงอยู่ในอาการชะงักงันแล้ว ก็ไม่แคล้วที่จะต้องกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯหรือของทั่วโลก

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ในชั่วโมงท้ายๆ ของการเจรจากัน สมาชิกรัฐสภาหลายคนของฝ่ายเดโมแครต ต้องทำหน้าที่เป็นคนถือร่างแผนการนี้ซึ่งจัดทำในรูปของกฎหมายเสนอให้รัฐสภาอนุมัติ เดินกลับไปกลับมาระหว่างสำนักงานของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เปโลซี ซึ่งพวกเดโมแครตใช้เป็นศูนย์บัญชาการ กับสำนักงานของ ส.ส.จอห์น โบห์เนอร์ แห่งพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นผู้นำเสียงข้างน้อยในสภา และก็เป็นที่ชุมนุมของขุนคลังพอลสัน ตลอดจนชาวรีพับลิกันคนอื่นๆ

ในเวลาเดียวกัน ยังมีการพูดคุยโทรศัพท์กันเป็นชุดใหญ่ อาทิ การสนทนาระหว่างเปโลซีกับประธานาธิบดีบุช, ระหว่างพอลสันกับ 2 ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยต่อไป นั่นคือ วุฒิสมาชิก จอห์น แมคเคน ของรีพับลิกัน และ วุฒิสมาชิก บารัค โอบามา ของเดโมแครต, ตลอดจนระหว่างผู้สมัครสองคนนี้กับผู้นำของรัฐสภา

ขณะที่รอยเตอร์บอกว่า มีอยู่ช่วงหนึ่ง สมาชิกรัฐสภาหลายคนยังได้โทรศัพท์ปรึกษาหารือกับอภิมหาเศรษฐี วอร์เรน บัฟเฟตต์ ผู้ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ลงทุนเป็นเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์ใน โกลด์แมนแซคส์ อีกทั้งออกมาเตือนว่า ตลาดกำลังอยู่ใน “สถานการณ์อันตราย” และกำลังอยู่บนขอบเหวแห่งการพังครืน

“เราคืบหน้าไปได้ใหญ่หลวง” เปโลซีกล่าวย้ำคำพูดของพอลสัน ในระหว่างการแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการเจรจาเมื่อย่างเข้าวันใหม่วันอาทิตย์ “ทั้งหมดเหล่านี้ได้กระทำไปในวิถีทางที่มุ่งจะปกป้อง ‘เมนสตรีท’ (ธุรกิจขนาดเล็ก) และสามัญชนชาวอเมริกัน ให้พ้นจากวิกฤตในวอลล์สตรีท” เธอบอก “เราจะต้องทำสิ่งที่ตกลงกันได้นี้ลงไปในกระดาษเพื่อที่เราจะสามารถให้คำมั่นสัญญาอย่างเป็นทางการ แต่ดิฉันต้องขอแสดงความยินดีต่อท่านผู้เจรจาทุกท่านสำหรับผลงานอันยิ่งใหญ่ที่พวกท่านได้กระทำไป”

ในเวลาต่อมา ทำเนียบขาวโดยรองโฆษก โทนี แฟรตโต ก็ได้ออกคำแถลงบอกว่า “เรามีความยินดีสำหรับความคืบหน้าในคืนนี้ และรู้สึกซาบซึ้งในความพยายามแบบไม่คำนึงถึงพรรคฝ่ายเพื่อทำให้ตลาดการเงินของเรามีเสถียรภาพ และพิทักษ์ปกป้องเศรษฐกิจของเรา”

มีรายงานว่ารัฐสภาสหรัฐฯพยายามทำงานแข่งกับเวลา เพื่อให้บรรลุข้อตกลงกันได้ก่อนที่ตลาดการเงินทางแถบเอเชียจะเปิดทำการในวันจันทร์วันนี้(29) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ซ้ำรอยสัปดาห์ที่แล้วที่เกิดความปั่นป่วนอย่างหนัก

แม้จะเป็นที่คาดหวังกันทั่วไปว่า หลังจัดทำเป็นร่างกฎหมายเรียบร้อยแล้ว จะมีการส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณากันเมื่อวานนี้ โดยที่สภานัดประชุมในเวลาบ่ายโมง (ตรงกับเที่ยงคืนเมื่อคืนนี้ เวลาเมืองไทย) แล้วจึงส่งต่อไปวุฒิสภา ทว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า จะจัดทำร่างกฎหมายกันได้ทันกำหนดหรือไม่ หรือต้องเลื่อนมาพิจารณาในวันนี้ นอกจากนั้น ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่า สภาทั้งสองจะอนุมัติแผนการนี้กันได้เมื่อใด ตลอดจนจะเกิดอุปสรรคข้อขัดข้องขึ้นมาอีกในนาทีสุดท้ายหรือไม่

ความไม่แน่นอนเช่นนี้ ปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งเนื่องมาจากประชาชนอเมริกันส่วนใหญ่แสดงความโกรธกริ้วไม่เห็นด้วยกับแผนการนี้ เพราะมองว่าเป็นการช่วยชีวิตพวกสถาบันการเงินซึ่งย่ำแย่จากการดำเนินงานของเหล่าผู้บริหารที่ละโมบ ด้วยเหตุนี้เองทั้งฝ่ายเดโมแครตและฝ่ายรีพับลิกัน จึงพยายามเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมข้อเสนอริเริ่มดั้งเดิมของทางรัฐบาล ให้มีเนื้อหาในทางปกป้องคุ้มครองประชาชนผู้เสียภาษีให้มากขึ้น

ข้อเสนอที่ตกลงกันได้ล่าสุดนี้ มีการกำหนดให้แบ่งใช้เงิน 700,000 ล้านดอลลาร์กันเป็นขั้นๆ โดยขั้นแรก 250,000 ล้านดอลลาร์จะนำออกมาใช้เมื่อร่างกฎหมายนี้มีผลบังคับ และอีก 100,000 ดอลลาร์จะใช้ต่อเมื่อประธานาธิบดีตัดสินใจว่ามีความจำเป็น สำหรับที่เหลืออีก 350,000 ล้านดอลลาร์ จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาทบทวนของรัฐสภา ทั้งนี้ตามเนื้อความในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกโดยสำนักงานของเปโลซีในตอนเช้าวานนี้

เพื่อปกป้องคุ้มครองเงินภาษีอากรของประชาชนให้มากขึ้นอีก คำแถลงของเปโลซีบอกว่า มีการกำหนดให้พวกสถาบันการเงินที่ขายสินทรัพย์ให้ทางการตามแผนการนี้ จะต้องออกวอร์แรนต์หุ้น (ใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ) เพื่อให้ “ผู้เสียภาษีได้มีกรรมสิทธิ์ในหุ้น และมีโอกาสในการทำกำไรจากพวกบริษัทที่เข้าร่วม”

แผนการนี้ยังจะอนุญาตให้รัฐบาลเข้าซื้อสินทรัพย์มีปัญหาจากพวกกองทุนเงินบำนาญ, รัฐบาลระดับท้องถิ่น, และแบงก์ขนาดเล็กๆ

เพื่อตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องให้จำกัดการจ่ายผลตอบแทนให้แก่พวกผู้บริหารสถาบันการเงิน ร่างกฎหมายที่ตกลงกันได้นี้มีข้อห้ามไม่ให้ผู้บริหารของบริษัทที่เข้าร่วม ได้รับเงินค่าชดเชยการออกจากงานมูลค่าเป็นหลายล้านดอลลาร์ ซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่า “ร่มชูชีพทองคำ” ขณะเดียวกันก็จำกัดการให้ค่าตอบแทนแก่ซีอีโอ ที่อยู่ในลักษณะส่งเสริมให้กล้าเสี่ยงจนเกินสมควร

ร่างกฎหมายนี้ยังบัญญัติให้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับตรวจสอบที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูง อาทิ ประธานเฟด เพื่อคอยกำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนการนี้ โดยในเวลาเดียวกันนั้น ฝ่ายบริหารของแผนการนี้ก็จะถูกตรวจตราอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานสอบสวนของรัฐสภา ตลอดจนผู้ตรวจสอบอิสระ

นอกจากนั้น ยังจะกำหนดให้มีฝ่ายตุลาการเข้ามาพิจารณาทบทวนการปฏิบัติการตามแผนการนี้ของรัฐมนตรีคลังอีกด้วย

สุดท้าย เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องที่ว่าควรต้องช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านที่กำลังจะหลุดจำนองด้วย ไม่ใช่มุ่งช่วยสถาบันการเงินถ่ายเดียว ร่างกฎหมายนี้จึงเปิดช่องว่า ภายหลังจากที่รับซื้อสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนหลักทรัพย์ที่อิงกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์จากพวกสถาบันการเงินแล้ว รัฐบาลสามารถใช้อำนาจความเป็นเจ้าของนี้ ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขสินเชื่อให้แก่พวกเจ้าของบ้านที่กำลังจะหลุดจำนองได้

อนึ่ง ขณะที่แผนการช่วยเหลือสถาบันการเงินทำท่าจะผ่านออกมาได้แล้ว แต่สถานการณ์ของแบงก์และสถาบันการเงินหลายแห่งก็กำลังอยู่ในอาการทรุดหนัก โดยในสหรัฐฯมีสื่อมวลชนหลายรายรายงานว่า วาโคเวีย คอร์ป ซึ่งเป็นแบงก์ใหญ่อันดับ 6 ของสหรัฐฯ ต้องเริ่มเจรจาหาผู้ที่อาจจะมาควบรวมด้วย ภายหลังหุ้นของบริษัทหล่นฮวบ 27% ในวันศุกร์(26)

ส่วนทางยุโรป ฟอร์ติส เอนวี กลุ่มกิจการการเงินสัญชาติเบลเยียม-ดัตช์ ได้ปลดซีอีโอชั่วคราวของตนออกจากตำแหน่ง ภายหลังความวิตกเรื่องสภาพคล่องของกลุ่มทำให้ราคาหุ้นหล่นฮวบสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี และที่อังกฤษ ทางการกำลังเจรจาหารือเกี่ยวกับอนาคตของ แบรดฟอร์ด แอนด์ บิงลีย์ ซึ่งเน้นการปล่อยกู้แก่นักลงทุนที่ไปซื้ออสังหาริมทรัพย์มาปล่อยเช่า โดยบีบีซีรายงานว่า จะมีการประกาศโอนกิจการสถาบันการเงินแห่งนี้เข้าเป็นของรัฐกันในวันอาทิตย์(28)
กำลังโหลดความคิดเห็น