xs
xsm
sm
md
lg

ทาทา "ซีนอน" นึกว่าเป็นทางเลือกใหม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นกระแสอยู่นานนับปี กับการเข้ามารุกทำตลาดรถยนต์ของยักษ์ใหญ่จากอินเดีย “ทาทา” จนเมื่อช่วงต้นปีในงานมอเตอร์โชว์ ทุกอย่างก็กระจ่างชัดด้วยการเปิดตัว “ทาทา ซีนอน” รถปิกอัพ น้องใหม่ลำดับที่ 8 ของตลาดรถปิกอัพ 1 ตันในเมืองไทย

ทาทา เลือกทำตลาดด้วยรถปิกอัพเป็นอันดับแรกเนื่องจาก เห็นสัดส่วนยอดขายกว่า 60% ของรถยนต์เป็นรถแบบปิกอัพนั่นเอง โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะขอแชร์ 5% ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะทำได้หรือไม่อย่างไร ผู้บริโภคจะเป็นคนตอบ

แน่นอนว่าหลังเปิดตัวมักจะมีการจัดทริปให้สื่อมวลชนทดสอบสมรรถนะของรถ ซึ่งค่ายทาทา เลือกเส้นทางอุบลฯ-ลาวรวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 400 กม. ในการทดสอบเจ้า “ซีนอน”และ ผู้จัดการมอเตอริ่ง ไม่พลาดทริปนี้ โดยมีโอการขับทั้งรุ่น แค็บ ราคา 539,000 และ ดับเบิ้ลแค็บ 4 ประตู ราคา 629,000 บาท

ภายนอก ตีโป่งยกสูง
ทีมงานทาทาบอกว่า ใช้เวลาวิจัยตลาดในประเทศไทยก่อนจะทำสินค้าออกมาจำหน่าย ประมาณ 3-4 ปี และผลลัพธ์ออกมาเป็น “ซีนอน” ดังที่เราเห็นกันอยู่ ซึ่งเป็นการออกแบบจากศูนย์พัฒนา เมืองโคเวนทรี ประเทศอังกฤษ และเปิดตัวครั้งแรกในโลกที่อิตาลีช่วงต้นปี โดยไทยเปิดตัวเป็นประเทศลำดับที่ 3

“ซีนอน” เป็นปิกอัพประเภทขับเคลื่อนสองล้อ ยกสูง รูปทรงไม่แตกต่างจากปิกอัพอื่นเท่าใดนัก จะมีจุดเด่นตรงโป่งซุ้มล้อที่ ถูกขยายตัวถังออกมา ไม่ใช่การเอาพลาสติกมาแปะ มีบันไดข้างเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เสริมด้วยแผ่นกันกระแทกใต้ท้องรถ และแม้ชื่อจะเป็นซีนอน แต่ไฟหน้าเป็นเพียงมัลติรีเฟล็กเตอร์ ยังไม่ใช่ซีนอน

ด้านท้ายรถ ดูเหมือนกระบะบรรทุกจะเล็กกว่าคู่แข่ง และฝาท้ายตัดตรงเป็นเหลี่ยมไร้เส้นสายนุ่มนวล ด้วยความเป็นกระบะยกสูงประกอบกับแหนบที่ยาวกว่ารถปิกอัพอื่น ทำให้เรามองเห็นแหนบด้านท้ายรถอย่างชัดเจน ความเห็นส่วนตัวของเราเมื่อมองรูปทรงโดยรวมแล้ว ซีนอน “ก็เหมือนคันอื่น”

ภายใน พยายามหรู
สัมผัสแรกที่เข้าไปในห้องโดยสาร รู้สึกว่าการออกแบบมีกลิ่นไอของรถแลนด์โรเวอร์อยู่พอสมควร จากเรือนไมล์, คอนโซล, พวงมาลัย, หัวเกียร์ และเบาะนั่ง เป็นต้น ส่วนคุณภาพของพลาสติกของคอนโซลหน้า, แผงข้างประตู, มือจับและคอนโซลกลาง สู้คู่แข่งไม่ได้เลยยังต้องการการพัฒนาอีกระดับ

ตำแหน่งของพวงมาลัยสามารถปรับขึ้น-ลงได้เพียงเล็กน้อย แถมยากเนื่องจากก้านคันโยกสำหรับปรับแข็งมากเกินกว่าคุณผู้หญิงจะปรับเองได้ และเมื่อเราก้มไปเจอกับตัวเปิดฝากระโปรงหน้า ถึงกับพูดไม่ออก เพราะเป็นก้านแบบโบราณขนาดเล็ก คุณภาพพลาสติกแบบเดียวกับของเล่นเด็กจากจีน ซึ่งกว่าจะดึงจนฝากระโปรงเปิดได้ต้องออกแรงจนนิ้วมีอาการเจ็บนิดๆ แถมยังต้องกลัวก้านพลาสติกหักอีกด้วย

เรามีโอกาสนั่งทั้งรุ่นแค็บและดับเบิ้ลแค็บ ซึ่งรู้สึกว่ารุ่นดับเบิ้ลแค็บเบาะผู้โดยสารตอนหน้าจะแคบกว่ารุ่นแค็บ เนื่องจากจังหวะเปลี่ยนเกียร์ตอนขับรุ่นแค็บไม่โดนขาผู้โดยสารที่นั่งอยู่เบาะข้างซ้ายแต่ในรุ่นดับเบิ้ลแค็บกลับโดนขาอยู่หลายครั้ง จนผิดสังเกตุ อาจจะมาจากตำแหน่งของคันเกียร์ไม่ตรงกันหรือการติดตั้งเบาะคาดเคลื่อนก็เป็นได้

จุดที่พอจะเชิดหน้าชูตานอกจากดีไซน์คือ เครื่องเสียงของเคนวูด สามารถเล่นเพลงจากทรั๊มป์ไดร์ฟ ผ่านทาง ยูเอสบี พอร์ตได้ โดยรวมความรู้สึกของเรา เห็นว่าคุณภาพของอุปกรณ์ภายในหลายอย่างควรจะปรับปรุงหากต้องการทำตลาดต่อในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับคำพูดของบุคคลระดับผู้บริหารของค่ายทาทาที่ยอมรับเองว่า “มีอุปกรณ์อีกหลายจุดที่เราต้องปรับปรุงก่อนจะส่งมอบรถให้ลูกค้า”

เครื่องยนต์ เบาและผ่านยูโร4
ทุกรุ่นของซีนอนใช้เครื่องยนต์ตัวเดียวกันคือ รหัส 2.2 VTT DICOR ขนาดความจุ 2.2 ลิตร แบบ 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC เทอร์โบแปรผัน อินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 140 แรงม้า ที่ 4000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 320 นิวตันเมตร ที่รอบกว้าง 1700-2700 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ขับเคลื่อนสองล้อ พร้อมลิมิเต็ตสลิบเป็นมาตรฐาน}

ทีมงานของทาทาบอกว่า ความพิเศษของเครื่องยนต์อยู่ตรง น้ำหนักของเครื่องเบากว่าคู่แข่งประมาณ 60-80 กิโลกรัม โดยเลือกใช้ชิ้นส่วนเช่น ลูกสูบที่มีคุณสมบัติเบาเป็นพิเศษและฝาสูบทำจากอลูมิเนียม เป็นต้น ชุดระบบคอมมอนเรลจากเดลฟาย พร้อมคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานแบบ 32 บิท

เหนืออื่นใดเจ้า เครื่อง 2.2 ตัวนี้ยังผ่านมาตรฐานไอเสีย ยูโร 4 แล้วอีกด้วย แต่ทว่าเพื่อลดต้นทุนทาทาเลือกถอดอุปกรณ์ไอเสียออกทำให้ผ่านเพียงมาตรฐานไอเสีย ยูโร3 เนื่องจากในเมืองไทยยังไม่มีการบังคับใช้และขาดน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ โดยเครื่องยนต์ดังกล่าวผ่านการทดสอบอย่างหนักในหลายสภาพทั้ง วิ่งระดับความสูง 2500 เมตรเหนือน้ำทะเล, วิ่งที่อุณภูมิ ติดลบ 20 องศาเซลเซียสและทดสอบในห้องทดลอง รวมระยะทางการทดสอบแล้วกว่า 2.5 ล้านกิโลเมตร(เครื่องยนต์หลายตัว)

สมรรถนะ
เราเริ่มต้นสัมผัสกับเจ้าซีนอนในรุ่น “แค็บ” ด้วยการออกเดินทางเส้น อุบลฯ-สะหวันนะเขต(ลาว) แบบฟรีรัน พร้อมบรรทุกถุงปูนน้ำหนัก 500 กิโลกรัมไว้ในท้ายกระบะและปิดด้วยผ้าใบ ช่วงแรกขับในตัวเมืองอุบล ความเร็วใช้จะอยู่ประมาณ 40-60 กม./ชม. พอออกนอกเมืองเราวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ยเกิน 100 กม./ชม. ซีนอนวิ่งนิ่งไม่ต่างจากรถปิกอัพคู่แข่ง อาการลอยลมแทบไม่รู้สึก

ส่วนความเร็วสูงสุดที่เราทำได้(แบบบรรทุก)คือ 150 กม./ชม. รู้สึกมั่นใจ ไม่ออกอาการโคลง เสียงลมและเสียงเครื่องดังรบกวนเมื่อวิ่งเกิน 120 กม./ชม. และจะดังมากขึ้นเป็นลำดับเมื่อวิ่งเร็วขึ้น เมื่อเราเอาถุงปูนบรรทุกออกคราวนี้ เห็นได้ชัดว่าท้ายกระบะกระดกขึ้นสูงกว่า หน้ารถเล็กน้อย

ซึ่งเมื่อท้ายเบา ซีนอนวิ่งต่างจากเดิม ความเร็วเกิน 120 กม./ชม. อาการลอยลม เริ่มสัมผัสชัดเจน และรับรู้ถึงแรงสะเทือนจากผิวถนนมากกว่าขณะบรรทุก ความเร็วสูงสุดเกือบแตะ 180 กม./ชม. ขณะที่บางท่านทำถึง 190 กม./ชม. อัตราเร่งช่วงต้นไม่ประทับใจเนื่องจากตอบสนองช้ากว่าที่เราคาดแม้จะเป็นเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ส่วนช่วงปลายค่อนข้างไหลได้ยาว

จังหวะการเปลี่ยนเกียร์นุ่มนวลเป็นรองและเข้ายากกว่ารถปิกอัพคู่แข่ง แถมบางครั้งจังหวะเร่งรอบเครื่องเกิน 2500 รอบ มีเสียงดังจากเกียร์ โดยเฉพาะจังหวะเร่งเพื่อแซง มีการสั่นสะเทือนมาถึงตัวผู้ขับ ไม่มั่นใจว่ามาจากเครื่องยนต์หรือจากเกียร์หรือทั้งสองแรงประสานกัน โดยจุดนี้มีการวิเคราะห์กันในหมู่สื่อมวลชนที่ร่วมทดสอบ(ซึ่งรู้สึกถึงแรงสะเทือนเหมือนกัน)ว่า อาจจะเป็นผลมาจากการที่เครื่องยนต์ ไม่มีบาลานซ์ชาร์ฟ

ด้านการบังคับควบคุมพวงมาลัย แม้จะไม่หนักมือผู้หญิงขับสบาย เนื่องจากมีพาวเวอร์เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่กลับมีระยะฟรีค่อนข้างมาก จังหวะเข้าโค้งยาวต้องเลี้ยงพวงมาลัยตลอด มิฉะนั้นอาจจะมีวิ่งหลุดเส้นทาง บางช่วงมีฝนตกลงมา ที่ปัดน้ำฝนของซีนอนปัดไม่เคลียร์เหลืออหยดน้ำอยู่บนกระจกหน้า เหมือนใบฟัดหมดอายุอย่างไรอย่างนั้น สุดท้ายเราก็ขับถึงจุดหมายด้วยความรู้สึกโล่งใจ

ขากลับ ทีมงานทาทาจัดทริปเพื่อทดสอบหาอัตราการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดให้วิ่งเป็นระยะทางประมาณ 161.5 กม. ภายในเวลา 2 ชั่วโมง ห้ามปิดแอร์และเติมลมยาง เมื่อคำนวณการวิ่งคร่าวจะอยู่ประมาณ 80 กม./ชม.

เราเปลี่ยนรถเป็นตัวดับเบิ้ลแค๊บ และเลือกวิ่งด้วยความเร็วระหว่าง 100-120 กม./ชม. ตลอดเส้นทางที่มีทั้งขึ้น-ลงเนินเขา บางช่วงอาจจะเบรกติดไฟแดงบ้าง ติดถนนกำลังก่อสร้างบ้าง ผลลัพท์ออกมา 14.69 กม./ลิตร (เติมน้ำมัน 10.99 ลิตร/ 161.5 กม.) ถือว่า ผิดคาด ขณะที่แชมป์รุ่นดับเบิ้ลแค็บทำได้ 17.32 กม./ลิตร ส่วนรุ่นแค็บดีสุด 17.84 กม./ลิตร

สรุป
เราขอยกตัวอย่างหนึ่งระหว่างการเดินทางด้วยเจ้า ทาทา ซีนอน จากการที่ตำรวจตั้งด่านตรวจรถและโบกมือเรียกให้เราหยุด เพื่อถามว่า “ราคาเท่าไหร่” (เดิมนึกว่าจะโดนจับเรื่องขับรถเร็ว) และเราตอบกลับไปว่า 5 แสนกว่าครับพี่ คุณตำรวจเอ่ยสวนกลับมาทิ้งท้ายก่อนโบกให้เราไปต่อว่า “ โห! ห้าแสนเชียว นึกว่าจะเป็นทางเลือกใหม่”

ท้ายตัดตรง
เมื่อท้ายกระบะว่าง อาการลอยลมก็เกิดขึ้น
ภายในมีกลิ่นไอ การดีไซน์ของแลนด์โรเวอร์ อยู่พอสมควร
เบาะ นั่งแล้ว พวงมาลัยแทบจะชิดหน้าอกผู้ขับเลยทีเดียว
เบาะหลังนั่งได้ไม่แตกต่างจากปิกอัพคู่แข่ง
เครื่องยนต์ 2.2 ลิตร กำลังสูงสุด 140 แรงม้า
หัวเกียร์ทรงใหญ่จับถนัดมือดี
การจัดวางตำแหน่งดูเรียบง่าย แต่คุณภาพพลาสติกของอุปกรณ์หลายชิ้นต้องปรับปรุง
ที่ดึงสำหรับเปิดฝากระโปรงหน้า พลาสติกคุณภาพระดับของเด็กเล่นจากจีน ดึงแต่ละครั้งเสียวหักจริงๆ



กำลังโหลดความคิดเห็น