xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอเอเปก ชี้การเมืองปัจจัยเสี่ยง กระทบรายได้ใน 12 เดือนข้างหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซีอีโอเอเปก เชื่อการเมืองปัจจัยลบ กระทบธุรกิจ/รายได้ พร้อมเตรียมลงทุนในเขตเศรษฐกิจเอเปก จีนน่าลงทุน ตามด้วย“อินโดนีเซีย เวียดนาม สหรัฐอเมริกา” สัดส่วนเท่ากัน ขณะที่สิงคโปร์ อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ อันดับ 4 ส่วน 5 ไทย ติดอันดับ 5
PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เผยผลสำรวจล่าสุด PwC 2015 APEC CEO Survey: CEO Confidence in Asia Pacific shaken but strongโดยผลสำรวจนี้ใช้เผยแพร่ในการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit ประจำปี 2558 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งทำการสำรวจซีอีโอและผู้นำในอุตสาหกรรมชั้นนำ จำนวน 800 ราย ใน 52 เขตเศรษฐกิจ รวมทั้งสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) จำนวน 21 ประเทศ

ผลจากการสำรวจที่น่าสนใจ ได้แก่
ซีอีโอเอเปกมีความมั่นใจต่อการเติบโตของธุรกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้าลดลง เหลือเพียง 28% จากระดับ 46% ในปีก่อน ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการบริโภคในตลาดและการค้า การลงทุนชะลอตัวและส่งผลกระทบไปยังกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมไปถึง ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกอีกด้วย
ปัจจัยทางการเมือง (Geopolitical tension) เป็นอีกความเสี่ยงหนึ่งที่ซีอีโอเอเปกถึง 88% มองว่าหากมีสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองปุทะขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดการณ์ว่า ประเทศหลักจาก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไทเป เปรู และไทย (ยังไม่แน่นอน) มีแผนการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศในปี 2559 และการเตรียมกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 ระยะเวลา 5 ปี (2559-2563) ของจีนในปีหน้าเป็นสถานการณ์ที่ซีอีโอเอเปกต่างเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน
ซีอีโอเอเปกถึง 53% วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในภูมิภาคในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยส่วนใหญ่ (68%) มองว่าการกระจายการลงทุนใหม่ๆ จะอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจเอเปก โดยประเทศ 5 อันดับแรกที่ซีอีโอเอเปกจัดให้เป็นตลาดที่น่าลงทุนในอีก 12 เดือนข้างหน้า ได้แก่ อันดับ 1 สาธารณรัฐประชาชนจีน (53%), อันดับ 2 อินโดนีเซีย เวียดนาม และ สหรัฐอเมริกา (52% เท่ากัน), อันดับ 3 สิงคโปร์ (46%), อันดับ 4 ฟิลิปปินส์ (45%) และอันดับ 5 ไทย (42%) ซึ่งขยับขึ้นจากปีก่อนที่อันดับ 8 และนำหน้ามาเลเซีย และ ญี่ปุ่น (40% เท่ากัน)
ซีอีโอเอเปกส่วนใหญ่ต่างเห็นประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าที่หลากหลาย แม้กระแสการต่อต้าน ลัทธิคุ้มครองทางการค้า (Protectionism) จะเป็นปัจจัยความกังวลที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดย 1 ใน 4 ของซีอีโอที่ทำการสำรวจเชื่อว่า การจัดตั้งเขตการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) จะเกิดเป็นรูปเป็นร่างในปี 2563 ขณะที่ซีอีโอเอเปก 35% มองว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเปิดในปลายปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการค้า การลงทุน ของธุรกิจภูมิภาค
ปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประกอบกับการตื่นตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ทำให้การค้า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เพื่อเชื่อมต่อการค้าในภูมิภาค รวมถึงพื้นที่ที่ยังไม่ถูกพัฒนามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างไร้พรมแดน โดยซีอีโอเอเปกถึง 63% คาดว่าจะเห็นการลงทุนระลอกใหม่เพื่อพัฒนาความทันสมัยของธุรกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆใน 5 ปีข้างหน้า
กระแสเศรษฐกิจยุคแบ่งปัน (Sharing Economy) ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การลงทุนด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของธุรกิจในกลุ่มเอเปก
กำลังโหลดความคิดเห็น