xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอกลุ่มเอเปก 21 ประเทศ มองไทยเป็น 1 ใน 5 ตลาดน่าลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


PwC เผยซีอีโอกลุ่มเอเปก 21 ประเทศ มองไทยเป็น 1 ใน 5 ตลาดน่าลงทุน แม้ภาวะ ศก.ชะลอตัว แซงมาเลย์-ญี่ปุ่น เพราะมีจุดเด่นเป็นศูนย์กลางของอาเซียน หลังเปิดเออีซี

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ APEC CEO Survey 2015: ‘CEO confidence in Asia Pacific shaken but strong’ ที่ใช้เผยแพร่ในการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit ประจำปี 2558 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งทำการสำรวจซีอีโอและผู้นำในอุตสาหกรรมชั้นนำ จำนวน 800 ราย ใน 52 เขตเศรษฐกิจ รวมทั้งสมาชิกกลุ่มเอเปก 21 ประเทศ โดยระบุว่า ซีอีโอเอเปกมีความมั่นใจต่อการเติบโตของธุรกิจ และการเพิ่มขึ้นของรายได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้าลดลงเหลือเพียง 28% จากปีก่อนที่ความมั่นใจอยู่ในระดับ 46% โดยตัวเลขดังกล่าวถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 55

“สาเหตุหลักที่ทำให้ความมั่นใจลดลงอย่างมีนัยในปีนี้เป็นเพราะเศรษฐกิจจีนที่เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวตั้งแต่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการบริโภคในตลาดและการค้า การลงทุนชะลอตัวตามลงไปด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวได้ขยายวงกว้าง และส่งผลกระทบไปยังกลุ่มตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อความมั่นใจของซีอีโอเอเปกโดยรวม”

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจพบว่าแม้ความมั่นใจต่อการเติบโตของธุรกิจ และรายได้ในปีหน้าจะลดลง แต่ซีอีโอเอเปกถึง 53% วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในภูมิภาคในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยส่วนใหญ่ (68%) มองว่าการกระจายการลงทุนใหม่ๆ จะอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจเอเปก โดยประเทศ 5 อันดับแรกที่ซีอีโอเอเปกจัดให้เป็นตลาดที่น่าลงทุนในอีก 12 เดือนข้างหน้า ได้แก่ อันดับ 1 สาธารณรัฐประชาชนจีน (53%) อันดับ 2 อินโดนีเซีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา (52% เท่ากัน) อันดับ 3 สิงคโปร์ (46%) อันดับ 4 ฟิลิปปินส์ (45%) และอันดับ 5 ไทย (42%) ซึ่งขยับขึ้นจากปีก่อนที่อันดับ 8 และนำหน้ามาเลเซีย และญี่ปุ่น (40% เท่ากัน)

“แม้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวแต่ก็ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจลงทุน นั่นเพราะเราเป็นฐานการผลิสินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตรรายใหญ่รายหนึ่งของโลก ขณะที่ระบบการเงินการธนาคารของเราก็มีความเข้มแข็งกว่าในอดีตเยอะ นอกจากนี้ หากเปิดเออีซี ไทยยังมีความได้เปรียบจากการเป็นศูนย์กลางอาเซียนในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์ หรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโลก อย่างก็ไรดี เราต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถ และความน่าสนใจของไทยไม่ให้แพ้เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งทั้ง 2 ตลาดมีขนาดใหญ่ และค่าจ้างแรงงานยังถูกกว่าไทยมาก”

นายศิระ กล่าวว่า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะช่วยส่งผลให้ประเทศสามารถฟื้นตัวได้ในระยะยาว ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง โดยมองว่าความต้องการโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มขึ้นของการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในหมู่ภาคธุรกิจ ผนวกกับนโยบาย หรือสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติจะยังทำให้ไทยมีความน่าดึงดูดในระยะยาว

ทั้งนี้ ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ที่ประกาศโดยคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เติบโตที่ 2.9% จาก 2.8% ในไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างช้าๆ

ในด้านการเจรจากรอบการค้าเสรีในภูมิภาค นายศิระ กล่าวว่า ซีอีโอเอเปกส่วนใหญ่ต่างเห็นประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าที่หลากหลาย โดย 1 ใน 4 ของซีอีโอที่ทำการสำรวจเชื่อว่า การจัดตั้งเขตการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia Pacific : FTAAP) จะเกิดเป็นรูปเป็นร่างได้ในปี 2563 ขณะที่ซีอีโอเอเปก 35% ยังมองว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเปิดในปลายปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการค้า การลงทุนของธุรกิจในภูมิภาค และอีก 24% คาดว่าความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) จะช่วยเพิ่มการส่งออก และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเปก

ด้าน นายเดนนิส เอ็ม แนลลี่ ประธานบริษัท PricewaterhouseCoopers International Ltd. กล่าวว่า กระแสเศรษฐกิจยุคแบ่งปัน (Sharing economy) ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การลงทุนด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาส และความท้าทายของธุรกิจในกลุ่มเอเปก สอดคล้องต่อผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มการวิจัย และพัฒนาของ Strategy&ที่พบว่า เอเชียกลายเป็นแหล่งของการลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนาองค์กร (Corporate R&D) อันดับ 1 ของโลก (35%) แซงหน้าทวีปอเมริกาเหนือที่ 33% และยุโรปที่ 28%
กำลังโหลดความคิดเห็น