คณะกรรมการ CAC เพิ่มข้อกำหนดเสริมความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการรับรองบริษัทที่ผ่านการประเมินตนเอง เดินหน้าเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับในภาคเอกชนร่วมทำหน้าที่คณะกรรมการพิจารณารับรอง (Certification Committee)
ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ทางคณะกรรมการ CAC ได้เพิ่มข้อกำหนดเสริมความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการรับรองบริษัทที่ผ่านการประเมินตนเองว่า มีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด
โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับในภาคเอกชนมาร่วมทำหน้าที่คณะกรรมการพิจารณารับรอง (Certification Committee) เพื่อเสริมมาตรฐานและความเข้มแข็งให้กับกระบวนการรับรอง CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมโดยสมัครใจเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจที่สะอาด ปลอดคอร์รัปชัน ล่าสุดมีจำนวนบริษัทเอกชนเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันกับ CAC แล้ว 485 บริษัท (เป็นบริษัทจดทะเบียน 280 บริษัท) ขณะที่จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองเพิ่มขึ้นเป็น 122 จาก 78 บริษัทเมื่อสิ้นปี 2557
“การเชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมการพิจารณารับรองจะทำให้ระบบการรับรองของ CAC เข้มแข็งมากขึ้นจากประโยชน์ที่จะได้จากความรู้และประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิในภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ตรงในการทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการรับรองของ CAC ที่จะต้องรองรับจำนวนบริษัทเข้าร่วมโครงการที่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก”
คณะกรรมการพิจารณารับรอง (Certification Committee) ที่ผ่านการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ CAC ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ แปด ท่าน ซึ่งจะทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคำขอรับรองของบริษัทตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด
นอกจากนี้ ทาง CAC ได้เพิ่มข้อกำหนดให้บริษัทจัดส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการขอการรับรอง รวมถึงได้กำหนดกรอบเวลาให้บริษัทที่ยื่นประกาศเจตนารมณ์ต้องมีการดำเนินการให้ผ่านการรับรองภายใน 18 เดือนหลังการเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ หลังจากนั้นบริษัทจะต้องรอเวลาอีก 6 เดือนก่อนจะสามารถขอยื่นเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ใหม่
การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัทที่เข้าร่วม ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเองที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอกว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ซึ่งกระบวนการรับรองของโครงการ CAC รวมถึงการชี้แจงข้อมูลและส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการ CAC พิจารณา ในกรณีที่คณะกรรมการมีข้อสงสัยหรือบริษัทเคยมีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตมาก่อน
รายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิแปดท่านที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ CAC ให้เป็นคณะกรรมการพิจารณารับรองที่ได้รับการแต่งตั้ง
1. ดร. กอปร กฤตยากีรณ ประธานคณะกรรมการพิจารณารับรองและรองประธานคณะกรรมการ CAC
2. นาย ประสัณห์ เชื้อพานิช กรรมการผู้แทนจากสภาวิชาชีพบัญชี
3. นาย ยุทธ วรฉัตรธาร กรรมการผู้ชำนาญด้านธรรมาภิบาล
4. นาย สุรพงษ์ ชูรังสฤษฎิ์ กรรมการผู้แทนจากสมาคมผู้ตรวจสอบภายใน
5. นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย
6. นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้แทนบริษัทสมาชิกที่ผ่านการรับรองจาก CAC
7. นาย ยงเกียรติ์ กิตะพาณิชย์ กรรมการผู้แทนบริษัทสมาชิกที่ผ่านการรับรอง จาก CAC
8 นาย อนุวัฒน์ จงยินดี กรรมการผู้แทนบริษัทสมาชิกที่ผ่านการรับรองจาก CAC
ทั้งนี้ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CAC และรายชื่อของบริษัทที่ได้ประกาศเจตนารมณ์และผ่านการรับรองได้จาก: , http://www.thai-cac.com
CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ บทบาทของ CAC จะเน้นในส่วนของบริษัทเอกชน ด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดย CAC ทำงานอย่างใกล้ชิด และคู่ขนานไปกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT)
โครงการ CAC จัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการ CAC ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจาก Center for International Private Enterprise หรือ CIPE จากสหรัฐอเมริกา UK Prosperity Fund จากสหราชอาณาจักร และมูลนิธิมั่นพัฒนา โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ