xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนเริ่มฟิต : ขานรับป๋าเปรมต่อต้านโกง / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“…วันนี้จะพูดเรื่องการโกงชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเกลียดชังที่สุด และเชื่อว่าทุกคนก็เกลียดเหมือนกัน เราต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ในการทำความดี และปราบคนโกงชาติ ผมเกลียดชังการโกงชาติที่สุด”
เป็นการเริ่มปาฐกถาของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในงานฉลองครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนาวิทยาลัยปัองกันราชอาณาจักร ซึ่งมีหลักสูตรพัฒนาความคิดเชิงยุทธศาสตร์สำหรับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ผ่านหลักสูตรนี้มากมาย 
หัวข้อการปาฐกถาในงานเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ศกนี้ แหลมคมและน่าจะมีพลังในการกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดการปรับความคิดและพฤติกรรมเพื่อการปฏิรูปอย่างแท้จริง ต่อปัญหาหลักของประเทศไทย คือ ความยากจน และการทุจริตคอร์รัปชัน

พล.อ.เปรม กล่าวว่า “คนไทยมักจะเฉยเมยต่อการปราบคนโกงชาติ บอกไม่ใช่หน้าที่ ในการปราบคนโกงชาติ บอกจะเพิ่มศัตรูทำไม เสียเวลาทำมาหากิน คิดอย่างนั้นได้ยังไง ความจริงเราไปห้ามเขาคิดไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายลงโทษ แต่ผิดที่หน้าที่รับผิดชอบต่อชาติบ้านเมือง ยิ่งทำเฉย ยิ่งผิดมากยิ่งเป็นผู้ใหญ่ ในและนอกราชการ ถ้าไม่ทำหน้าที่นี้ยิ่งเป็นเรื่องน่าขายหน้ามาก ดังนั้น วิธีการปราบคนโกง และเป็นคนดี คือขอให้ทุกคนสูดลมหายใจให้เต็มปอด แล้วพูดว่า ผม, ดิฉันไม่โกง ต้องทำด้วย เราก็จะมีชีวิตอยู่ได้ มีฐานะดีได้ ถ้าเก่ง และขยัน”
พล.อ.เปรม กล่าวย้ำตอนหนึ่งว่า มีคำเย้ยหยันคำประชดที่ว่า “ไทยมีดีทุกอย่าง แต่เสียอย่างเดียวคือมีคนไทย” เป็นคำประชดที่น่าละอายมาก ความรู้สึกขายหน้าละอายยังพอทำเนา แต่คนขี้โกงทำให้ชาติไทยของเรา ชาติไทยของคุณขายหน้า ผมทนไม่ได้และจะไม่ทน ถ้าเขาขายหน้าคนเดียวไม่เป็นไร แต่นี่เขาทำให้ชาติขายหน้า กลายเป็นชาติขี้โกงไปด้วย ต่อไปเราจะต้องยืดอกพูดว่า "ไทยไม่ใช่ประเทศคนขี้โกง"
ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็คงคาดหวังเช่นเดียวกับท่านองคมนตรีเปรม ซึ่งอยากขจัดการทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นเหมือนมะเร็งร้ายบั่นทอนการพัฒนาที่ถูกต้องและฉ้อฉลประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ
ถ้ามองในมิติภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็มีทั้งภาครัฐ คือ วงการเมือง ราชการและรัฐวิสาหกิจ และภาคประชาสังคม ซึ่งขณะนี้กระบวนการร่างกฎกติกาใหญ่ คือ รัฐธรรมนูญ กำลังดำเนินการที่หวังกันว่าจะได้กฎกติกาที่นำไปสู่การปฏิรูปได้แค่ไหนก็ต้องจับตาดูต่อไป
แต่ภาคเอกชนเขาเริ่มแล้ว และมีแนวโน้มให้เห็นความก้าวหน้าในการสร้างกลไกเชิงป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งนี้ มีการจัดทำโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
โครงการนี้ดำเนินการโดยความร่วมมือของ 8 องค์กรชั้นนำ ได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หอการค้าไทย หอการค้านานาชาติ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการจาก Center for International Private Enterprise (CIPE) และ UK Prosperity Fund โครงการดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชน
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของโครงการนี้ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโดยการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ภาคเอกชนในเรื่องการทุจริต มีทั้งการจัดสัมมนา การจัดหลักสูตรการอบรมสำหรับผู้บริหาร และสำหรับผู้ปฏิบัติ การประชุมระดับชาติ และการบรรยายให้ความรู้แก่สมาคม องค์กรต่างๆ
การคอร์รัปชันซึ่งเปรียบเสมือนเนื้อร้ายที่ฝังตัวอยู่ในสังคมไทย และภาคเอกชนนั้นมีบทบาทสำคัญในฐานะ “ผู้ให้” ซึ่งเป็นต้นเหตุของการขยายตัวและแพร่กระจายของการทำทุจริตคอร์รัปชัน
แต่การที่บริษัทเอกชนจำนวนมากได้เห็นถึงความสำคัญและรวมตัวกันเพื่อผลักดันไม่ให้ปัญหานี้ลุกลามและใหญ่โตขึ้นไปกว่าในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องน่ายินดีมีบริษัทจำนวนมากได้ร่วมลงนามในคำประกาศเจตนารมณ์แนวร่วมปฏิบัติ หรือ CAC (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต อีกทั้งยังได้เตรียมความพร้อมในการที่จะเข้าสู่กระบวนการรับรองตามที่กำหนดโดยคณะกรรมการ CAC
ในการเข้าสู่กระบวนการรับรอง บริษัทจะต้องมีการจัดระบบเพื่อป้องกันการจ่ายเงินเพื่อการคอร์รัปชัน ระบบที่ว่านี้เป็นไปตามขั้นตอนของแบบประเมินตนเอง (Self-Evaluation Tool) ซึ่ง IOD ได้จัดทำขึ้นตามหลักการทางธุรกิจ เพื่อการป้องการคอร์รัปชัน (Business Principles for Countering Bribery)
ข้อคิด...
การรณรงค์เรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันไม่ควรเป็นเพียงความหวังดีแบบ “พระเทศน์” หรือแค่ดูดีเฉพาะคำขวัญ แต่ต้องมีจิตสำนึกการกระทำที่ใฝ่ดี เพราะเป็นปัญหาวิกฤติที่ขณะนี้เหมือนเชื้อมะเร็งร้ายที่แผ่ขยายไปทุกระดับทุกวงการของสังคมไทย
การทุจริตคอร์รัปชันบั่นทอนความเจริญเติบโตและการพัฒนาประเทศ เพราะผลประโยชน์จากการโกงไปสร้างอำนาจและอิทธิพลที่สามารถเบี่ยงเบนการเลือกแนวทาง หรือวิธีการที่ถูกต้อง และยังทำให้การใช้งบประมาณการลงทุน หรือการใช้จ่ายไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย
ดร. บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD ในฐานะเลขาธิการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) มีความเห็นว่าจริงๆ แล้วเอกชนทุกบริษัทไม่ชอบการทุจริตคอร์รัปชัน (ยกเว้นบริษัทที่หากิน หรือได้ประโยชน์จากการคอร์รัปชัน)
ที่เลวร้ายคือคอร์รัปชัน หรือ “การฉ้อราษฏร์บังหลวง"นั้นส่งผลเสียหาย 1.ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น 2.ทำลายระบบการแข่งขัน 3.ทำลายการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรม 4 ทำลายแรงจูงใจการเป็นบริษัทที่ดี หรือเป็นคนดี
ดร. บัณฑิต ได้ยืนยันด้วยผลสำรวจความคิดเห็นผู้นำภาคธุรกิจเกี่ยวกับการทุจริตในประเทศไทยว่า 74.5% ของบริษัทผู้ตอบแบบสอบถามมีความพร้อมมากถึงมากที่สุดที่จะผลักดันให้เกิดการต่อต้านทุจริตภายในองค์กรอย่างเป็นระบบ และ 78% ของผู้ตอบเชื่อว่าภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการร่วมมือกับภาครัฐในการดำเนินการเพื่อต่อต้านการทุจริตในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีนะครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอดีตภาคเอกชนมักไม่กล้าแสดงออกในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะกลัวไปกระทบนักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง แต่บัดนี้มีกลไก CAC ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจได้รวมพลังกันแสดงออก ปรากฎว่าเมื่อสิ้นปี 2557 มีบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์”กับ CAC ที่จะต่อต้านคอร์รัปชัน คือ “ไม่ให้ ไม่เรียก และไม่รับสินบน” จำนวน 406 บริษัท (เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 212 บริษัท) เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ซึ่งมีเพียง 268 บริษัท (เพิ่มขึ้น 138 บริษัท)
ในจำนวนนี้คณะกรรมการ CAC ประชุมล่าสุดได้มีมติให้การรับรองบริษัทที่ยืนยันตนเองว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดเพิ่มขึ้นอีก 18 บริษัท ทำให้จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC เพิ่มขึ้นเป็น 96 บริษัท
ความเคลื่อนไหวที่คึกคักเช่นนี้น่าจะสอดรับกับการกระตุ้นเตือนให้ต่อต้านคนโกงที่ พล.อ.เปรม ได้ตอกย้ำมานานนับสิบปี
คราวนี้เอกชนชั้นนำในตลาดหุ้นประกาศจุดยืนและถ่ายทอดกลวิธีที่จะไปเป็นร่วมส่งเสริมการทุจริตที่เริ่มจากภายในองค์กรออกไปสู่ระบบธุรกิจภายนอกกันแล้ว
เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ ซึ่งตรงกับเกณฑ์ ESG ที่นักลงทุนมืออาชีพในกระแสโลกใช้ในการเลือกลงทุนในกิจการที่คำนึงถึงผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)
suwatmgr@gmail.com

รายชื่อบริษัท 18 แห่งที่ผ่านการรับรองในไตรมาสที่ 4/57
1. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยจำกัด (มหาชน)
2. บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)
4. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด
5. บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน)
6. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
7. บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด
8. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
9. บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
10. บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน)
11. บริษัทที่ปรึกษา เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน)
12. ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)
13. บริษัท ธนชาต เทรนนิ่ง แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
14. บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)
15. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสแซท พลัส จำกัด
16. บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ จำกัด (มหาชน)
17. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
18. บริษัท ไทย ออพติคอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน
หมายเหตุ
-สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการสำรจความคิดเห็นผู้นำภาคธุรกิจเกี่ยวกับการทุจริตในประเทศไทยได้จาก: http://www.thai-iod.com/th/news-detail.asp?id=191
-สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CAC และรายชื่อของบริษัทที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ และผ่านการรับรองได้จาก: http://www.thai-iod.com/th/projects-3-detail.asp?id=2
กำลังโหลดความคิดเห็น