xs
xsm
sm
md
lg

CAC เดินหน้าขยายเครือข่ายธุรกิจ เล็งดึงจัดซื้อจัดจ้างประมูลงานรัฐร่วมต้านโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร. บัณฑิต นิจถาวร
CAC ตั้งเป้าเพิ่มเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็น 600 บริษัทในปี 2558 เล็งดึงกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการประมูลงานภาครัฐเป็นสมาชิก

แนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) ประกาศเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็น 600 บริษัทในปี 2558 จาก 406 บริษัทในปี 2557 โดยจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการดึงกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการประมูลงานภาครัฐเข้ามาเป็นสมาชิกแนวร่วม

ขณะเดียวกัน ยังมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้บริษัทที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไปแล้ว ดำเนินการให้มีนโยบายและแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด และเพิ่มจำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC เป็น 200 บริษัท ในปี 2558 จาก 78 บริษัทเมื่อปลายปี 2557

CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ เมื่อปลายปี 2557 มีจำนวนบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC แล้ว 406 บริษัท (เป็นบริษัทจดทะเบียน 212 บริษัท) เพิ่มขึ้นถึง 138 บริษัทจาก 268 บริษัทเมื่อปลายปี 2556 โดยในจำนวนนี้ มีบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC แล้ว 78 บริษัท เพิ่มขึ้นจาก 22 บริษัทเมื่อปลายปี 2556

ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ภาคธุรกิจไทยมีความตื่นตัวอย่างมากในเรื่องของธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน เห็นได้จากทั้งจำนวนบริษัทที่เข้าประกาศเจตนารมณ์ และบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบริบททางสังคมและการเมืองที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของความโปร่งใสมากขึ้น รวมถึงการแสดงท่าทีเอาจริงเอาจังมากขึ้นของภาครัฐในการที่จะขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

โดย CAC ตั้งเป้าที่จะขยายแนวร่วมฯ ซึ่งปีนี้ CAC จะเน้นภาคธุรกิจที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงต่อการทุจริตสูง
เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประมูลงานภาครัฐให้เข้ามาเป็นสมาชิกแนวร่วมฯ และจะพยายามผลักดันให้บริษัทที่เป็นสมาชิกแนวร่วมฯอยู่แล้วนำนโยบายต่อต้านการทุจริตไปปฏิบัติจริงจนสามารถผ่านการรับรองจาก CAC ให้ได้เพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัว

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีส่วนช่วยให้ภาคธุรกิจตื่นตัวมากขึ้นกับเรื่องการต่อต้านทุจริตในช่วงปีที่ผ่านมา ก็คือการที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สนับสนุนให้มีการจัดทำและเผยแพร่ตัวชี้วัดการประเมินความคืบหน้าในเรื่องการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันสำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย (Anti-corruption Progress Indicator) ซึ่งเป็นดัชนีที่ช่วยบ่งชี้ความก้าวหน้าและแนวทางการยกระดับให้แก่บริษัทจดทะเบียนในเรื่องการต่อต้านการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้นักลงทุนทราบถึงความมุ่งมั่นและนโยบายการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันของบริษัทจดทะเบียนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น