xs
xsm
sm
md
lg

IOD หนุนปรับปรุงคะแนนดัชนีความคืบหน้าป้องกันคอร์รัปชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


IOD ประกาศหนุนบจ. ปรับปรุงดัชนีชี้วัดความคืบหน้าการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน แนะขั้นตอนการปฏิบัติ ให้ได้รับการรับรองจากแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต

สมาคมสถาบันส่งเสริมสถาบันกรรมการไทย (IOD) สนับสนุนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ในการดำเนินการเพื่อปรับปรุงคะแนนดัชนีชี้วัดความคืบหน้าการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Progress Indicator) และแนะนำขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้ได้รับการรับรองจากแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ซึ่งดำเนินการโดย IOD

ดร. บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD และเลขาธิการ CAC เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยกำลังตื่นตัวอย่างมากกับเรื่องของการทุจริต คอร์รัปชัน ซึ่งการจะจัดการปัญหานี้ให้เป็นผลสำเร็จจำเป็นต้องมีการดำเนินการควบคู่กันไปทุกด้านอย่างเป็นระบบ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ในส่วนของบริษัทจดทะเบียนถือเป็นกลุ่มผู้นำในภาคเอกชนซึ่งต้องสร้างแบบอย่างที่ดีในการวางกลไกป้องกันการทุจริต คอร์รัปชัน

“ทาง IOD พร้อมให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อช่วยให้ บริษัทจดทะเบียนประสบความสำเร็จในการวางนโยบายและระบบงานภายในเพื่อป้องกันการทุจริต และสามารถปรับปรุงคะแนนดัชนีความคืบหน้าการป้องกันการคอร์รัปชัน ซึ่งจะส่งผลดีโดยรวมต่อการทำธุรกิจในภาพรวมให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น”

การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เตรียมจัดทำดัชนีชี้วัดความคืบหน้าในการป้องกันคอร์รัปชัน ของ บจ.กว่า 500 แห่ง และจะขอความร่วมมือให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เผยแพร่คะแนนของ บจ. แต่ละแห่งในบทวิเคราะห์ตั้งแต่เดือนสิงหาคมนั้น ดร. บัณฑิต แนะนำว่า บริษัทจดทะเบียนต่างๆควรที่จะเร่งดำเนินการให้เกิดความคืบหน้าในการติดตั้งกลไกป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อปรับปรุงคะแนนดัชนีของบริษัท เสริมภาพลักษณ์ด้านความโปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทด้วย

ในการจัดทำดัชนีดังกล่าวจะมีการกำหนดคะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 5 โดย 0 คะแนน หมายถึง บริษัทที่ไม่ทำอะไรเลยในการจัดการปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน 1 คะแนน หมายถึงผู้บริหารบริษัทเคยพูด หรือประกาศนโยบายในการต่อต้านคอร์รัปชัน 2 คะแนน หมายถึงมีการประกาศเจตนารมณ์นำบริษัทเข้าร่วมกับ CAC 3 คะแนน หมายถึงบริษัทมีการจัดทำ
ระบบและการตรวจสอบภายในบริษัทเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชัน 4 คะแนน หมายถึงบริษัทที่ได้รับการรับรองจาก CAC และ 5 คะแนน เป็นระดับสูงสุดซึ่งหมายถึงบริษัทที่มีการดูแลไปถึงคู่ค้าของบริษัทให้ร่วมปฏิบัติตามแนวทางต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันด้วย

ปัจจุบัน มีบริษัททั้งขนาดเล็ก และใหญ่ในธุรกิจประเภทต่างๆ เข้ามาร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์กับ CAC แล้ว 323 บริษัท โดยในจำนวนนี้มีบริษัทที่จดทะเบียนในตลท. อยู่ 152 บริษัท และมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยร่วมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก บริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC แล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 54 บริษัท โดยในจำนวนนี้เป็นบริษัทจดทะเบียนฯ 19 บริษัท

ทั้งนี้ หากต้องการที่จะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถจัดตั้งกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันคอรัปชั่น และเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถผ่านการรับรองจาก CAC ได้นั้น ทาง IOD ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรต่อต้านทุจริตสำหรับผู้
บริหาร (Anti-corruption for Executive Program ACEP) และหลักสูตรสำหรับผู้ปฏิบัติ (Anti-Corruption: The Practical Guide หรือ ACPG) ขึ้นเป็นประจำ จนถึงปัจจุบันมีจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมการอบรมในหลักสูตรข้างต้นแล้วรวมทั้งสิ้น 267 บริษัท

สำหรับกระบวนการในการรับรองบริษัทที่เข้าร่วมโครงการของ CAC นั้น ขั้นแรกบริษัทจะต้องลงนามในคำประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน และกรอกแบบแสดงข้อมูลบริษัทซึ่งต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ข่าว หรือกรณีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ขั้นต่อมาก็ต้องมีการกรอกแบบประเมินตนเอง มีการดำเนินการเพื่อติดตั้งกลไกป้องกันการทุจริต และมีการตรวจสอบโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบ หรือผู้สอบบัญชีของบริษัท หรือผู้สอบบัญชีรายอื่นที่อยู่ในทะเบียนของกลต. และการอนุมัติขั้นสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการ CAC ที่มี ดร. พนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ซึ่งจะมีการพิจารณาให้การรับรองบริษัทต่างๆ ทุกไตรมาส
กำลังโหลดความคิดเห็น