CACแนะรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ในตลท. เร่งสร้างกลไกตรวจสอบกำกับดูแลภายใน หวังขจัดและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่ได้มาตรฐาน ในช่วงที่สังคมกำลังเรียกร้องให้เกิดระบบธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนของประเทศ
ดร.บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการคณะกรรมการ CAC กล่าวว่า จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกนโยบายชัดเจนที่จะให้หน่วยงานภาครัฐมีระบบการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน และจะดำเนินการเด็ดขาดเพื่อขจัดปัญหาคอร์รัปชันในภาครัฐนั้น รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนใน ตลท. ควรเป็นองค์กรแรกๆ ในภาครัฐที่แสดงการตอบสนองนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมโดยจัดตั้งกลไกภายในป้องกันการคอร์รัปชันเพื่อให้ได้รับการรับรองจาก CAC
ช่วงนี้ถือเป็นจังหวะและโอกาสที่ดีที่จะผลักดันเรื่องนี้ เพราะรัฐวิสาหกิจกำลังมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ จึงควรดำเนินการอย่างจริงจังเกี่ยวกับการติดตั้งกลไกป้องกันการคอร์รัปชัน เพื่อแสดงถึงความสามารถของคณะกรรมการในการสนองตอบนโยบาย คสช. และขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
“รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดฯ ได้ผ่านกระบวนการปฎิรูปในเชิงธุรกิจ (corporatization) มาระดับหนึ่งแล้ว จึงถือว่าได้เปรียบรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่จะนำกลไกการป้องกันการคอร์รัปชันตามโครงการของ CAC มาใช้ และแม้รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดฯ ทั้ง 5 แห่งจะลงนามแสดงเจตนารมณ์ที่จะยึดตามหลักการของ CAC แล้ว แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่เห็นความคืบหน้าในการดำเนินการวางกลไกป้องกันคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรมเลย” ดร.บัณฑิต กล่าว
ปัจจุบัน มีบริษัททั้งขนาดเล็ก และใหญ่ในธุรกิจประเภทต่างๆ เข้ามาร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์กับ CAC แล้ว 323 บริษัท โดยในจำนวนนี้มีบริษัทที่จดทะเบียนในตลท. 152 บริษัท และมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยร่วมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก รวมถึงรัฐวิสาหกิจทั้ง 5 แห่ง ซึ่งได้แก่ บมจ. ธนาคารกรุงไทย บมจ. ปตท บมจ. อสมท บมจ. ท่าอากาศยานไทย และ บมจ. การบินไทย
บริษัทที่ได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์กับ CAC ตกลงที่จะจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตภายในบริษัท การนำนโยบายการต่อต้านการทุจริตและแผนการกำกับการปฏิบัติงานไปปฏิบัติ รวมถึงการสร้างกลไกป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน
จากนั้นก็จะมีกระบวนการรับรองว่าบริษัทมีนโยบายแลระบบการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งประกอบด้วยกระบวนการประเมินตนเองของบริษัท การรับรองโดยคณะกรรมการตรวจสอบ หรือผู้ตรวจสอบภายนอก และการอนุมัติขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการ CAC ที่มี ดร. พนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ซึ่งจะมีการพิจารณาให้การรับรองบริษัทต่างๆ ทุกไตรมาส
ปัจจุบันมีบริษัทที่ผ่านการรับรองโดย CAC แล้วทั้งหมด 48 บริษัท เช่น บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บมจ. ทิสโก้ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป บมจ. ธนาคารกสิกรไทย บมจ. ปูนซีเมนต์ไทย บมจ. บางจากปิโตรเลียม บมจ. สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย จำกัด บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด และ บริษัท ซีเมนส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถจัดตั้งกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันคอร์รัปชัน และเตรียมความพร้อมให้สามารถผ่านการรับรองจาก CAC สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการไทย (IOD) ได้จัดโปรแกรมการฝึกอบรมสำหรับผู้บริหาร และหลักสูตรเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเพื่อการขับเคลื่อนดังกล่าว
CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ ทั้งนี้บทบาทของ CAC จะมุ่งเน้นเฉพาะในส่วนของภาคเอกชนแต่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลท. ด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดยทำงานอย่างใกล้ชิดและคู่ขนานไปกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลกิจกรรรมต่อต้านคอร์รัปชันทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทั้งภาครัฐเอกชน และประชาสังคม
CAC ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรชั้นนำภาคเอกชนซึ่งได้แก่ IOD, หอการค้าไทย, หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT), สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, สมาคมธนาคารไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย