ความเคลื่อนไหวของสังคมวงการต่างๆ เพื่อต่อต้านการที่นักการเมืองในระบอบทักษิณจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทั้งการชุมนุมใหญ่หลายจุดในขณะนี้ และการแสดงออกของชุมชนเมืองทั้งในพื้นที่ธุรกิจอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษาซึ่งนับว่าเป็นปรากฎการณ์ความก้าวหน้าที่น่าสนใจ
เพราะปัญหาที่สั่งสมจากพฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวงของนักการเมืองที่ร่วมมือกับข้าราชการที่มีอำนาจรัฐที่ใช้กฎระเบียบเป็นช่องทางหาผลประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้าง จนเชื้อร้ายการทุจริตคดโกงได้แผ่ขยายไปในวงการต่างๆ และกลายเป็นปัญหาวิกฤตระดับชาติที่ส่งผลถึงความถูกต้อง เป็นธรรมในการตัดสินใจและการบริหารจัดการ
จนถึงขั้นที่ภาคเอกชนซึ่งในอดีตจะไม่กล้าแสดงออกในทางที่มีผลกระทบต่อแนวทางของรัฐบาลอย่างที่เกิดขึ้นยุคนี้
คณะกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนศกนี้ มีมติไม่เห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมให้กับความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน และยืนยันว่า
“สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไม่เห็นด้วยกับการทุจริตคอร์รัปชันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ”
ขณะที่ ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวหลังประชุมใหญ่สามัญสมาชิกองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันในวันเดียวกันว่า แม้รัฐบาลแถลงการณ์ถอนร่างพระราชบัญญัติ 6 ฉบับ แต่ยังมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ทุกฝ่ายคัดค้านค้างอยู่ในรัฐสภาอีก 1 ฉบับ และวุฒิสภาไม่รับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ต้องส่งกลับให้สภาผู้แทนราษฎรกลับมาพิจารณาใหม่ ใน 180 วัน หลังจากนั้นสามารถประกาศใช้ พ.ร.บ.ในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ได้ทันที
ที่ประชุมมีมติร่วมกัน 5 ข้อ คือ
1. เห็นชอบกับแนวคิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ใช่เรื่องการนิรโทษกรรมแต่เพียงอย่างเดียว แต่แฝงด้วยการล้างผิดให้กับคดีโกง
2. องค์กรฯ จะจับตาการทำงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพราะการยกเลิก พ.ร.บ. ไม่ได้หมายถึงการล้มเลิกความพยายาม องค์กรฯ จะไม่ยอมให้มีการสอดแทรกการล้างผิดคดีโกงขึ้นอีกในรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมจะต่อสู้เคียงข้างประชาชนทันทีในการต่อต้านการกระทำมิชอบ ที่มีผลต่อการส่งเสริมให้เกิดการทุจริตคดโกง
3. การคัดค้านครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายสากล และเป็นไปอย่างสันติวิธี โดยไม่ได้ใช้ความรุนแรง หรือก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ดังนั้น หากประชาชน นิสิตนักศึกษาผู้ที่ทำหน้าที่พลเมืองของประเทศที่ออกมาเรียกร้องความถูกต้อง ในการต่อต้านคอร์รัปชันได้รับความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม องค์กรฯ พร้อมที่จะออกมาปกป้อง และจะเรียกร้องให้นานาชาติเห็นถึงการกระทำที่ไม่ยุติธรรม จะประณามการกระทำไปทั่วโลก การต่อต้านคอร์รัปชันจึงไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง
4. องค์กรจะดำเนินการต่อต้านคอร์รัปชันต่อไปแม้รัฐบาลจะประกาศยกเลิกร่างกฎหมายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าการโกงกินจะหมดไป ยังมีโครงการของรัฐบาลอีกมากที่สังคมยังเคลือบแคลง เช่น โครงการรับจำนำข้าวที่ขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท เงินป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้าน โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท และโครงการอื่นๆ
5. องค์กรฯ ยืนยันว่าจุดยืนไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาล หรือต่อต้านการปรองดอง แต่คือการต่อต้านคอร์รัปชัน แม้ว่ารัฐบาลจะแถลงการณ์ยกเลิก พ.ร.บ. แต่กลับไม่ทำให้การชุมนุมคลี่คลาย เสียงของประชาชนแสดงให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นในความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล
องค์กรฯ ต้องการให้รัฐบาลทบทวนบทบาทของตนเอง ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องการทุจริตคอร์รัปชัน ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจให้กับกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและสังคมโลก ให้เห็นถึงความชอบธรรมในการบริหารประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการลงชื่อคัดค้านการล้างผิดคดีโกงผ่านเวบไซต์ Change.org ปรากฎว่าได้รับการตอบรับอย่างมากมาย นับเป็นการแสดงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สูงสุดเท่าที่เคยมีมาในสังคมไทย เมื่อครบ 1 ล้านเสียง ก็จะนำไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญและวุฒิสมาชิก
ส่วนสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD ร่วมกับ TDRI ได้จัดงานสัมมนาต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันประจำปี ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่ 4 เพื่อสนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน โดยเฉพาะบทบาทของบริษัทเอกชนผ่านโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเริ่มโครงการเป็นปีที่ 3
ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD ชี้แจงถึงโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทย ในการต่อต้านทุจริต ซึ่ง IOD ในฐานะเลขานุการโครงการฯ ได้วางแผนการดำเนินงานในปีนี้ 4 เรื่อง ได้แก่
1.การสร้างความเข้าใจในกระบวนการให้การรับรอง โดยจะจัดสัมมนาให้แก่บริษัทต่างๆ ที่ได้ลงนามเข้าร่วมโครงการ
2.การเชิญชวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้เข้ามาร่วมแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันกับแนวร่วมปฏิบัติฯ ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อขยายพื้นที่การทำธุรกิจที่ปราศจากการทุจริตให้เพิ่มขึ้น โดยทางแนวร่วมปฏิบัติฯ คาดหวังให้กลุ่มบริษัทที่อยู่ในระดับ 5 - 3 ดาว ของ CG Report เข้าร่วมโครงการ เพราะเรื่องการสร้างนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันและระบบป้องกันการทุจริตนั้นเป็นเรื่องที่สืบเนื่องจาก CG หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี และถึงเวลาอันสมควรที่ประเทศไทยจะต้องลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาเรื้อรังระดับชาติด้วยกันทุกภาคส่วน
3.การให้ความรู้และแนวทางการดำเนินงานแก่บริษัทที่ยังขาดแคลน ซึ่งบริษัทเหล่านี้ สามารถส่งพนักงานและผู้บริหารเข้าอบรมหลักสูตรที่ IOD เป็นผู้จัด โดยแบ่งออกเป็น 2 หลักสูตรด้วยกัน หลักสูตรแรกเป็นหลักสูตรสำหรับผู้บริหารโดยเฉพาะ เน้นเนื้อหาการทำความเข้าใจภาพรวมของการสร้างนโยบายและกลไกป้องกันการทุจริตภายในองค์กรธุรกิจ ส่วนอีกหลักสูตรสำหรับพนักงานระดับปฏิบัติการที่รับผิดชอบในการนำนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันไปสู่การปฏิบัติ
4.การจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจต่อเรื่องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน และทางแนวร่วมปฏิบัติ
ข้อคิด ...
บทบาทของภาคเอกชนที่น่าสนใจในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันพัฒนามาถึงปัจจุบัน เริ่มได้เห็นรูปธรรมที่มีความหวัง โดยเฉพาะการมีสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ซึ่งคนที่เป็นกรรมการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มักผ่านการอบรมหลักสูตรการพัฒนาบทบาทหน้าที่ของกรรมการที่มีหลายหลักสูตร
การให้ความสำคัญเรื่องการปลุกจิตสำนึกและการกระทำที่ไม่ยอมรับการโกง ตั้งแต่ระดับคณะกรรมการจนถึงผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน จึงเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ฝังอยู่ในยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีดำเนินกิจการ (CSR-in-process) ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุณธรรม ในการขับเคลื่อนองค์กร
โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ในปัจจุบันมีกิจการที่เข้าร่วมโครงการขณะนี้ 249 บริษัท และมี 22 บริษัทที่สามารถปฏิบัติพันธกิจนี้อย่างสมบูรณ์แบบจนได้รับการประกาศเกียรติคุณ จึงเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมในความกล้า และความดีงามที่เลือกแนวทางนี้นับว่าได้สร้างแบบอย่างแก่วงการธุรกิจเมืองไทย
Suwatmgr@gmail.com