องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย จวกรัฐบาลผิดสัตยาบันที่เคยให้ไว้ในการเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาของสหประชาชาติ ระบุนิรโทษกรรมคนผิดจะทำให้การคอร์รัปชันรุนแรงขึ้น และกระทบต่อความเชื่อมั่น และการลงทุนของประเทศ พร้อมย้ำเดินหน้าต่อต้านเต็มที่เพื่อให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง
วันนี้ (28 ต.ค.) เวลา 09.30 น. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) พร้อมด้วยสมาชิกองค์กรในภาคธุรกิจ การเงินและการลงทุน ได้จัดงานแถลงจุดยืนต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีการแก้ไขในมาตรา 3 ส่งผลกระทบต่อคดีทุจริตต่างๆ โดยนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย อ่านแถลงการณ์ว่า ทางองค์กรและภาคีภาคธุรกิจ การเงิน และการลงทุนมีจุดยืนในการคัดค้าน และต่อต้านการคอร์รัปชัน รวมถึงการล้างผิดคดีทีเกิดจากการคอร์รัปชัน
ทังนี้ ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …. (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) มีมติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 ความบางนั้น
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า การแก้ไขเนื้อหามาตรา 3 ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของคณะกรรมาธิการฯ โดยระบุว่า การกระทำดังกล่าวมีเจตนาลบล้างคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีทุจริต และส่งผลให้คดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาต้องยุติไป ซึ่งส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อกระบวนการต่อสู้คอร์รัปชัน ที่ทุกภาคส่วนของสังคมได้ขับเคลื่อนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน รวมทั้งจะทำให้การคอร์รัปชันในประเทศมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะแต่ละปีงบประมาณแผ่นดินที่เสียไปกับการทุจริตมีมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการกระทำทุจริตโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทำลายระบบคุณธรรมและจริยธรรมของสังคมอย่างร้ายแรง รวมทั้งส่งผลเสียต่อผู้ถูกล่าวหาที่ถูกตัดโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธ์ ที่สำคัญ กระบวนการยุติธรรมของประเทศก็จะหมดความศักดิ์สิทธิ์
“เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขัดแย้งกับคำประกาศเจตนารมณ์ และสัตยาบันของรัฐบาลที่เคยแสดงไว้ก่อนเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติ เพื่อการต่อต้านการทุจริต เมื่อปี 2554 ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรก และประเทศเดียวในโลกที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่คดีคอร์รัปชันภายหลังลงนามให้สัตยาบัน ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ประเทศในสายตาของประชาคมโลก และกระทบต่อความเชื่อมั่น ด้านการลงทุนในประเทศ” นายประมนต์ กล่าวอีกว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และสมาชิกองค์กรภาคธุรกิจ เห็นว่ามติดังกล่าวจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อกระบวนการต่อสู้คอร์รัปชันที่ทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่า
จะเป็นภาคประชาชน เอกชน รวมถึงภาครัฐที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นแกนหลัก ได้พยายามขับเคลื่อนร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง
ทางองค์กรฯ จึงขอยืนยันคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 เพื่อล้างผิดคดีทุจริต และเน้นย้ำจุดยืนว่า บรรดาคดีในฐานความผิดคอร์รัปชันทั้งหมดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องของกระบวนการยุติธรรมในสังคม และเพื่อให้การปราบปราบการทุจริตคอร์รัปชันเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง และน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอให้คำมั่นว่าเราจะทำทุกอย่างที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม และขอเชิญชวนให้ประชาชนผู้ต้องการเห็นสังคมไทยปราศจากคอร์รัปชันร่วมสนับสนุนในการคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 ครั้งนี้ และเราจะเอาชนะคอร์รัปชันได้ด้วยพลังของสังคม
อนึ่ง องค์กรต่อต้านการคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มีสมาชิกทั้งจากภาคการเงินและการลงทุน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งประกอบด้วย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีความพยายามขับเคลื่อนต่อต้านการคอร์รัปชันร่วมกันภายใต้เหตุผล ประกอบด้วย
1.เป็นที่ทราบว่าสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยมีความรุนแรงมากขึ้น ในทุกระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ตัวเลขจากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปกับการทุจริตมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลที่สามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างความแข็งแกร่ง และศักยภาพการแข่งขันของประเทศได้อย่างมาก
2.ถ้อยคำแก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 เป็นการส่งเสริมการกระทำทุจริต ส่งผลให้ผู้มีส่วนสมรู้ร่วมคิดทั้งตัวการ ผู้สนับสนุน และผู้ถูกใช้ให้กระทำ ไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ซึ่งจะทำให้คอร์รัปชันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจนมิอาจประมาณความสูญเสียได้
3.การล้างผิดในคดีทุจริตเป็นการทำลายระบบคุณธรรม และจริยธรรมของสังคมอย่างร้ายแรง สังคมไทย และโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนชาติ จะมีค่านิยมใหม่ว่าโกงแล้วไม่มีความผิด โกงแล้วล้วนได้แต่ผลดี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความล้มเหลวทางสังคมอย่างใหญ่หลวงเกินกว่าจะแก้ไขได้
4.มติแก้ไขเพิ่มเติมในร่างกฎหมายดังกล่าว ส่งผลเสียโดยตรง และอย่างรุนแรงต่อผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากถูกตัดโอกาสที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด หมดโอกาสที่จะได้ใช้ความจริงพิสูจน์ข้อกล่าวหา และลบล้างความระแวงแคลงใจของคนในสังคม ที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมของประเทศก็จะหมดความศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่สามารถทำให้สังคมเชื่อในคำตัดสิน และไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษตามครรลองของกฎหมายเพื่อชดใช้ และรับผิดต่ออาชญากรรมร้ายแรงที่กระทำต่อแผ่นดิน และคนไทยทั้งประเทศได้
5.รัฐบาลได้เคยแสดงความมุ่งมั่นที่จะต่อต้านคอร์รัปชัน โดยนำส่วนราชการต่างๆ ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 ให้คำมั่นว่าการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นภารกิจหน้าที่ และนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และข้าราชการทุกคน ทั้งฝ่ายการเมือง และข้าราชการประจำ พร้อมกับได้วางยุทธศาสตร์มาตรการต่างๆ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม ทว่า การแก้ไขเพิ่มเติมความในร่างมาตรา 3 ขัดแย้งอย่างชัดแจ้งต่อคำประกาศเจตนารมณ์ของรัฐบาล ซึ่งส่งจะผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และความพยายามต่างๆ ของรัฐบาลอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และไม่ควรเกิดขึ้น
6.รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption : UNCAC 2003) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 แต่ทว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ มีเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงว่าจะขัดแย้ง และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ กรณีนี้อาจทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรก และประเทศเดียวในโลกที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่คดีอันเป็นความผิดฐานคอร์รัปชันภายหลังลงนามให้สัตยาบัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียในสายตาของประชาคมโลก