ภาคีเครือข่ายเสริมสร้างพลังคุณธรรมจริยธรรมของแผ่นดินเพิ่งจะแถลงข่าวเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา ภาคีฯ นี้ประกอบด้วย 7 องค์กร คือ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแหงชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และสภาทนายความ
น่าเสียดายที่ภายใต้วัตถุประสงค์อันสวยหรูที่ว่า จะร่วมมือกันในการดำเนินการขับเคลื่อนพลังคุณธรรมจริยธรรมของแผ่นดินอย่างเข้มแข็งเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน ไม่มีใครสักคนที่เป็นตัวแทนจากทั้ง 7 องค์กรแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีผลลบล้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้จำคุกคนโกงอย่าง นช. ทักษิณ ชินวัตรและนายประชา มาลีนนท์ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายและพันธกิจของภาคีฯ ที่ประกาศออกมาโดยตรง
ไม่รู้ว่ากลัวทักษิณและคนในรัฐบาลนี้ไม่พอใจหรือเปล่า
การรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในช่วงที่ผ่านมาของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ องค์กรอิสระ และภาคเอกชนนั้น หนักไปในทางแถลงข่าว แถลงการณ์ จัดอีเวนต์ ซึ่งเป็นรูปแบบของการโฆษณาประชาสัมพันธ์องค์กร เนื้อหาที่นำเสนอล้วนแต่เป็นหลักการนามธรรมว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นสิ่งชั่วร้าย ต้องช่วยกันสร้างจิตสำนึกของคนไทยให้ร่วมมือกันต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่ไม่เคยรณรงค์ไม่ให้เอาเยี่ยงอย่างคนโกงที่ศาลตัดสินแล้วว่าทุจริตคอร์รัปชั่น อยางเช่น นช.ทักษิณ นายประชา นายวัฒนา อัศวเหม และนายสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะ ฯลฯ
การรณรงค์ปลุกจิตสำนึกต่อต้านคอร์รัปชันจึงถูกมองว่าเป็นเพียงกระแสที่เกิดขึ้นอย่างฉาบฉวย เป็นแฟชั่นแห่งยุคสมัยเท่านั้น เป็นการต่อต้านคอร์รัปชั่นแต่ไม่แตะต้องคนโกง ขนาดผู้นำรัฐบาล ที่ได้ชื่อวาโกงที่สุด โกงกันหน้าด้านๆ ให้เห็นกันชัดๆ ก็ยังลอยหน้าลอยตาเข้าขบวนแห่กับเขาไปด้วย
ท่าทีต่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าบรรดาหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ เอาเข้าจริงแล้วเอาจริงเอาจังกับการต่อต้านคอร์รัปชันแค่ไหน หรือทำพอเป็นพิธี หรือทำจริง ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อผลประโยชน์ขององค์กร เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ในมาตรา 3 ซึ่งพรรคเพื่อไทย แก้ไขใหม่หมดในชั้นกรรมมาธิการ คือใบอนุญาตให้โกงชาติได้ โดยไม่มีความผิด
คนโกงที่คดีถึงทีสุดแล้ว ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งหารทางการเมืองพิพากษาจำคุกแล้วกำลังหลบหนีโทษอยู่ในขณะนี้สองคน คือ นช.ทักษิณและนายประชาจะไม่มีความผิด และยังได้เงิน 46,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยอีก 5,000 ล้านบาทคืน ในกรณีของ นช.ทักษิณ
ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้จึงมีความหมายว่า ไม่เอาผิดคนโกงที่โกงไปแล้วหมื่นล้าน พันล้าน ไม่เป็นไร ให้กลับมาตั้งต้นใหม่ รีเซ็ตซีโร่ ซึ่งขัดแย้งกับเป้าหมายในการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างจิตสำนึกต่อต้านคอร์รัปชั่นโดยสิ้นเชิง เพราะร่างกฎหมายนิรโทษมีนัยว่าโกงได้ไม่เป็นไร ถ้ามีเสียงข้างมากในสภา
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ซึ่งเป็นองค์กรของภาคเอกชน มีบทบาทอย่างแข็งขันในการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นในช่วงที่ผ่านมา นอกจากจะจัดอีเวนต์แล้วยังจัดกิจกรรมที่ให้การศึกษา ให้ความรู้กับประชาชนว่าใครโกง โกงอย่างไร
วันที่ 28 ตุลาคมนี้ สมาชิกองค์กรรวมทั้งตัวแทนจากภาคธุรกิจจะร่วมกันแถลงจุดยืนต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมคดีทุจริตคอร์รัปชั่นที่โรงแรมอโนมา ประตูน้ำ
แต่การแสดงจุดยืนเพียงอย่างเดียวแล้วแยกย้ายกันกลับบ้านคงไม่พอ เพราะคนโกงโดยเฉพาะคนโกงในระบอบทักษิณนั้น ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่แคร์ ถ้าจะโกงก็สามารถทำได้ทุกอย่าง แม้จะผิดกฎหมาย ผิดจริยธรรมคุณธรรม แค่แถลงการณ์แผ่นเดียวคงไม่สามารถยับยั้งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมได้แน่
กิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่นต้านโกงนั้น ก็ดูจะหน่อมแน้มไร้สาระ ในสถานการณ์ที่ทักษิณกำลังจะยึดประเทศ ล้มคดีทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นจะต้องมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนว่าให้ยกเลิกร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ในส่วนที่เป็นการล้มล้างผลของคดีทุจริตคอร์รัปชั่นที่ศาลตัดสินแล้ว และคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา และจะต้องมีมาตรการตอบโต้ หาก นช.ทักษิณยังคงดึงดันที่จะเดินหน้าล้างความผิดฐานโกงชาติต่อไป
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นมีขีดความสามารถ มีทรัพยากรที่จะเคลื่อนไหวได้อย่างมีพลังมากกว่าองค์กรอื่นๆ ทั้งยังมีสถานะที่ได้รับการยอมรับจากสังคมในระดับหนึ่งจากผลงานที่ผ่านมา
อยู่ที่ว่ากล้าหรือไม่ ที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องหลักการ ค่านิยมขององค์กรฯ