xs
xsm
sm
md
lg

ต่อต้านคอร์รัปชันก็เป็น CSR ! / สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งาน “วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2556 “ที่จัดขึ้นที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อเร็วๆ นี้ เห็นภาพข่าวแล้วมีความคิดความเห็นอย่างไรบ้าง
บางคนอาจคิดว่าก็แค่คึกคักวันเดียวเฉพาะที่จัดงาน เพราะข่าวสารความเคลื่อนไหวของคนที่พอใจกับการหาผลประโยชน์จากการ “ฉ้อราษฎร์และบังหลวง” ทั้งนักการเมืองและราชการก็ยังพยายามทำต่อไป
อีสท์วอเตอร์ร่วมงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2556 ACT NOW ร่วมกันสู้ กอบกู้อนาคต เพื่อกระตุ้นสังคมไทยให้ร่วมมือกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ พร้อมปรับเปลี่ยนค่านิยมไม่ยอมรับการคอร์รัปชันอีกต่อไป
แต่ถ้าคิดเชิงบวก บทบาทการรวมตัวของภาคส่วนต่างๆ กว่า 40 องค์กรที่ประกาศตัวเป็น “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)” รวมทั้ง CSR Club ของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย น่าจะเป็นปรากฎการณ์ที่น่าส่งเสริม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศจุดยืนร่วมขบวนนี้ และมีการทำจริงในองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยิ่งน่าสนใจติดตามความคืบหน้า
เพราะ “การทุจริตคอร์รัปชัน” เป็นปัญหาใหญ่ของเมืองไทยที่บั่นทอนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นภัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลยุคใดที่จะแก้ไขจริงจัง
มูลค่าทรัพย์สินที่ธุรกิจได้จ่ายเพื่อการคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะดูเหมือนเล็กน้อยอย่างการจ่ายเพื่ออำนวยความสะดวก ไปจนถึงการจ่ายเป็นมูลค่าสูงเพื่อให้ได้เปรียบทางการค้า หรือการแข่งกับแย่งงานโดยมิชอบ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
นอกจากกระทบกับตัวธุรกิจเองในแง่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง เนื่องจากธุรกิจก็ต้องไปรวมต้นทุนที่จ่ายใต้โต๊ะเข้าไปในราคาสินค้า หรือบริการ ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น
เมื่อธุรกิจไม่มีการแข่งขันกันพัฒนาก็ทำให้ไม่มีความก้าวหน้า หรือขาดนวัตกรรม และผู้บริโภคก็ขาดทางเลือกที่ดีกว่า ทั้งนี้ เมื่อมองในภาพรวมระดับประเทศ การคอร์รัปชันจึงสะท้อนให้เห็นการขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับประเทศแน่นอน
ก.ล.ต. จึงตระหนักถึงความรุนแรงของผลกระทบจากปัญหานี้ และด้วยภารกิจในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทยให้ก้าวหน้า การทุจริตคอร์รัปชันจึงเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ขัดขวางเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ก.ล.ต. จึงประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ และมุ่งหวังให้ตลาดทุนไทยและสังคมไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธาน และ ดร.มานะ นิมิตรมงคล  ผู้อำนวยการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมงาน “คนไทยขอมือหน่อย โดย มูลนิธิเพื่อคนไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายองค์กรต่างๆ ใช้เป็นช่องทางการกระตุ้นให้เห็นปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ
การทุจริตคอร์รัปชันไม่เพียงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังผิดศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมอันดีงาม และเป็นพฤติกรรมที่ไม่อาจยอมรับได้ ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการใน 2 ระดับ คือ ระดับองค์กร และระดับตลาดทุนไทย
การดำเนินการในระดับองค์กร
เริ่มจากทัศนคติและการปฏิบัติของบุคลากรในองค์กร ทั้ง “ไม่ให้” “ไม่รับ” และไม่สนับสนุนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีพฤติกรรมในการ “ให้” และ “รับ”
ในเรื่องของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ได้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์สำหรับผู้บริหารพนักงาน และลูกจ้างของ ก.ล.ต. ไว้อย่างชัดเจนในจรรยาบรรณพนักงาน ซึ่งบุคลากรของ ก.ล.ต. ทุกคนจะต้องลงนามรับทราบและถือปฏิบัติตามจรรยาบรรณพนักงานและแนวทางธรรมาภิบาลของ ก.ล.ต. อย่างสม่ำเสมอ ปีละหนึ่งครั้ง
สำหรับพนักงานใหม่ที่เข้าปฏิบัติงานกับ ก.ล.ต. จะได้รับการอบรมให้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ อาทิ การไม่ใช้อำนาจหน้าที่หาประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น การไม่เรียกทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลหรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร และการไม่รับทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกินกว่าที่พึงให้กันตามประเพณีนิยม ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติในการรับทรัพย์สินของพนักงานองค์การของรัฐ ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
โดยเฉพาะงานของ ก.ล.ต. ส่วนหนึ่ง คือ การพิจารณาอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ การออกใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ การให้ความเห็นชอบผู้ประกอบวิชาชีพและบุคลากรในตลาดทุน รวมถึงการลงโทษผู้ที่กระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นงานที่สามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้อยู่ในการกำกับดูแล จึงอาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันของผู้ปฏิบัติงานในการเรียก หรือรับผลประโยชน์ได้ เพื่อความเชื่อมั่นจากผู้อยู่ในการกำกับดูแลว่าจะได้รับการปฏิบัติจาก ก.ล.ต. อย่างเท่าเทียมเป็นธรรม โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยมาตรฐานที่ต่างกัน ดังนั้น ก.ล.ต. จึงได้กำหนดให้เรื่องดังกล่าวอยู่ภายใต้การตัดสินใจทำงานร่วมกันเป็นองค์คณะและมีลำดับการควบคุมงานตามสายงานบังคับบัญชา โดยมีเลขาธิการควบคุมการดำเนินงานในขั้นตอนสุดท้าย
ผู้บริหารและพนักงาน ก.ล.ต. ผนึกกำลังในงานรวมพลังต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ ก.ล.ต.ที่สนับสนุนตลาดทุนให้ความสำคัญกับการดำเนินงานโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐและเอกชน
นอกจากนั้น ยังมีการทบทวนและสอบทานความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการทำงานเป็นระยะต่อเนื่องทุกปี โดยฝ่ายตรวจสอบกิจการภายในทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายงานที่อาจมีความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงมีการประเมินผลและจัดทำข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงาน
ตัวอย่างการตรวจสอบแนวทางการดำเนินงานขององค์กรในเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชันในเบื้องต้น เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การสนับสนุนเงินบริจาค การรับพนักงานใหม่เข้าทำงาน เป็นต้น โดยเทียบกับแนวปฏิบัติที่ดีในระดับสากล ได้แก่ แบบประเมินตนเองเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันที่จัดทำโดย IOD ซึ่งอ้างอิงจากแบบประเมินตนเองต้นฉบับของ Transparency International พบว่า แนวทางการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวของ ก.ล.ต. มีความชัดเจนและโปร่งใสเพียงพอ
การดำเนินการในระดับตลาดทุน
การผลักดันให้ตลาดทุนไทยตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
การผลักดันผ่านบริษัทจดทะเบียน
•สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และเปิดเผยการดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาลงทุนของผู้ลงทุน โดย ก.ล.ต. อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางและจัดหามาตรการที่เหมาะสมในการกระตุ้นตลอดจนสร้างแรงจูงใจแก่บริษัทจดทะเบียนในการเปิดเผยนโยบายและการดำเนินมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
•สร้างองค์ความรู้ในเรื่องการจัดทำนโยบายและวิธีปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันสำหรับ
บริษัจดทะเบียน ด้วยการผลิตและเผยแพร่คู่มือในเรื่องดังกล่าว โดย ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการเตรียมทำคู่มือ
•แผนงานในอนาคตประมาณ 3 ปีข้างหน้า คือ การเตรียมออกประกาศให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลนโยบายและการดำเนินมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในรายงานประจำปี แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ 69-1) ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้บริษัทจดทะเบียนสามารถตรวจสอบและปรับปรุงการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ข้อคิด...
เมื่อดูจากความเคลื่อนไหวของ ก.ล.ต.ในเรื่องที่ให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชันที่เริ่มจากกฎกติกาดำเนินการภายในองค์กร และในระดับตลาดทุน จะเกิดเป็นกติกาเปิดเผยในหนังสือรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียนเรื่องนโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน ก็จะเห็นความคืบหน้า
ขณะเดียวกันจากตัวอย่างบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ที่ร่วมกับ CSR Club เข้าร่วมงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2556 : ACT NOW ร่วมกันสู้ กอบกู้อนาคต” เป็นการแสดงออกถึงความร่วมมือร่วมใจในการต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยก้าวพ้นไปจากความเลวร้ายของคอร์รัปชัน ตามคำขวัญงานในปีนี้ว่า “รวมพลังเปลี่ยนประเทศไทย” เพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยร่วมมือกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ พร้อมปรับเปลี่ยนค่านิยมไม่ยอมรับการคอร์รัปชั่นอีกต่อไป
นี่เป็นการตอกย้ำสังคมว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนต้องลุกขึ้นต่อสู้กับการคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้เพราการพูดบ่นโดยไม่มีการกระทำ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และหากเริ่มจากนี้ ก็อาจเป็นส่วนช่วยให้การคอร์รัปชันลดลง กิจกรรมนี้จึงเป็นการแจ้งเตือนให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงภัยร้ายของมหาวิกฤตคอร์รัปชัน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จึงหวังปลุกเร้าสังคมไทยทุกภาคส่วน ให้ลุกขึ้นมาร่วมกันสู้ ลงมือทำเพื่ออนาคตของประเทศไทย รวมทั้งระดมความเห็นถึงวิธีการที่แต่ละภาคส่วนจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบและทุกขนาด
ข้อมูลการจัดอันดับปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยรุนแรงมากขึ้นทุกปี ในปี 2554 ไทยอยู่ในอันดับที่ 80 จากการสำรวจใน 183 ประเทศทั่วโลกที่มีปัญหาการคอรัปชัน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่พบว่าสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทย ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผลสำรวจล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นต่ำลงมาอยู่ที่ 3.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งถือว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทยยังสอบตก
การเคลื่อนไหวต่อต้านการทุจริตและแสดงออกในการไม่ยอมรับและไม่สนับสนุนให้เกิดขึ้น นับเป็นการประกาศพันธสัญญา (Commitment) ที่มีความหมาย และสังคมคาดหวังให้บริษัทจดทะเบียนกลุ่มแรกที่เป็นภาคีเครือข่ายช่วยกันสร้างมาตรฐานใหม่เรื่อง ความสุจริต เป็นธรรม และโปร่งใส
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังสือ “เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม” ซึ่งเป็นคู่มือแนวปฏิบัติการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งข้อแรกใน 8 หัวข้อ ก็คือ “การกำกับดูแลกิจการที่ดี” หรือมีบรรษัทภิบาลที่ดี (CG)
มีการแนะนำให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการขัดแย้งทางผลประโยชน์ การเล่นพรรคเล่นพวก หรือการสมคบคิด (ฮั้ว) รวมทั้งการจ่าย หรือการรับสินบนทุกรูปแบบ นี่ก็อยู่ในหลัก CSR
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น