xs
xsm
sm
md
lg

CAC เผยบริษัทผ่านการรับรองระบบป้องกันทุจริตเพิ่มเป็น 152 บริษัท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


CAC เผยรายชื่อ 19 บริษัทใหม่ผ่านเกณฑ์ ปลื้มบริษัทผ่านการรับรองระบบป้องกันทุจริตเพิ่มเป็น 152 บริษัท ชี้ภาคเอกชนให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น แม้กระบวนการเข้มข้นกว่าเดิม
ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ CAC ได้มีมติให้การรับรองบริษัทที่ผ่านกระบวนการประเมินตนเองว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดเพิ่มขึ้นอีก 19 บริษัท ทำให้จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC เพิ่มขึ้นเป็น 152 บริษัท
CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ ปัจจุบัน มีบริษัทเอกชนเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันกับโครงการ CAC แล้ว 548 บริษัท (เป็นบริษัทจดทะเบียน 316 บริษัท) ในขณะที่จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองเพิ่มขึ้นเป็น 152 จาก 133 ในการประชุมคณะกรรมการ CAC ครั้งที่แล้วในเดือนตุลาคม 2558
“ถึงแม้ CAC จะมีการปรับกระบวนการรับรองให้มีความเข้มข้นมากขึ้นตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แต่จำนวนของบริษัทที่ผ่านการรับรองในรอบนี้ ยังเพิ่มขึ้นถึงเกือบเท่าตัว (เป็น 19 บริษัท จาก 11 บริษัทในไตรมาสก่อนหน้า) แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนสนใจและให้ความสำคัญต่อการสร้างกลไกป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันภายในองค์กรมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี” ดร. บัณฑิต กล่าว
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ทางคณะกรรมการ CAC ได้เพิ่มข้อกำหนดเสริมความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการรับรองบริษัทที่ผ่านการประเมินตนเองว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับในภาคเอกชน 8 ท่านมาร่วมทำหน้าที่คณะกรรมการพิจารณารับรอง (Certification Committee) และได้เพิ่มข้อกำหนดให้บริษัทจัดส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการขอการรับรอง รวมถึงได้กำหนดกรอบเวลาให้บริษัทที่ยื่นประกาศเจตนารมณ์ต้องมีการดำเนินการให้ผ่านการรับรองภายใน 18 เดือน และเมื่อผ่านการรับรองครบสามปีแล้วต้องยื่นขอรับรองใหม่ (Re-certification)
ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC)
สำหรับรายชื่อ 19 บริษัทที่ผ่านการรับรองในไตรมาสที่ 4/58 ได้แก่
1) บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
2) บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน)
3) บริษัท ไทยรีประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
4) บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด
5) บริษัท ศรีอยุธยา แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)
6) บริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
7) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
8) บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
9) บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน)
10) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
11) บริษัท หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
12)บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)
13)บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
14)บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)
15)บริษัทยารา (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
16)บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
17)บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
18)บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
19)บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ ในไตรมาสนี้ คณะกรรมการ CAC ได้พิจารณาให้การรับรอง บริษัท เอไอเอ จำกัด บริษัท เอไอเอ จำกัด (ประกันวินาศภัย) สาขาประเทศไทย และ บริษัทไพร้ซ์วอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอส จำกัด ซึ่งยื่นขอรับรองใหม่ (Re-certification) หลังจากที่ใกล้ครบกำหนดสามปี
การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัทที่เข้าร่วม ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ซึ่งกระบวนการรับรองของโครงการ CAC รวมถึงการชี้แจงข้อมูลและส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการ CAC พิจารณา ในกรณีที่คณะกรรมการมีข้อสงสัยหรือบริษัทเคยมีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตมาก่อน อย่างไรก็ตาม สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CAC และรายชื่อของบริษัทที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ และผ่านการรับรองได้จาก: http://www.thai-cac.com
CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ บทบาทของ CAC จะเน้นในส่วนของบริษัทเอกชน ด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดย CAC ทำงานอย่างใกล้ชิดและคู่ขนานไปกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT)
โครงการ CAC จัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการ CAC ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจาก Center for International Private Enterprise หรือ CIPE จากสหรัฐอเมริกา UK Prosperity Fund จากสหราชอาณาจักร และมูลนิธิมั่นพัฒนา โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น