CAC แนวร่วมปฎิบัติภาคเอกชนฯ เผย 88 บริษัทคู่ค้าของบ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ฯ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต ปลื้มส่งผลเพิ่มจำนวนเป็น 649 บริษัทแล้ว ในจำนวนนี้มี 331 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยกย่องการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หวังขยายผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 ผู้บริหารจาก 88 บริษัทที่เป็นคู่ค้าของบริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับโครงการ CAC ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของโครงการ CAC ที่สมาชิกของโครงการได้พยายามขยายเครือข่ายธุรกิจสะอาดให้ครอบคลุมไปถึงคู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ จนเกิดเป็นผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชม
การเข้าร่วมโครงการของ 88 บริษัทนี้ ทำให้จำนวนบริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์กับ CAC เพิ่มเป็น 649 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถึง 331 บริษัท ทั้งนี้ CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ โดยในปัจจุบัน มีบริษัท 152 แห่งที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด
“บริษัทสมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ นับเป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยมของการสร้างและขยายเครือข่ายธุรกิจสะอาดด้วยการทำตัวเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Agent ซึ่งได้สร้างแบบอย่างของการประพฤติปฏิบัติที่ดีและกระจายต่อไปยังธุรกิจที่อยู่รอบข้าง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่ายกย่องมาก”
“การที่คู่ค้าของบริษัทสมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์เข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC เป็นจำนวนมากเช่นนี้ บ่งชี้ว่าบริษัทส่วนใหญ่ไม่ชอบคอร์รัปชัน ไม่ต้องการทำธุรกิจแบบเจือสีเทาๆ และพร้อมที่จะทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ถ้าหากบริษัททุกแห่งที่ผ่านการรับรองจาก CAC แล้ว ทั้ง 152 บริษัทสามารถชักชวนคู่ค้าให้มาร่วมโครงการได้เหมือนที่สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ทำ ก็เชื่อแน่ว่าจำนวนของบริษัทที่ทำธุรกิจอย่างโปร่งใสจะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ และทำให้วัฒนธรรมการทำธุรกิจสะอาดขยายวงจนกลายเป็นกระแสหลักของระบบเศรษฐกิจไทยในที่สุด” ดร. บัณฑิตกล่าว
สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เป็น 1 ใน 27 องค์กรแรกที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตร่วมกับ CAC ตั้งแต่เมื่อ CAC เริ่มก่อตั้งในปี 2553 และเป็น 1 ใน 9 องค์กรแรกที่ผ่านการรับรองจาก CAC เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2556 หลังจากที่ได้รับการรับรองจาก CAC แล้ว สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ ยังเดินหน้าผลักดันให้คู่ค้าหลักของบริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญและเข้ามาเป็นแนวร่วมในการต่อต้านทุจริตด้วย
“ผมขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับบริษัทคู่ค้า ทั้ง 88 บริษัท ที่มีความตั้งมั่นทำความดี และรวมพลังต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อสร้างสังคมให้ปราศจากการทุจริตทุกรูปแบบ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะขยายแนวร่วมต่อไปอีก เพื่อสร้างประเทศไทยให้ยั่งยืนตลอดไป” คุณสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่มประธานกรรมการบริษัท บมจ. สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี กล่าว
ดร. วารีรัตน์ อัครธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทรเด้นท์ สตีล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเศษโลหะครบวงจรที่เป็นหนึ่งในคู่ค้าของบริษัทสมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ ที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC กล่าวว่า “การที่ธุรกิจต้องจ่ายใต้โต๊ะถือเป็นต้นทุนแฝงที่ไม่มีใครอยากจ่ายอยู่แล้ว การไม่จ่ายสินบนจะทำให้เราสามารถทำธุรกิจได้โดยไม่ต้องห่วงหลัง และสามารถเดินหน้าแข่งขันด้วยคุณภาพของสินค้าและบริการ ซึ่งเรามั่นใจมากว่าการทำเช่นนี้จะทำให้ธุรกิจของเรามีที่ยืน และโตได้แน่นอน การทำธุรกิจอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมาเท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว”
การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัทที่เข้าร่วม ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ซึ่งกระบวนการรับรองของโครงการ CAC รวมถึงการชี้แจงข้อมูลและส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการ CAC พิจารณา ในกรณีที่คณะกรรมการมีข้อสงสัยหรือบริษัทเคยมีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตมาก่อน
CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ บทบาทของ CAC จะเน้นในส่วนของบริษัทเอกชน ด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดย CAC ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT)
โครงการ CAC จัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการ CAC ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจาก Center for International Private Enterprise หรือ CIPE จากสหรัฐอเมริกา UK Prosperity Fund จากสหราชอาณาจักร และมูลนิธิมั่นพัฒนา โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ ทั้งนี้ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CAC และรายชื่อของบริษัทที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ และผ่านการรับรองได้จาก: http://www.thai-cac.com