xs
xsm
sm
md
lg

CAC เผยบริษัทผ่านการรับรองระบบป้องกันทุจริตเพิ่มเป็น 152 บริษัท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


CAC เผยเอกชนไทยเริ่มตระหนักความสำคัญการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน โดยล่าสุด มี 19 บริษัทผ่านการรับรองระบบป้องกันทุจริต เป็นการเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว ส่งผลให้ยอดรวมทั้งสิ้นเพิ่มเป็น 152 บริษัท แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนไทยสนใจ และให้ความสำคัญต่อการสร้างกลไกป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันภายในองค์กรมากขึ้น

ดร.บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ CAC ได้มีมติให้การรับรองบริษัทที่ผ่านกระบวนการประเมินตนเองว่ามีนโยบาย และมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดเพิ่มขึ้นอีก 19 บริษัท ทำให้จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC เพิ่มขึ้นเป็น 152 บริษัท

CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ ปัจจุบัน มีบริษัทเอกชนเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันกับโครงการ CAC แล้ว 548 บริษัท (เป็นบริษัทจดทะเบียน 316 บริษัท) ในขณะที่จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองเพิ่มขึ้นเป็น 152 จาก 133 ในการประชุมคณะกรรมการ CAC ครั้งที่แล้วในเดือนตุลาคม 2558

“ถึงแม้ CAC จะมีการปรับกระบวนการรับรองให้มีความเข้มข้นมากขึ้นตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แต่จำนวนของบริษัทที่ผ่านการรับรองในรอบนี้ยังเพิ่มขึ้นถึงเกือบเท่าตัว (เป็น 19 บริษัท จาก 11 บริษัทในไตรมาสก่อนหน้า) แสดงให้เห็นว่า ภาคเอกชนสนใจ และให้ความสำคัญต่อการสร้างกลไกป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันภายในองค์กรมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี” ดร. บัณฑิต กล่าว

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ทางคณะกรรมการ CAC ได้เพิ่มข้อกำหนดเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กระบวนการรับรองบริษัทที่ผ่านการประเมินตนเองว่ามีนโยบาย และมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับในภาคเอกชน 8 ท่าน มาร่วมทำหน้าที่คณะกรรมการพิจารณารับรอง (Certification Committee) และได้เพิ่มข้อกำหนดให้บริษัทจัดส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการขอการรับรอง รวมถึงได้กำหนดกรอบเวลาให้บริษัทที่ยื่นประกาศเจตนารมณ์ต้องมีการดำเนินการให้ผ่านการรับรองภายใน 18 เดือน และเมื่อผ่านการรับรองครบ 3 ปีแล้ว ต้องยื่นขอรับรองใหม่ (Re-certification)

รายชื่อ 19 บริษัทที่ผ่านการรับรองในไตรมาสที่ 4/58 มีดังนี้

1) บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
2) บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน)
3) บริษัท ไทยรีประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
4) บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด
5) บริษัท ศรีอยุธยา แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)
6) บริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
7) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
8) บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
9) บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน)
10) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
11) บริษัท หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
12) บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)
13) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
14) บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)
15) บริษัทยารา (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
16) บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
17) บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
18) บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
19) บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

* ในไตรมาสนี้ คณะกรรมการ CAC ได้พิจารณาให้การรับรองบริษัท เอไอเอ จำกัด บริษัท เอไอเอ จำกัด (ประกันวินาศภัย) สาขาประเทศไทย และบริษัทไพร้ซ์วอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอส จำกัด ซึ่งยื่นขอรับรองใหม่ (Re-certification) หลังจากที่ใกล้ครบกำหนด 3 ปี

การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน และการจ่ายสินบนของบริษัทที่เข้าร่วม ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทาน และลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่า บริษัทมีการกำหนดนโยบาย และแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ซึ่งกระบวนการรับรองของโครงการ CAC รวมถึงการชี้แจงข้อมูล และส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้แก่คณะกรรมการ CAC พิจารณา ในกรณีที่คณะกรรมการมีข้อสงสัย หรือบริษัทเคยมีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตมาก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น