xs
xsm
sm
md
lg

CAC รับรอง 11 บริษัทผ่านประเมินตนเองมีนโยบาย แนวปฏิบัติป้องกันทุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ CAC ได้มีมติให้การรับรองบริษัทที่ผ่านกระบวนการประเมินตนเองว่ามีนโยบาย และมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดเพิ่มขึ้นอีก 11 บริษัท ทำให้จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC เพิ่มขึ้นเป็น 133 บริษัท

ทั้งนี้ CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ ปัจจุบัน มีบริษัทเอกชนเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันกับโครงการ CAC แล้ว 525 บริษัท (เป็นบริษัทจดทะเบียน 295 บริษัท) เพิ่มขึ้นจาก 406 บริษัท เมื่อสิ้นปี 2557 ขณะที่จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองเพิ่มขึ้นเป็น 133 จาก 78 บริษัท เมื่อสิ้นปี 2557 ทั้งนี้ CAC ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็น 600 บริษัท และเพิ่มจำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองเป็น 200 บริษัท ภายในปี 2558

“การพิจารณาให้การรับรองของ CAC รอบนี้เป็นครั้งแรกที่ดำเนินการภายใต้กระบวนการใหม่ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น การที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์ และยื่นขอรับรองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า ภาคเอกชนกำลังตื่นตัว และให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการที่จะสร้างระบบธุรกิจของไทยให้เป็นระบบที่สะอาดปราศจากการทุจริตได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ และการลงมือทำจริงของบริษัทในภาคเอกชน” นายบัณฑิต กล่าว

โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ทางคณะกรรมการ CAC ได้เพิ่มข้อกำหนดเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กระบวนการรับรองบริษัทที่ผ่านการประเมินตนเองว่ามีนโยบาย และมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับในภาคเอกชน 8 ท่าน มาร่วมทำหน้าที่คณะกรรมการพิจารณารับรอง (Certification Committee) และได้เพิ่มข้อกำหนดให้บริษัทจัดส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการขอการรับรอง รวมถึงได้กำหนดกรอบเวลาให้บริษัทที่ยื่นประกาศเจตนารมณ์ต้องมีการดำเนินการให้ผ่านการรับรองภายใน 18 เดือน และเมื่อผ่านการรับรองครบ 3 ปีแล้วต้องยื่นขอรับรองใหม่ (Re-certification)

สำหรับรายชื่อ 11 บริษัทที่ผ่านการรับรองในไตรมาสที่ 3/58 มีดังนี้

1) บริษัท สยามชอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด
2) บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส(HANA)
3) บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร (DRT)
4) บมจ.ตะวันอออกพาณิชย์ลีสซิ่ง (ECL)
5) บมจ.เมืองไทยประกันภัย (MTI)
6) บมจ.ดุสิตธานี (DTC)
7) บมจ.นวกิจประกันภัย (NKI)
8) บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ (IFEC)
9) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บางกอกแคปปิตอล จำกัด
10) บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI)
11) บมจ.เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC)

โดยในไตรมาสนี้คณะกรรมการ CAC ได้พิจารณาให้การรับรองบริษัท ซีเมนส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งยื่นขอรับรองใหม่ (Re-certification) หลังจากที่ใกล้ครบกำหนด 3 ปี

ทั้งนี้ การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน และการจ่ายสินบนของบริษัทที่เข้าร่วม ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทาน และลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอกว่า บริษัทมีการกำหนดนโยบาย และแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด

ซึ่งกระบวนการรับรองของโครงการ CAC รวมถึงการชี้แจงข้อมูล และส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้แก่คณะกรรมการ CAC พิจารณา ในกรณีที่คณะกรรมการมีข้อสงสัย หรือบริษัทเคยมีข่าวเกี่ยวต่อการทุจริตมาก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น