xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.เล็งกฎเหล็กฟันบิ๊กเอกชนสินบน จนท.รัฐไทย-เทศ ถึงคุก 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ปี 2558
“ป.ป.ช.” เตรียมประกาศกฎเหล็กเอาผิดเอกชนจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่รัฐปลายปีนี้ ตั้งคณะอนุฯ วางแนวทางตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.ฉบับใหม่ มาตรา 123/5 เผยอาจปรับผู้จ่ายสินบน 2 เท่าจากผลประโยชน์ที่จ่ายใต้โต๊ะให้ทั้ง จนท.ไทยหรือต่างชาติ โทษหนักจำคุกผู้บริหารฯ ไม่เกิน 5 ปี เผยภาคเอกชนหลายองค์กรตื่นตัวแล้ว

วันนี้ (20 ต.ค.) นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ตามที่กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ปี 2558 มาตรา 123/5 วรรคสอง กำหนดว่า นิติบุคคลใดที่มีผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร หรือพนักงาน ไปให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องโดนโทษปรับ 1-2 เท่าของค่าเสียหายหรือประโยชน์ที่ได้รับจากสินบนนั้น หากพบว่าไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพียงพอ บทบัญญัตินี้ทำให้ภาคเอกชนตื่นตัวเป็นอย่างมาก โดยทราบว่าในการประชุมสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการหยิบเรื่องนี้ไปคุยในที่ประชุม

“ป.ป.ช.จึงเห็นว่าควรจะกำหนดแนวทางในการปฏิบัติตามบทบัญญัติให้มีความชัดเจนมากยิ่ง จึงมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษาว่าจะวางหลักเกณฑ์ในการบังคับใช้อย่างไร โดยจะออกมาเป็นประกาศ ป.ป.ช.ต่อไป”

แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.เปิดเผยว่า ทาง ป.ป.ช.ได้หารือเบื้องต้นกับตัวแทนภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นไอโอดี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ฯลฯ ถึงการวางหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 123/5 วรรคสอง คาดว่าจะมีการจัดทำโฟกัสกรุ๊ปผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งในเดือน พ.ย. 58 จากนั้นจะประชุมสรุปเนื้อหาของร่างประกาศ ป.ป.ช.ที่น่าจะออกมาบังคับใช้ได้ภายในเดือน ธ.ค. 58

“มาตรา 123/5 จะมีส่วนช่วยในการป้องกันการทุจริต เพราะจะบังคับให้แต่ละบริษัทต้องมีมาตรการป้องกันคนของตัวเอง ไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐของไทยหรือต่างชาติ เพราะไม่เพียงผู้ให้สินบนจะถูกจำคุกไม่เกิน 5 ปี บริษัทยังจะถูกปรับในอัตรา 1-2 เท่าของผลประโยชน์ที่ได้รับ เช่น โครงการที่ได้จากการจ่ายสินบนมีมูลค่าเท่าใด ก็อาจจะถูกปรับ 2 เท่าของมูลค่าโครงการนั้นเป็นต้น” แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้ กฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 123/5 มีเนื้อหาระบุว่า “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใด และกระทำไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้น หรือประโยชน์ที่ได้รับ

บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึง ลูกจ้าง ตัวแทน บริษัทในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ในการนั้น หรือไม่ก็ตาม”

มีรายงานว่า ที่ประชุม IOD เมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดตั้ง แนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนการจัดทำโดยรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยนายชาญชัย จารุวัสตร์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และนายดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โครงการนี้ดำเนินการโดยความร่วมมือของ 7 องค์กรชั้นนำ อันได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หอการค้าไทย หอการค้านานาชาติ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการจาก Center for International Private Enterprise (CIPE) โครงการดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการต่อต้านการทุจริตในวงกว้าง

นอกจากนี้ เพื่อให้แนวร่วมปฏิบัติสามารถดำเนินการในการต่อต้านการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการรับรองคุณสมบัติความเหมาะสมของบริษัทที่จะเข้ามาเป็นแนวร่วมจึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption Council) ประกอบด้วย

1. ดร.พนัส สิมะเสถียร ประธานกรรมการ 2. ดร.กอปร กฤตยากีรณ รองประธานกรรมการ 3. ดร.จุรี วิจิตรวาทการ รองประธานกรรมการ 4. นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการ 5. นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา กรรมการ 6. ศ.โกวิทย์ โปษยานนท์ กรรมการ 7. นายประมนต์ สุธีวงศ์ กรรมการ 8. ดร.ธาริษา วัฒนเกส กรรมการ และ 9. ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ คณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติฯ ได้แต่งตั้งให้สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและองค์กรสนับสนุนดำเนินโครงการในวาระแรกของคณะกรรมการชุดนี้

โดยบทบาทของ IOD ในการขับเคลื่อนโครงการคือการให้ความรู้ความใจแก่กรรมการในเรื่องคอร์รัปชัน เช่น รูปแบบของคอร์รัปชัน ผลเสียเสียหายจากคอร์รัปชัน กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การป้องกันและแก้ไขปัญหา เป็นต้น ซึ่งรูปแบบของการให้ความรู้ที่ทาง IOD จัดขึ้น ได้แก่ การจัดสัมมนา การจัดหลักสูตรการอบรมสำหรับผู้บริหาร การประชุมระดับชาติและการบรรยายให้ความรู้แก่สมาคม องค์กรต่างๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น