xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจขานรับธรรมาภิบาล หลายวงการขอหลักสูตรเฉพาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริษัทที่ผ่านการรับรองโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านทุจริต (Collective Action Coalition, CAC)
ไอโอดี ฉายภาพสถานการณ์และแนวโน้มพัฒนาการด้านธรรมาภิบาลในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศซึ่งจะต้องอาศัยคณะกรรมการองค์กรเป็นกลไกขับเคลื่อน
“ดร.บัณฑิต นิจถาวร” กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสภาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ให้สัมภาษณ์พิเศษ โดยตั้งข้อสังเกตว่า วงการธุรกิจตื่นตัวถึงกับให้ออกแบบหลักสูตรที่เฉพาะเจาะจงสำหรับกรรมการแต่ละกลุ่ม
ดร.บัณฑิต ถึงขนาดกล่าวว่า “ในบรรดา ความต้องการที่จะให้มีการปฏิรูปขณะนี้ ผมคิดว่าการปฏิรูปเรื่องธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการเป็นการปฏิรูปสำคัญ ที่ควรต้องเกิดขึ้นเมื่อเกิดความสำเร็จก็จะผลักดันหรือเป็นแรงส่งให้ประเทศเติบโตต่อไป พร้อมกับการลดลงของปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น จึงเป็นการปฏิรูปที่ประเทศต้องการและการปฏิรูปที่คนไทยทุกคนต้องมีส่วนร่วม”
ร่วมประชุม Global Cyber Summit ประเทศสหรัฐอเมริกา
ดร.บัณฑิตเซ็นต์เข้าร่วม GNDI
ทั้งนี้ เพื่อประเมินผลความพยายามของ IOD ที่มีบทบาทในการรณรงค์ส่งเสริมและให้ความรู้เพื่อให้เกิดระบบบริหารที่มีหลักธรรมาภิบาลโดยผ่านการพัฒนาสมรรถนะของคณะกรรมการองค์กรซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทางของฝ่ายบริหารและนโยบายขับเคลื่อนองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาล ซึ่งในปัจจุบันก็มีปรากฏการณ์ที่น่าสังเกต ดังนี้
ความสนใจเรื่องธรรมาภิบาลในวงการธุรกิจ
ขณะนี้มีคนผ่านหลักสูตรของ IOD ประมาณ 22,000 คน โดยหลักสูตรหลักคือหลักสูตรกรรมการ Director Certification Program (DCP) มีกรรมการทั้งจากภาครัฐและเอกชนผ่านหลักสูตรประมาณ 6,000 คน ซึ่งช่วงแรก ๆ จะเป็นกรรมการซึ่งมาจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ในช่วงหลังมานี้เป็นกรรมการที่มาจากบริษัทจำกัดนอกตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่ต้องการสร้างความยั่งยืน และอาจสนใจเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ในอนาคต นอกจากนี้เริ่มเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นรุ่นลูกซึ่งเขามาสืบทอดกิจการ ซึ่งคนรุ่นใหม่นี้จะมีความรู้เรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG) เนื่องจากหลายคนจบการศึกษาจากต่างประเทศ ทำให้มีความเข้าใจเรื่องนี้ และเชื่อในเรื่องการสรรหากรรมการมืออาชีพเข้าร่วมงานมากขึ้น
ความสนใจเฉพาะสาขามากขึ้น
IOD ได้รับการติดต่อจากหลากหลายองค์กรเพื่อให้ออกแบบหลักสูตรที่เฉพาะเจาะจงสำหรับกรรมการแต่ละกลุ่มมากขึ้น เช่นได้เคยร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยจัดหลักสูตร Financial Institutions Governance Program (FGP) (FGP) สำหรับกรรมการธนาคาร ขณะนี้ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดหลักสูตร Corporate Governance for Intermediaries Market (CGI) ซึ่งเป็นหลักสูตรจัดพิเศษสำหรับกรรมการบริษัทหลักทรัพย์และหลักทรัพย์จัดการกองทุน และยังจะร่วมมือกันในการจัดหลักสูตรสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งนอกเหนือจากกลุ่มบริษัทจดทะเบียนหรือสถาบันการเงิน IOD ได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับกลุ่มธุรกิจครอบครัวอีกด้วย
เข้าร่วมประชุม IOD Global Network
การร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ
IOD ได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานและเลขานุการในคณะทำงานระเบียบแนวปฏิบัติสำหรับการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นคณะทำงานของคณะกรรมการนโยบายและรัฐวิสาหกิจ ( Super Board) เพื่อร่างระเบียบแนวปฏิบัติสำหรับการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อได้คณะกรรมการที่มีความสามารถและปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีหลักสูตรเฉพาะสำหรับคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจอีกด้วย
การมีส่วนร่วมของ IOD ในระดับสากล
IOD ประเทศไทย ได้ร่วมกับ IOD ระดับสากล อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ในการเป็น Global Network of Institute of Directors (GNDI) เพื่อให้สมาชิกของ IOD ของประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และเป็นช่องทางในการแบ่งปันความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการทำหน้าที่กรรมการและการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ IOD ประเทศไทยได้นำสมาชิกและผู้บริหารจากหน่วยงานกำกับดูแลไปเข้าร่วมการประชุม Global Cyber Summit ที่กรุงวอชิงตันดีซีประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี ซึ่งจัดโดย National Association of Corporate Director หรือ IOD ประเทศสหรัฐอเมริกา
ส่วนในระดับภูมิภาค IOD ได้ร่วมกับประเทศในกลุ่มอาเซียนได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนามในการทำโครงการ ASEAN CG Scorecard เพื่อยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั่วไป
นอกจากนั้น IOD ได้รับเชิญจาก G20/OECD Forum เพื่อเข้าร่วมการประชุม และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุง OECD Principles of Corporate Governance ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2558 ณ เมือง Istanbul ประเทศตุรกี
สร้าง กรรมการอาชีพในทำเนียบ IOD
เพราะภาวะธุรกิจในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อน บริษัทจึงต้องการหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เพื่อเป็นกรรมการของบริษัท IOD จึงมี Director Pool หรือแหล่งรายชื่อสำหรับค้นหากรรมการเพื่อให้บริษัทได้เลือกไปดำรงตำแหน่งกรรมการโดยข้อมูลกลางประกอบด้วย 3 ประเภทกรรมการคือ 1) Graduate Member - กรรมการผู้ผ่านหลักสูตร DCP 2) Fellow Member - กรรมการที่ผ่านหลักสูตร DCP ผ่านการสอบวัดระดับของ Australia Institute of Directors และประสบการณ์ในการเป็นกรรมการองค์กรใด ๆ ก็ได้เป็นเวลา 5 ปี 3) กรรมการอาชีพในทำเนียบ IOD หรือ Chartered Director
กรรมการกลุ่มที่ 3 นี้เป็นผู้ที่มีความรู้กล่าวคือผ่านหลักสูตร DCP และหลักสูตรเฉพาะสำหรับกรรมการอาชีพ (Chartered Director Class) เป็นผู้มีประสบการณ์คือเป็นกรรมการในบริษัทจดทะเบียนหรือองค์กรเทียบเท่าเป็นเวลา 5 ปี และเป็นผู้ที่มีเวลาคือไม่มีงานประจำและเป็นกรรมการไม่เกิน 5 แห่ง ซึ่งทุกคนที่ได้ขึ้นทะเบียนจะต้องรับรองตนเองว่าไม่มีประวัติเสียหายทางจริยธรรม และได้รับการรับรองจากสมาชิก IOD 2 ท่าน ผ่านการสัมภาษณ์โดยกรรมการอาชีพในทำเนียบท่านอื่น ๆ และได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนจากกรรมการ IOD
ขณะนี้มีกรรมการประเภทนี้ที่ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 38 ท่าน ซึ่ง IOD พยายามที่จะขยาย Pool นี้ให้มีมากยิ่งขึ้นเพื่อให้บริษัทมีกรรมการที่มีความเป็นมืออาชีพเข้าไปกำกับดูแลในองค์กรมากยิ่งขึ้น
ส่งเสริมบทบาทของกรรมการ
เพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่กรรมการ IOD ได้ทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับหน้าที่กรรมการและการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีการจัดสัมมนาหรือ Forum เพื่อให้กรรมการได้รับฟังข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์และเรียนรู้ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัด Chairman Forum ให้ประธานกรรมการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และงานประชุมประจำปีสำหรับคณะกรรมการ National Director Conference
สำหรับคณะกรรมการที่ทำหน้าที่อย่างดี IOD ได้มอบรางวัล Board of the Year Award หรือรางวัลคณะกรรมการแห่งปีให้กับคณะกรรมการบริษัททุก ๆ 2 ปี
CAC มอบใบประกาศให้ผู้ที่ผ่านการรับรอง
บทบาทการต่อต้านคอรัปชัน (Anti-corruption)
นอกเหนือจากหน้าที่ในการพัฒนากรรมการเพื่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี IOD ยังเป็นเลขานุการโครงการแนวร่วมปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือของ 7 องค์กรเอกชนได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าต่างชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย
โครงการนี้เอกชนซึ่งเป็นผู้ให้ผลประโยชน์ (Supply side) ในสมการทุจริตคอรัปชัน ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมมือกันปฏิเสธการให้สินบนและการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเอกชนประกาศเจตนารมณ์แล้ว 488 บริษัท ซึ่งบริษัทที่จะผ่านการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วม ฯ นั้นจะต้องมีการทำ checklist ที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรมีการวางระบบในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผ่านการรับรองแล้วทั้งสิ้น 122 บริษัท โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เช่น Center for International Private Enterprise (CIPE) และมูลนิธิมั่นพัฒนา โครงการนี้ได้เป็นตัวอย่างกับหลายประเทศเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต
กำลังโหลดความคิดเห็น