xs
xsm
sm
md
lg

IOD - ETDA กระตุ้นกรรมการไทยให้ความสำคัญ IT Governance

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) จัดการประชุม Director Forum 1/2015 ในหัวข้อ “IT Governance: The Time is Now!” เพื่อกระตุ้นให้กรรมการบริษัทไทยตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ IT ที่มีต่อผลสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงผลักดันให้กรรมการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติหน้าที่ทางด้านการกำกับดูแลเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT Governance มากขึ้น

ภายในงานมีนักธุรกิจและนักวิชาการที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาธุรกิจจากทั้งในและต่างประเทศมากมายมาร่วมเป็นวิทยากรเพื่อเสนอแนะความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับแนวทางในการนำ IT มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการนำ IT มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ และบทบาทของคณะกรรมการและสิ่งที่กรรมการควรทราบในการกำกับดูแลด้านIT

“ปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศได้กลายเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจ สิ่งที่กรรมการควรตระหนักคือ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยในโลกไซเบอร์ไม่ใช่เป็นประเด็นเทคนิคเกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่เป็นประเด็นการบริหารความเสี่ยง ทำให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการโดยตรงที่ต้องกำกับดูแลให้บริษัทหรือองค์กรมีระบบและกระบวนการบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม คือ มี IT Governance ที่ดี” ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ IOD กล่าว

จากผลสำรวจความเห็นของกรรมการไทยเกี่ยวกับแนวปฏิบัติทางด้านการกำกับดูแลเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดย IOD พบว่า กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการกำกับดูแลเทคโนโลยีสารสนเทศมีความจำเป็นต่อการเติบโตทางธุรกิจ แต่ยังไม่ค่อยมีกรรมการที่มีความรู้ในเรื่องนี้มากนัก ดังนั้นปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ คือ ความรู้ความเข้าใจของคณะกรรมการ การให้ความสำคัญของ IT ในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ และคณะกรรมการต้องเห็นถึงความจำเป็นของการกำกับดูแลเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยฉพาะการบริหารความเสี่ยงด้าน IT

ภายในงานมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “IT Trends: What’s Next for Thailand” โดยสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA ซึ่งมีใจความสำคัญว่า แนวโน้มทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงควรให้ความสำคัญมากขึ้น ได้แก่ 1) IoT (Internet of Things) หรืออินเทอร์เน็ตออฟติงส์ ที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดสามารถออนไลน์ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้  2) เรื่องของ Cloud ที่อาจต้องตั้งคำถามว่าจะใช้งานอย่างไร 3) ซอฟต์แวร์แบบสมองฝังกลที่ช่วย ในเรื่องการเปลี่ยนทุกอย่างเป็นดิจิทัล 4) การทำ Mobile Banking การชำระเงินในรูปแบบใหม่ที่มาแรง และ 5) การสร้างระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) เพื่อส่งเสริมนโยบาย Digital Economy ให้เกิดขึ้นได้จริงในประเทศ เนื่องจากแนวโน้มด้านเทคโนโลนีสารสนเทศเหล่านี ย่อมส่งผลกระทบต่อแนวทางการบริหารองค์กรที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป
กำลังโหลดความคิดเห็น