ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มข. พัฒนา OTOP ปลาส้ม จัดผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดความรู้กลุ่มผู้ผลิตท้องถิ่นอีสาน ทั้งแปรรูป ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมการตลาด หวังผลักดันให้เป็นสินค้าอาหารแปรรูปมาตรฐานสากล
“ปลาส้ม” เกิดจากการแปรรูปเนื้อปลาผ่านกระบวนการหมัก โดยการนำปลาสดที่ตัดแต่งแล้วมาหมักกับส่วนผสมต่างๆ จนเกิดรสเปรี้ยว เป็นอาหารพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมในภาคอีสาน โดยปลาส้มอาจทำแบบปลาทั้งตัว หรือเฉพาะเนื้อปลา เช่น ปลาส้มตัว ปลาส้มชิ้น ปลาส้มเส้น หรือปลาส้มฟัก
ปลาส้มมีรสชาติถูกปาก นิยมบริโภคทั้งภาคอีสานและภูมิภาคอื่น จนเกิด OTOPผลิตภัณฑ์ปลาส้มในหลายจังหวัด แต่ผลิตภัณฑ์ปลาส้มที่ผลิตกันส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยพบว่ามีวัตถุเจือปนและเชื้อจุลินทรีย์เกินกำหนด
ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์บริการลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น และใกล้เคียงเพื่อเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปทดสอบ พบว่าปลาส้มขาดมาตรฐานด้านคุณภาพและกระบวนการผลิต จึงร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนา OTOP ปลาส้มมาตรฐาน
โดยจัดทีมผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดความรู้ และให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องกระบวนการผลิต การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการส่งเสริมด้านการตลาด
ดร.สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า จากความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการยกระดับมาตรฐานของปลาส้ม ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร ที่แต่เดิมนิยมบริโภคเฉพาะถิ่น ไปสู่กลุ่มผู้บริโภคในตลาดที่กว้างขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการตลาดระดับประเทศ อาเซียน และภูมิภาคอื่นของโลก โดยการผลักดันผู้ประกอบการให้ได้เรียนรู้ และเข้าใจความสำคัญของกระบวนการผลิต การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการตลาด
นางถาวร ปลาหนองโปร่ง สมาชิกกลุ่มแปรรูปปลาบ้านห้วยบง ตรา 1 เดียว กล่าวว่า ฝึกอบรมทำปลาส้มกับ กฟผ.ขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2546 และเข้าร่วมโครงการนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำ ทั้งการทำความสะอาดปลา การคัดปลา และกระบวนการผลิตที่ให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ปลาส้มของกลุ่มสามารถเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐาน อย. และ มผช. มีความสะอาด ปลอดภัย และผู้บริโภคมั่นใจมากขึ้น