เป็นผลการสำรวจข้อมูลอาคารในแคนาดาของ University of Guelph professor จาก 148 อาคาร ซึ่งได้ผลออกมาสอดคล้องกันกับอาคารในสหรัฐอเมริกา 143 อาคารซึ่งเจ้าของอาคารสามารถจะใช้เพิ่มคุณค่าให้กิจการได้ในระยะยาว
แต่ก่อน “อาคารกรีน” เคยเป็นแนวคิดที่ผู้ประกอบการหวังว่าจะใช้ในการสร้างภาพลักษณ์ของกิจการในสายตาสาธารณะชน และสังคม โดยหวังว่าจะทำให้แบรนด์ของกิจการแข็งแกร่งขึ้น และเพื่อสนองตอบรับกระแสสังคมที่เชื่อว่าอาคารพาณิชย์เป็นอาคารที่มีการบริโภคพลังงานสิ้นเปลืองที่สุดในโลก
เมื่อไม่มีกฎหมายใดที่เข้มข้นเพียงพอในการควบคุม การใช้กระแสสังคมกดดันจึงมีความจำเป็น และทำให้ผู้ประกอบการอาสาสมัครเองในการเข้าสู่กระบวนการรับรองเป็นอาคารกรีน
การสำรวจเพื่อประเมินผลลัพธ์ของการเป็นอาคารพาณิชย์แนวกรีน พบว่ายังมีขอบเขตจำกัดแต่เฉพาะในสหรัฐฯ ที่เป็นการสำรวจจากอาคารกรีนขนาดใหญ่ที่ผ่านระบบมาตรฐาน LEED มาตรฐาน BOMA BEST และ ENERGY STAR ที่ยินดีให้ข้อมูลและตอบแบบสำรวจอย่างเต็มที่ และได้พบข้อมูลว่าจากข้อมูล 10 ปีระหว่างปี 2004-2013 ที่กิจการรวบรวมไว้ ซึ่งมากเพียงพอที่จะครอบคลุมถึงช่วงเวลาที่วงจรเศรษฐกิจของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯรุ่งเรือง ชะลอตัว ถดถอย มีผลลัพธ์ทางการเงินและไม่ใช่ตัวเงินเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ความพึงพอใจของผู้เช่าอาคาร การได้รับแรงจูงใจเพิ่มขึ้นจากแหล่งเงิน และมูลค่าเพิ่มจากค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นหลังการปรับปรุงอาคารใหม่ และได้รับความสนใจจากผู้เช่า ทำให้อัตราว่างของพื้นที่น้อยกว่าอาคารในย่านเดียวกันที่ไม่ใช่อาคารกรีน
ผลการสำรวจข้อมูลในแคนาดาของ University of Guelph professor. จาก 148 อาคารในแคนาดา ก็พบว่าผลลัพธ์ที่ออกมาสอดคล้องกับในสหรัฐ 143 อาคาร ซึ่งสะท้อนว่าคุณค่าของการเป็นอาคารกรีนนั้น สามารถตีค่าออกมาเป็นคุณค่าเพิ่มของกิจการได้อย่างชัดเจน ควบคู่กับการแสดงถึงหลักฐานของการประหยัดพลังงานที่เป็นต้นทุนการดำเนินงานของเจ้าของอาคารเพื่อการพาณิชย์ และการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สินของกิจการ
บทสรุปสำคัญที่ได้จากผลการศึกษาดังกล่าว ระบุว่า
ประการที่ 1 อัตราค่าเช่าเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3.7% หลังการปรับเป็นอาคารกรีน
ประการที่ 2 อัตราการเช่าเพิ่มขึ้น 18.7% ในแคนาดา และ 9.5% ในสหรัฐ
ประการที่ 3 สัดส่วนการปรับปรุงสภาพอาคารให้ดีขึ้นของผู้เช่าเพิ่มขึ้น 5.6% ในแคนาดาในอาคารกรีน
ประการที่ 4 คะแนนความพึงพอใจของผู้เช่าเพิ่มขึ้นกว่าอาคารทั่วไป 7.0% ในแคนาดา
ประการที่ 5 การสิ้นเปลืองพลังงานต่อตารางฟุตในสหรัฐลดลงไป 14.0%
ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของอาคารอาจจะยังลังเลในการตัดสินใจลงทุนในการเป็นอาคารกรีน และนักลงทุนสถาบันอาจจะยังไม่แน่ใจว่าการลงทุนในกิจการที่ทำธุรกิจกรีนคุ้มค่าในด้านผลตอบแทนทางสังคมหรือไม่ แต่การสำรวจขององค์กรดังกล่าวได้ช่วยยืนยันรายงานทางวิชาการได้อีกระดับหนึ่งว่า การเป็นอาคารพาณิชยืแนวกรีนมีความคุ้มค่าแน่นอน
และนั่นทำให้เกิดความหวังกันว่าในอนาคต จะมีผู้ประกอบการอาคารเชิงพาณิชย์ในตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หันมาพัฒนาเป็นอาคารกรีนมากขึ้น
ในส่วนของอาคารพักอาศัยนั้น มีการสำรวจพบว่า มีอัตราส่วนของการใช้พลังงานสิ้นเปลืองราว 33% ของการบริโภคพลังงานทั้งหมดในสหรัฐ การประหยัดการใช้พลังงานจึงมีส่วนประหยัดรายจ่ายและคุ้มครองโลกในเวลาเดียวกัน
สิ่งที่น่าพอใจในตลาดส่วนนี้คือการเพิ่มขึ้นของอาคารพักอาศัยภายในตรายี่ห้อ “กรีน” โดยการศึกษาของงานวิจัยได้ชี้ว่า ทางเลือกของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งคือ การเลือกบ้านที่มีโครงสร้างสอดคล้องกับการพัฒนาความยั่งยืน
การสำรวจราคาตลาดบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวในแคลิฟอร์เนียร์ ในระหว่างปี 2007-2012 และพบว่าบ้านที่มียี่ห้อกรีนมีราคาซื้อขายในตลาดแพงกว่าและถือว่าเป็นบ้านระดับพรีเมียม เทียบกับบ้านทั่วไป
ในบางประเทศ อย่างเช่นสิงคโปร์แรงขับเคลื่อนในการเป็นอาคารกรีนไม่ได้มาจากกระแสสังคมอย่างเดียว หากแต่มาจากการที่คนสิงคโปร์ถือว่านี้คือ ค่านิยมใหม่ของประเทศ หลังจากที่ รัฐบาลสิงคโปร์ได้วางเป้าหมายให้อาคารไม่น้อยกว่า 80% ของอาคารทั้งหมดผ่านการรับรองมาตรฐานกรีนจาก the Building & Construction Authority (BCA) หรือ BCA Green Mark scheme ที่เริ่มเมื่อปี 2005 ทำให้อาคารที่มีอยู่และยังไม่ได้ผ่านการรับรองกรีนไม่มีทางเลือกมากนัก
การสำรวจของ The Business Time พบว่าจำนวนอาคารกรีนในสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้นมาตามลำดับจากปี 2005 จากเพียง 17 อาคารเป็น 2,500 อาคารในปัจจุบัน หรือ 70 ล้านตารางเมตร คิดเป็น 29% ของเป้าหมายรวมของโครงการ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการอาคารขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และกิจการข้ามชาติ ที่มีพันธะในการลดระดับการปล่อยคาร์บอน
นอกจากนั้น ภาคสถาบันการเงินที่ให้บริการเป็นแหล่งเงินของผู้ประกอบการก็ให้การสนับสนุนการเป็นอาคารกรีนในลำดับต้นๆ ด้วย