xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อไทย” ถามรัฐขายข้าวฤดูใหม่ 1 ล้านตันให้บริษัทจีน จีทูจีแบบไหน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
อดีต รมว.พาณิชย์ เพื่อไทย ตั้งถามรัฐขายข้าวล็อตใหม่ 1 ล้านตันให้แก่บริษัทจีน จีทูจีแบบไหน ตั้งข้อสังเกตหากเอกชนต้องการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐจริงทำไมต้องระบุเงื่อนไขต้องการข้าวฤดูใหม่เท่านั้น เผยมติ ครม.ย้ำรัฐไม่มีข้าวฤดูใหม่ หลังล้มจำนำข้าว แถมข้าวใหม่อยู่ในมือเอกชน ถามขายข้าวของเอกชนใช่หรือไม่ ย้ำชาวนาไม่ได้ประโยชน์ แถมไม่ใช่การขายข้าวแบบจีทูจี

วันนี้ (19 ม.ค.) มีรายงานว่า นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นถึงกรณีรัฐบาลมีมติ ครม. รองรับ “การลงนามสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กับ บริษัท COFCO Corporation (คอฟโก)” ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นตัวแทนรัฐบาลจีนในการเข้าทำสัญญาที่มีการลงนามสัญญาไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2558

โดยมีใจความว่า “ขายข้าวล็อตใหม่ให้บริษัท คอฟโก้ 1 ล้านตัน เป็นการขายแบบจีทูจีจริงหรือไม่ ใครได้ประโยชน์ใครเสียประโยชน์? มีการเปิดเผยข่าวว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการลงนามสัญญาขายข้าวแบบจีทูจีหรือแบบรัฐต่อรัฐให้บริษัทคอฟโก้ของจีน 1 ล้านตัน แต่ผู้ซื้อต้องการข้าวฤดูใหม่ซึ่งไม่มีในสต็อครัฐบาล จึงต้องนำข้าวของเอกชนไปส่งให้ผู้ซื้อแทน

ผมไม่ค่อยมั่นใจว่าใครกันแน่ที่จะได้ประโยชน์จากการขายข้าวในลักษณะนี้ และมีข้อสงสัยหลายประการที่อยากตั้งเป็นประเด็นให้ช่วยกันคิด โดยไม่เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาชี้แจง เพราะเคยเรียกร้องให้ชี้แจงหลายเรื่อง เช่น การขายข้าวเสื่อมให้โรงงานผลิตไฟฟ้าและผลิตปุ๋ย ก็ไม่เคยได้รับคำชี้แจง ผมมีข้อสังเกตและข้อสงสัย ดังนี้

1. การซื้อขายข้าวล็อตนี้เป็นแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีจริงหรือไม่ ซึ่งผมขอให้ช่วยพิจารณา 2 ประเด็น คือ (1) บริษัท คอฟโก (COFCO) มาซื้อขายข้าวในลักษณะที่เป็นรัฐหรือหน่วยงานของรัฐผู้ซื้อ (รัฐบาลจีน) หรือในลักษณะที่เป็นการทำธุรกิจเอกชน เพราะความจริงแล้วบริษัท คอฟโก้ ได้แปรสภาพเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจแบบเอกชนและเป็นบริษัทที่ไปจดทะเบียนขายหุ้น (listed) ที่ตลาดหุ้นฮ่องกงมาหลายปีแล้ว นอกจากนี้ยังมีบริษัทในเครือคอฟโก้อีกหลายบริษัทที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งบริษัท COFCO Rice เป็นบริษัทลูกที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อีกบริษัทหนึ่งด้วย

ข้อน่าคิดก็คือ ถ้าบริษัท คอฟโก้ ต้องการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐจริง ทำไมต้องระบุเงื่อนไขว่าต้องการข้าวฤดูใหม่เท่านั้น ทั้งๆ ที่คอฟโก้รู้ดีว่ารัฐบาลนี้ไม่มีข้าวฤดูใหม่เพราะไม่ได้รับจำนำและข้าวใหม่อยู่ในมือพ่อค้าเอกชนแล้วเกือบทั้งหมด และ (2) ข้าวที่รัฐบาลไทยตกลงขายให้คอฟโก้ก็ไม่ใช่ข้าวของรัฐ จึงมีผลเท่ากับขายข้าวของเอกชนใช่หรือไม่

2. ประเด็นที่ผมสงสัยและขอเชิญชวนให้ช่วยกันวิเคราะห์ก็คือ ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์และใครคือผู้เสียประโยชน์? ผมขอเสนอให้ช่วยกันพิจารณาว่าจริงหรือไม่ดังนี้ ผู้ได้ประโยชน์ คือ 1. บริษัท คอฟโก้ได้ซื้อข้าวคุณภาพดีราคาถูกเพราะมีรัฐบาลไทยเป็นประกัน และ 2. ผู้ส่งออกข้าวไทยที่ได้ซื้อข้าวฤดูใหม่ไว้ในมือแล้วได้ขายข้าวในนามรัฐบาลไทย ส่วนผู้เสียประโยชน์ คือ (1. รัฐบาลไทยเพราะเสียโอกาสที่จะขายข้าวของรัฐที่มีอยู่ในสต๊อกจริงๆ และต้องเสียค่าเก็บรักษาข้าวเหล่านี้ต่อไปอีก นอกจากนี้ยังต้องผิดชอบและรับภาระเสมือนเป็นผู้ขายอย่างแท้จริงเพราะถือว่าขายข้าวในนามรัฐบาลไทย และ (2. ชาวนาไทย เพราะได้ขายข้าวไปแล้วในราคาต่ำ คำถามที่ควรได้คำตอบให้ชัดเจนก่อนที่รัฐบาลจะเซ็นสัญญาคือ การขายข้าวล็อตใหญ่นี้กำหนดราคาเท่าใด สูงหรือต่ำกว่าราคาตลาด ถ้าต่ำกว่าราคาตลาดรัฐบาลหรือผู้ส่งออกต้องรับภาระ ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลนี้เคยแถลงว่าจะดำเนินการให้โปร่งใส เปิดเผยให้ประชาชนทราบนะครับ คราวนี้ผมไม่ขอเรียกร้องและยังไม่ขอฟันธง แต่อยากขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิดพิจารณาและเสนอแนะรัฐบาลให้ตัดสินใจให้ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติส่วนรวมจริงๆ ด้วยครับ”

มีรายงานข่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติรับทราบวาระเพื่อทราบที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอวาระ “การลงนามสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กับ บริษัท COFCO Corporation” ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นตัวแทนรัฐบาลจีนในการเข้าทำสัญญา ที่มีการลงนามสัญญาไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2558 ซึ่งร่างสัญญาดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์ได้นำส่งร่างสัญญาซื้อขายให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ตรวจพิจารณาแล้วในเรื่องความรับผิดชอบเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายของคู่สัญญากับบริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว ตามที่กรมการค้าระหว่างประเทศได้หารือกับบริษัท COFCO โดยเห็นว่าสัญญาซื้อขายข้าวในข้อ 10.6 ระบุว่า

“ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเป็นความรับผิดชอบของผู้ขาย ยกเว้นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามข้อ 11 (Additional QualityMechanism at Loading Area) ซึ่งเป็นกลไกการตรวจสอบคุณภาพข้าวที่เป็นความร่วมมือสองฝ่าย ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาได้ร่วมกันรับผิดชอบในแต่ละส่วนตามที่ระบุในข้อ 11 การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น และเข้าใจตรงกันแล้ว อีกทั้งสัญญานี้ฝ่ายจีนได้ผ่านกระบวนการรับรองด้วยแล้ว จึงขอให้ถือตามสัญญาที่มีการลงนาม”

รายงานระบุด้วยว่า เนื่องจากข้าวที่ทางบริษัท COFCO มีต้องการจะขอซื้อตามสัญญานั้นเป็นข้าวในฤดูกาลผลิตใหม่จำนวน 1 ล้านตัน ซึ่งไม่มีในสต็อกของรัฐบาล จึงเห็นชอบให้กรมการค้าต่างประเทศไปทำข้อตกลงกับองค์กรภาคเอกชน คือ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อจัดหาข้าวฤดูกาลผลิตใหม่เพื่อส่งมอบให้กับบริษัท COFCO โดยมีกำหนดส่งมอบข้าวรายงวดเฉลี่ยเดือนละ 1 แสนตัน โดยราคาซื้อขายจะเจรจาต่อรองตามราคาตลาดโลกที่ขณะส่งมอบในแต่ละงวด โดยจะเริ่มส่งมอบตั้งแต่ต้นปี 2559 และจะเสร็จสิ้นภายในปี 2559


นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็น
กำลังโหลดความคิดเห็น