(จากคอลัมน์ Learn&Share โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล (suwatmgr@gmail.com) เซกชั่น Good Health Smart Life ของ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18-24 ตุลาคม 2557)
รวิศ หาญอุตสาหะ ผู้เขียนหนังสือ “คิดจะไปดวงจันทร์ อย่าหยุดแค่ปากซอย” ได้รับคำสอนจาก ทศ จิระธิวัฒน์ ผู้บริหารสูงสุดเซ็นทรัล กรุ๊ป ด้วยวลีสั้นๆ ว่า
“Always have the end in mind”
เป็นคำชี้แนะที่มีความหมายมาก เพราะเมื่อนึกถึง “ภาพตอนจบ” ที่เป็นเป้าหมายชัด ทุกการกระทำของเราในทุกนาทีจะมุ่งไปบนเส้นทางสู้เป้าหมาย เรื่องที่ไม่เกี่ยวจะไม่อยากทำ และไม่ยอมเสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่ใช่สาระ ระหว่างทางจะเจออุปสรรคแค่ไหนหรือมีบาดแผลมากเพียงใดแต่ตายังจ้องอยู่ที่เป้าหมาย คนเหล่านี้จะลุกขึ้นมาแล้วสู้จนวาระสุดท้าย
หากเปรียบเป้าหมายคือดวงจันทร์ รวิศ จึงท้าทายว่า “จะไปดวงจันทร์ หรือ จะหยุดแค่ปากซอย? พอเจอหลุมเจอบ่อแล้วท้อใจ เลยแค่ซื้อโอเลี้ยงแล้วกลับบ้าน”
คำว่า “เป็นไปไม่ได้” จึงเป็นเพียงข้ออ้างของความล้มเหลว
เพราะมีตัวอย่างความไม่สมบรูณ์พร้อมแต่ใจถึงของคนสู้ชีวิต ผู้อุทิศตัวเอาชนะอุปสรรคเพื่อช่วยสังคมจนสำเร็จและโลกยกย่องมีให้เห็นมากราย
Malala Yousafzai สาวน้อยวัย 16ปี ที่เพิ่งได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพประจำปี 2014 นับเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับเกียรติระดับโลกเช่นนี้
ตั้งแต่เธออายุ 11 ปี เป็นนักเรียนชั้น ม.1 ก็เริ่มเขียน Blogให้สำนักข่าว BBC โดยใช้นามปากกา เพื่อเผยแพร่เรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่และเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมด้านการศึกษาของเด็กหญิง ที่ถูกกลุ่มตาลีบันเข้าควบคุมพื้นที่แถบบ้านเกิด ทั้งห้ามเล่นดนตรีและห้ามเด็กผู้หญิงเรียนหนังสือ
สาวน้อย Malala เริ่มเปิดตัวรณรงค์เพื่อสิทธิด้านการศึกษาของสตรี และริเริ่มจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเด็กหญิงยากจนให้มีโอกาสเรียนหนังสือ
แล้วเธอก็โดนมือปืนของตาลีบันขึ้นไปบนรถโรงเรียน และยิงเธออย่างอุกอาจกระสุนนัดหนึ่งทะลุเข้ากระโหลกด้านซ้าย จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดด่วน และต่อมาย้ายไปรักษาที่ประเทศอังกฤษ
ทั่วโลกประณามความโหดร้ายที่มุ่งสังหารเธอในครั้งนี้ และเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2013 วันครบรอบวันเกิด 16ปี ของ Malala เธอได้ขึ้นกล่าวปราศัยที่องค์การสหประชาชาติต่อหน้าผู้แทนจากทั่วโลก กว่า 500คน โดยยืนยันว่า ผู้ก่อการร้ายไม่อาจหยุดยั้งความปราถนาอันแรงกล้าของเธอในการต่อสู้ครั้งนี้ได้ เธอยืนหยัดเพื่อทวงถามสิทธิอันชอบธรรมในการศึกษาให้เด็กทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ลูกหลานของกลุ่มตาลีบัน
ฟังแล้วผู้แทนต่างๆลุกขึ้นปรบมืออย่างกึกก้องและยาวนาน
น่านับถือขนาดหัวใจของเธอจริงๆ
….
อีกตัวอย่างที่สหรัฐอเมริกา Michael Phelps จากวัยเด็กที่สมาธิสั้น พูดไม่หยุด เล่นซน อยู่นิ่งไม่ได้ ครูประจำชั้นก็เอือมระอา ผู้เป็นแม่จึงพยายามหากิจกรรมให้ลูกทำเพื่อปลดปล่อยพลัง โดยเริ่มให้เรียนว่ายน้ำเมื่อ 7 ขวบ มันจึงกลายเป็นกิจกรรมโปรด
เด็กหนุ่มซ้อมหนักขึ้นและพัฒนาตัวเอง จนในที่สุดติดทีมชาติและสามารถทำในสิ่งที่ไม่เคยมีมนุษย์คนใดทำได้มาก่อน
เขากลายเป็นนักกีฬาว่ายน้ำเจ้าของเหรียญโอลิมปิก 22 เหรียญ ในจำนวนนี้เป็นเหรียญทอง 18 เหรียญทีเดียว
มีคนมากมายที่เกิดมาด้วยความไม่พร้อม แต่ก็มีความพยายามมีวินัย ฝึกฝนทุกวันอย่างไม่มีข้ออ้าง
ความสำเร็จจึงเริ่มจากความมุ่งมั่น ใฝ่ดี โดยต้องสลัดทึ้งทัศนคติและอุปนิสัยที่ไม่ดี
เห็นได้ชัดจากตัวอย่างเหล่านี้ครับ
Terrance Stanley “Terry” Fox เด็กหนุ่มวัย 19 ปีชอบเล่นกีฬา ล่วงเข้าเดือนมีนาคม 1977 เขาเริ่มปวดหัวเข่าหมอตรวจพบว่า เป็นมะเร็งที่หัวเข่าด้านขวา ต้องตัดขาและทำคีโมต่อด้วย
หลังจากใส่ขาเทียมและทำเคมีบำบัดเป็นเวลาปีเศษ ในปี 1980 เขาบอกครอบครัวว่าจะวิ่งมาราธอนจากฝั่งตะวันตกไปตะวันออกของประเทศแคนาดา เพื่อหาเงินให้สมาคมวิจัยมะเร็งจะได้ช่วยเหลือผู้ป่วยอื่นๆมากขึ้น
เขาเริ่มวิ่งทั้งๆที่ร่างกายยังไม่แข็งแรงดี และวิ่งด้วยขาจริงข้างเดียว เรียกว่าไม่มีคุณสมบัติจะเป็นนักวิ่งมาราธอน ที่วิ่งข้ามประเทศได้เลย จะมีก็แต่หัวใจนักสู้เท่านั้น
สังคมที่รับรู้ก็ชื่นชมในหัวใจที่แข็งแกร่งของเด็กหนุ่มขาเดียวคนนี้
ชื่อเสียงเขาดังสุดขีด เมื่อวิ่งถึงเมืองออนแทรีโอและได้รับเกียรติให้เป็นผู้เตะลูกบอลเปิดสนาม Canandian Football Leaque ทุกคนยืนขึ้นปรบมือให้เขา ผู้บรรยายถึงกับน้ำตาซึมจากนั้นเงินบริจาคเริ่มไหลมาสมทบ
เขาวิ่งไปทั้งสิ้น 143 วัน รวมระยะทาง 5,373 กิโลเมตร พอถึงนอกเขต Thunder Bay เขามีอาการเจ็บปอดจนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และหมอตรวจพบว่ามะเร็งลามไปถึงปอดแล้ว เขาต่อสู้กับโรคร้ายอีกหลายคืนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อเดือนมิถุนายน 1981
พิธีศพของเขามีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ รัฐบาลแคนาดาประกาศลดธงครึ่งเสาเป็นการไว้อาลัย นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ให้เกียรติกับคนธรรมดาที่ไม่ใช่ผู้นำประเทศ ชื่อของ Terry ถูกนำไปตั้งชื่อภูเขา 1ลูก ถนน 32สาย โรงเรียน 14แห่ง อาคารราชการ 14แห่ง และอนุเสาวรีย์ที่อุทิศให้เขาอีก 7แห่ง
จะเห็นได้ว่านับแต่วันแรกที่ Terry Fox ตัดสินใจออกวิ่ง นอกจากความมุ่งมั่นแล้ว เขาไม่มีอะไรพร้อมเลย!
ก็เหมือนอย่างผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ที่นำสินค้าของบริษัทครอบครัวที่เข้ามาสานต่อเป็นผู้บริหาร คือ “ผงหอมศรีจันทร์” นำเข้าไปขายในร้านสะดวกซื้อ 7 – Eleven ได้สำเร็จ ทั้งที่ดูจากความสามารถในการผลิตตอนนั้นไม่มีทางทันต่อตัวเลขการส่งสินค้าครั้งแรก แต่เข้าก็ยืนยันการส่งของว่า “ทันแน่ครับ”
แล้วทีมงานก็ต้องเร่งทำงานกันหามรุ่งหามค่ำจนส่งของได้ และเป็นจุดเปลี่ยนทำให้สินค้าตัวนี้มียอดขายเพิ่มเกือบ 10 เท่า นับจากเข้าไปวางขายใน 7 – Eleven มาเกือบ 3 ปี ด้วยตัวเลขยอดที่น่าพอใจ
ในตัวอย่างความมุ่งมุ่นในหนังสือเล่มนี้และผลลัพธ์ที่เอาชนะอุปสรรคในบทต้นๆ ครึ่งหลังของเล่มจะให้หลักคิดที่น่าสนใจ
บทที่ชื่อ “แข่งก่อนจะแข่งจริง” ชื่อเรื่องก็ท้าทายความอยากรู้ ที่รวิศฝึกเพิ่มสถิติเป้าหมาย ผมขอเรียกว่า “เป้าเขย่ง” เช่น ตั้งใจวิ่ง 40นาทีก็จะกดเครื่องเป็น 50นาทีถ้าจะวิ่ง 60นาทีให้กด 80นาที
เขาเชื่อว่าสมองคนเราฝึกได้ ถ้ามันเจอคำสั่งจากจิตของเราว่า “ถ้าไม่ถึงเป้าหมายไม่เลิก” ย้ำตลอดเวลาสมองก็จะสั่งร่างกายให้บรรลุเป้าหมาย
ฝึกแบบนี้บ่อยๆ เมื่อเจออุปสรรคในการทำงาน เราจะบอกตัวเองว่า “นี่เรื่องเล็ก เดี๋ยวก็ผ่านไปได้”