จากคอลัมน์ Learn&Share โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล (suwatmgr@gmail.com) เซกชั่น Good Health Smart Life ของ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6-12 กันยายน 2557
คนที่ประสบความสำเร็จ บางกรณีจะถูกสรุปว่าเพราะ เก่ง+เฮง หรือบางคนก็ถูก มองว่าได้ดีเพราะ “โชคช่วย” คนจำนวนไม่น้อยจึงพลอย เชื่อว่าเป็นเรื่องของชะตากรรมหรือคิดว่าเป็นเรื่อง “ดวง” ที่ทำให้ “โชคดี” หรือ “โชคร้าย”
ทั้งๆ ที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธถูกสอนให้สร้างเหตุหรือกรรมที่ดี แม้ไม่ต้องหวังผลก็จะเกิดผลดีหรือกรรมดี ตามหลักเหตุและผล ซึ่งเป็นคุณลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา
ดักลาส มิลเลอร์ เขียนไว้ในหนังสือ THE LUCK HABIT ซึ่ง โสภาพร คอร์ช พากย์ไทยว่า “อุปนิสัยแห่งความโชคดี” Post Books จัดพิมพ์ เขาเชื่อว่า “โชคดี” นั้นมีอยู่จริง และมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ซึ่งไม่ใช่เป็น “ชะตากรรม” ที่ชี้นำหรือควบคุมความคิด การกระทำของคนตามหลักของหลายศาสนา
หลักคิดตามหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่อง “โชคดี” ที่ทุกคนสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ด้วย “ปัจจัยแห่งความโชคดี 20 ประการ” ได้แก่
1. รู้ว่าอะไรสำคัญสำหรับคุณ ตัวตนที่แท้จริงเป็นอย่างไร เช่น ค่านิยมของตัวเอง ที่กลายเป็นคนมีไฟ และทุ่มเทให้งาน หรือหมดไฟ
2. รู้สึกตื่นตัว และมีชีวิตชีวา อุปนิสัยแห่งความโชคดีจะงอกงามได้ดี เมื่อคุณทุ่มเท เอาใจใส่กับสิ่งที่กำลังทำ ไม่ใช่แค่การทำงานแบบ “ขอไปที”
คนประเภท “ตัวอยู่แต่ใจเกษียณ” เพราะขาดแรงจูงใจ และ ไม่ใฝ่รู้ไม่ใฝ่ดี อาจจะคิดแต่ว่าทำไม่ได้ และไม่อยากทำ ก็จะตรงข้ามกับปัจจัยที่ดีนี้
3. ทำได้ และจะทำ ความมุ่งมั่นแบบนี้จะผลักดันให้เกิดความสำเร็จ ด้วยความรู้ + ทักษะ จะเกิดความเชื่อว่า “ฉันทำได้” เสริมด้วยแรงจูงใจว่า “ฉันจะทำ”
4.ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่ดี เพราะให้บทเรียนว่า ทำไมจึงผิดพลาด และหากรู้จักเรียนรู้จากบทเรียนต่างๆ เหล่านั้น มันจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ขึ้น
5. รู้จักความสามารถของตัวเอง นอกจากทักษะที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้าลองสังเกตและทดลองทำสิ่งใหม่ๆ อาจได้เห็นความสามารถอื่นที่สร้างโชคดีได้
6. เปิดกว้างต่อผลตอบรับ ไม่ว่าจะเป็นคำชม หรือเสียงวิจารณ์ ให้ถือนั่นเป็น “ของขวัญ” ขอให้พิจารณาให้ดี ก่อนจะเลือกใช้วิธีการตอบสนองหรือปฏิบัติให้ดีที่สุด ต่อผลตอบรับนั้น
7. สร้างรูปแบการเรียนรู้ของคุณเอง อย่าเอาความสำเร็จของคนอื่น มาบั่นทอนความมั่นใจของตนเอง ควรว่า “เขาเก่งจริง” และไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมาจำกัดว่า “ฉันจะเก่งแบบนั้นไม่ได้”
8. เปลี่ยนความกลัวให้เป็นการเติมเต็ม เปลี่ยนความวิตกกังวลในการรอคอย และคาดหวังให้เป็นประสบการณ์ที่โน้มน้าวตัวเองไปสู่ความสำเร็จให้ได้
9. ทำงานหนัก ผู้ที่ทำผลงานได้ดีที่สุด ล้วนต้องทุ่มเทความพยายาม ไปในจุดที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด และการบรรลุเป้าหมายก็ต้องมีความขยัน การวางแผนที่ดี ฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาผลงาน
10. ประเด็นคืออะไร การเข้าใจคุณค่า “ที่ใส่เข้ามา” และสิ่งที่กำลังทำ อย่าจำกัดแค่เพียงทำตามหน้าที่ที่กำหนด ให้ดูว่ามีอะไรบ้างที่ควรจะทำ เพื่อนำไปสู่การสร้างผลการปฏิบัติงานที่ยอดเยี่ยม
11. คิดโดยไม่ต้องคิด ปรับสมองโลดแล่นช้าลง เพื่อให้ ความคิดที่ดีไล่ตามทัน นำไปสู่ความคิดอย่างเปิดใจให้กว้าง และสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความคิดเยี่ยมยอดที่สุด
12. รู้สึกสดชื่นอยู่เสมอ คนโชคดีทั้งหลาย มักเป็นคนช่างสงสัย หาทางออกตามล่าหาประสบการณ์ใหม่ วิธีการใหม่ในการทำสิ่งต่างๆ และทำให้ความคิดของเขาสดชื่นอยู่เสมอ
13. มีเป้าหมายชีวิต ระบุชัดเจนพร้อมกำหนดเวลา ให้แน่ใจว่าเป้าหมายนั้นน่าจูงใจ และจะเป็นจริงได้ต้องทำงานหนัก รวมทั้งมีกลยุทธ์จัดการกับความ ล้มเหลว
14. มีเป้าหมายระยะสั้น เป็นเป้าหมายที่เข้าถึงได้ทันที และมีวิธีตรวจสอบความก้าวหน้าได้ด้วย การตั้งเป้าหมายระยะสั้น ทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องที่จัดการได้ เป็นหลักไมล์สำคัญที่ใช้ตรวจสอบความก้าวหน้าด้วย
15. ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ควรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเรา มีหลายครั้งที่เราต้องใช้หัวใจมากกว่าหัวสมองในการคิดวิเคราะห์
16. พฤติกรรมบ่มเพาะพฤติกรรม พฤติกรรมที่ดี จะเป็นโอกาสให้ได้รับพฤติกรรมที่ดีตอบแทนกลับมา แม้แต่กลุ่มคนที่เราไม่วันเข้ากับเขาได้ก็ต้องทำให้เหลือน้อยที่สุด
17. สร้างเครือข่าย ทำด้วยเจตนาดีที่สุด ด้วยความยินดี ไม่ใช่ทำเพราะหวังผลประโยชน์จากการนี้ โดยเฉพาะการสร้างเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือคนอื่น
18. มีอิทธิพล ชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือ เป็นที่มาของหลักการมีอิทธิพล
19. แบ่งปันความสำเร็จ 3 สิ่งง่ายๆ ที่สามารถสร้างบรรยากาศที่ดี ของคุณกับคนอื่น ก็คือ กล่าวคำชม พูดขอบคุณ และฉลองความสำเร็จ
20. มองเห็นโอกาส ไม่รอโอกาสผ่านเข้ามา แต่จะกระตือรืนร้นในการสร้างโอกาสให้ตัวเอง และเตรียมพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากโอกาสที่ปรากฏขึ้น
ดักลาส มิลเลอร์ สรุปข้อคิดด้วยว่า คุณสามารถเลือกที่จะเป็น “ผู้เล่น” หรือ “ผู้ดู” ในเกมชีวิต
ถ้าจะเป็นผู้เล่น หากต้องการให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับคุณก็ต้อง ทำอะไรบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงเพื่อให้สิ่งดีๆ เหล่านั้นเกิดขึ้น
แต่ถ้าจะเป็นแค่ “ผู้ดู” แล้วรอคอยหรือหวังว่าจะมีรถไฟแห่งความโชคดีจะมาหยุดแวะรับเข้าสักวัน ก็เหมือนคอยพึ่งโชคชะตา เราจึงมักได้ยินคนกลุ่มนี้บ่นเสียดาย เมื่อรถไฟเปลี่ยนเส้นทางหรือ ออกเร็วไป 2-3 นาที และพวกเขาก็พลาดมันไป
คนที่เชื่อเรื่องโชคชะตามักจะทำ 2 อย่างคือ
• ใช้ประสบการณ์ ที่เคยเจอผลลัพธ์ที่ไม่ดี เอามาเป็นเงื่อนไขของชีวิต และได้แต่บ่นว่า “ฉันมันโชคไม่ดี...แต่คนอื่น โชคดีตลอด ไม่ว่าฉันจะทำอะไรก็ตามคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้หลอก”
• รอคอยและหวังว่า “จะโชคดี” เช่นหวังจะถูกหวย ซึ่งเป็นเรื่องสูญเปล่าในชีวิตอย่างยิ่ง
คุณอยากจะเป็นผู้เล่นที่กระตือรือร้นในชีวิตหรือจะเป็นคน นั่งดู
เมื่อถึงช่วงปลายของชีวิต คุณอยากมองย้อนหลังไปดูการใช้ชีวิตและผลการทำงานที่มีคุณค่าและพูดกับตัวเองด้วยความภาคภูมิใจว่า “ฉันเคยทำมาแล้วอย่างดี” หรือปล่อยให้โอกาสทั้งหลายที่ผ่านเข้ามาแล้วหลุดมือไปอย่างไร้คุณค่า
คุณเลือกได้เอง!