xs
xsm
sm
md
lg

สัมปทานการมีชีวิตในโลกนี้ คุณได้ใช้คุ้มค่าแค่ไหน? / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมไปว่ายน้ำที่สระของสโมสรในหมู่บ้าน ได้ออกกำลังกายในน้ำ แล้วรู้สึกผ่อนคลายทั้งกาย และจิตใจดีจัง ระหว่างอยู่ในห้องน้ำ เพื่อเปลี่ยนจากกางเกงว่ายน้ำ มาเป็นชุดแต่งกายปกติผมเกิดความคิดอย่างหนึ่งแวบขึ้นมา จึงเป็นประเด็นแลกเปลี่ยนสนทนากับลูกชายคนเดียวของผมที่ไปลงสระพร้อมกัน

เมื่อไปว่ายน้ำ เราก็ต้องถอดเสื้อ กางเกงเก็บเข้าตู้และมาเปลี่ยนชุดที่ฝากเก็บไว้ก่อนลงว่ายน้ำแล้วเดินกลับบ้าน
แต่ในการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้จิตวิญญาณของแต่ละคน ได้อาศัยร่างกายที่เรียกว่า เป็นตัวเรา ตามระยะเวลาที่เราได้“สัมปทานชีวิต” ของแต่ละคนด้วย “เวลาตามอายุขัย”
ทั้งนี้มีกรรมเป็นเหตุปัจจัยหนุนส่งให้
1.ชีวิตเกิดขึ้น 2.ดำเนินไปได้ดีจะมีคุณค่าหรือเลวร้าย ในลักษณะใดก็ตาม 3.มีชีวิตที่สั้นหรือยาว เพียงไร 4.จุดจบของชีวิตจะเป็นเช่นใด

เมื่ออยู่หน้าตู้ล็อกเกอร์เก็บของก่อนแต่งตัวแล้วออกจากห้องน้ำ ผมนึกอุปมาเปรียบชีวิตได้รับสิทธิ์จากจักรวาลให้เกิดมา ใช้ชีวิตในโลกได้

ตู้ของบางคน อาจมีความพร้อมกว่าทั้งฐานะครอบครัวที่จะสนับสนุนให้สมาชิกชีวิตใหม่เติบโตไปได้ดีทั้งสถานะชาติตระกูล การงาน และการเงิน ตู้ของบางคนอาจว่างเปล่า ไม่มีตัวช่วยหรือสิ่งเกื้อหนุนอำนวยความสะดวกใดๆ ติดมาเลย เป็นความยากจนขาดแคลนล้วนๆ แต่ตู้ของบางคน อาจให้เงื่อนไขติดลบมา เช่น ร่างกายไม่สมประกอบ หรือครอบครัวมีหนี้สิน

ดังนั้น เมื่อเราเกิดมาไม่ติดลบหรือเป็นบวกตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะบวกน้อยหรือบวกมากก็นับว่าดีแล้ว เพียงแต่จะดำเนินชีวิตให้มีคุณค่าและคุ้มค่า ตลอดอายุขัยที่ได้โควตามาอย่างไร

ผมชอบใจที่มีผู้กล่าวไว้อย่างน่าคิดมากว่า...

“คนเราเลือกเกิดไม่ได้
แต่เลือกที่จะเป็นอะไรได้
เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
จะตายให้คนหลั่งน้ำ ตาอาลัย
หรือจะให้คนถ่มน้ำลาย สาบแช่ง”

ผมเชื่อเช่นนั้น เพราะได้เห็นตัวอย่างบุคคลสำคัญที่มีในทุกยุคคนที่มีความมุมานะอดทน พยายาม เรียนรู้และพัฒนาจนพลิกจากชีวิตที่เริ่มจากติดลบ หรือจากศูนย์กลายเป็นผู้ประสบความสำเร็จก็มีให้คนจดจำ

บางท่านมีความมุ่งมั่น มีอุดมการณ์ในการใช้ชีวิตที่สร้างคุณค่าแก่สังคมกลายเป็นบุคคลสำคัญ ประวัติศาสตร์ต้องจารึก ทั้งๆ ที่เติบโตจากครอบครัวธรรมดาสามัญ

มีคนถามว่า เป้าหมายชีวิตของผมเป็นอย่างไร ผมตอบว่าเป้าหมายชีวิตของผมเหมือนไม่มีถ้าจะพูดเชิงกายภาพที่บางคนอาจกล่าวถึงการมีบ้านใหญ่โต มีฐานะร่ำรวย หรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงส่ง

แต่จากการเรียนรู้พัฒนาการทางสังคม ผมได้ข้อสรุปว่า การมีทรัพย์สมบัติมั่งคั่ง ร่ำรวย ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของชีวิต การมีชีวิตที่ดี (Smart Life) คือ การอยู่ดีมีสุข ทั้งร่างกายและจิตใจอย่างยั่งยืน ทั้งตัวเองและครอบครัว

ถ้าจะขยายความ ผมมองว่าเป็นเหมือนรูป 3 เหลี่ยมที่เป็นปัจจัย 3 ด้าน ของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้แก่

1.ความสัมพันธ์ที่สมดุล เป็นด้านฐานที่เกี่ยวกับ “คนที่เกี่ยวข้องใกล้ชิด คือ ตัวเอง การงานและครอบครัวจึงต้องจัดการเวลาและสัมพันธภาพ สุขภาพที่ดีเพื่อส่งผลลัพธ์ต่อตัวเอง การงาน และครอบครัว

2.การเลือกงานที่มีคุณค่า หมายถึง การสร้างสรรงานที่ส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อตัวเราเององค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อม

3.การเงินที่คุ้มค่า หมายถึงการบริหารการเงินรายรับรายจ่าย และการขยายผลให้เงินออมที่จำเป็นต้องมีโดยสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ยังต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ดีต่อตัวเองครอบครัวและสังคมด้วย

ผมจึงไม่มุ่งเป้าหมายที่เป็นตัวเงิน เพราะคิดว่าเมื่อตัวเราไม่มีหนี้สิน เงินออมที่มีอยู่ก็ถือได้ว่าไม่จนแล้ว ดั่งคำสอนของพระพรหมวชิรญาณที่ว่า...

พอใจ...ในสิ่งที่เรามี
ยินดี...กับสิ่งที่เราเป็น
เห็นคุณค่า...ในสิ่งที่เราเลือก
เท่านี้ก็“สุข” แล้ว

ดังนั้น ละครชีวิตที่เกิดขึ้นกับเราจึงเป็นเรื่องที่เราเขียนบทเอง เป็นผู้กำกับเอง และแสดงนำเอง
เพื่อให้คุ้มค่ากับสัมปทานชีวิตที่ได้มา
_____________________________________________

จากคอลัมน์ Learn&Share โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล
suwatmgr@gmail.com
เซกชั่นGood Health & Well-Beingของ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14-20 มีนาคม 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น