ขยายความจากคอลัมน์ Learn & Share โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล (suwatmgr@gmail.com) เซกชั่น Good Health & Well Being ของ ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 22 พ.ค.2559) |
ใครไม่เคยโกรธ ยกมือขึ้น!
หากจะมีก็คงเป็นคนได้พัฒนาจิต หรือฝึกสมาธิมาแล้วกระมัง แต่เอาละเมื่อ “ความโกรธ” เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เพราะมีฤทธิ์เดชหลายระดับที่สั่งสมจนก่อเรื่องร้ายแรงได้ แล้วเราอยากจะ “จัดการความโกรธ” กันไหมล่ะ
จังหวะดีที่ผมได้มีโอกาสรับความรู้จากแผ่นซีดีหรือหนังสือพูดได้ขณะขับรถจากบ้านไปทำงาน เป็นชุดที่ชื่อ “คัมภีร์พิชิตโกรธ” ผลิตโดยสำนักพิมพ์ DMG บรรยายโดยคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย โดยมีครูมาย-อิศวัชร์ ปิ่นทอง เป็นคู่สนทนา จึงขอประมวลมาเล่าเพื่อจุดประกายความคิดกันครับ
เนื้อหาจากซีดี 2 แผ่นในชุดนี้ พูดถึงเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดความโกรธตามจริตแต่ละประเภท แต่ก็ไม่ควรเป็นข้ออ้างว่า “ฉันก็เป็นคนอย่างนี้แหละ” แล้วยอมตกเป็นเหยื่อของความโกรธ
เพราะคนที่โกรธเพราะไม่พอใจหรือไม่สบอารมณ์ที่รู้สึกว่าไม่ได้ดั่งใจ แล้วแสดงอาการโกรธออกมาย่อมส่งผลกระทบถึงผู้ที่เกี่ยวข้อที่อยู่ใกล้ชิด ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่ทำงาน ในวงสังคมและคนในครอบครัว ก็เพราะไม่รู้จักอดทน อดกลั้น ปล่อยให้ความขี้หงุดหงิด การเอาแต่ใจตัวเป็นใหญ่ หรือต้องให้ได้ดั่งใจ โดยไม่ได้นึกถึงความคิดความรู้สึกของคนอื่น
จึงไม่ใช่เรื่องดีงามแน่ๆ
ผลเสียที่เกิดจากความโกรธนั้นมีมากมาย หากอิงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนมีถึง 7 ประการ ได้แก่
1.ผิวพรรณเสื่อมทราม ผู้ที่ถูกความโกรธครอบงำหรือมีความคับแค้นใจสะสม มักจะมีผิวพรรณไม่ผ่องใส
2.เวลานอนก็เป็นทุกข์ แม้จะนอนบนที่นอนอย่างดี มีความนุ่มสบาย แต่ก็จะกระสับกระส่ายนอนไม่เป็นสุข
3.มักหลงไปติดไปยึดถือให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กๆ ประเด็นย่อยๆ ที่ไม่ใช่สาระ แต่เรื่องสำคัญที่เป็นประโยชน์กลับถูกมองข้ามจึงมีแต่เรื่องขาดทุนเสียหาย พระพุทธองค์จึงทรงระบุว่า “ย่อมเป็นไปในทางฉิบหายชั่วกาลนาน”
4.แม้จะมีทรัพย์สินที่หามาโดยชอบธรรม ด้วยความขยันหมั่นเพียร แต่เมื่อความโกรธเข้าครอบงำก็มีโอกาสตัดสินใจผิดและทำเรื่องเสียหาย จนอาจต้องคดีโดนปรับหรือเสียทรัพย์สินได้
5.แม้จะมียศมีตำแหน่งมาอย่างถูกระเบียบ แต่มักโกรธเพราะขาดความฉลาดทางอารมณ์ ก็จะเสื่อมยศได้
6.มิตรสหายก็พลอยถอยห่าง เพราะไม่อยากรับอารมณ์หรือพลอยถูกผลกระทบ
7.คนที่ลุแก่ความโกรธมีโอกาสประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อตายก็ไปสู่ทุคติภูมิ คือไม่ได้ไปดีแน่
ความโกรธยังส่งผลร้ายต่อร่างกายอีกด้วย
• ทำลายรสอาหาร แถมทำให้เราหมดความอยากและทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ เพราะความเครียด ทำให้หลั่งสารจนเกิดโรคกระเพาะอาหาร
• ความเครียดความโกรธรุนแรง ทำให้เส้นประสาทเกิดความพิการ เช่น เส้นสมองตีบ
• ความโกรธที่สะสมก่อกระแสกดไว้เกิดโรคหัวใจ การหายใจแค่คอคือไม่ทั่วท้อง
• อารมณ์ผิดปกติ ความเครียดทำให้เซลในร่างกายบางจุดกลายพันธุ์ เกิดพิษในตัว เช่น มะเร็ง
• เด็กที่ถูกแกล้งแล้วโกรธหรือเครียดทำให้การเจริญเติบโตช้าลง
• เหงื่อที่ออกจากร่างกายที่มีความโกรธ จะมีวัตถุธาตุที่ผิดแผกแปลกไปจากเหงื่อที่ออกตามปกติ
ที่กล่าวถึงผลร้ายที่เป็นผลลัพธ์จากความโกรธหรือเป็นคน “ขี้โมโห” นั้น ทุกคนก็ดูเหมือนรับรู้จากตัวอย่างมากมายในข่าวและในสังคม ไม่ว่าจะไม่พอใจเพราะมีรถคันอื่นมาเฉี่ยวหรือแซง ก็เลือดขึ้นหน้า จนถึงกับคว้าปืนหรืออาวุธไปทำร้าย หรือการตบตีทั้งในชีวิตจริงและในละครทีวี
พอเป็นคดีที่ต้องรับผิดชอบความผิดก็มารำพึงว่า “...ไม่น่าเลย.. รู้อย่างงี้ ไม่ทำจะดีกว่า” แต่ก็สายไปแล้ว
แต่สำหรับคนที่มีการเรียนรู้และฝึกจิตมาดีอย่างคุณดนัยที่เล่าให้ฟังว่า ขนาดโดนคนมากรีดยางรถ เพราะไปจอดในที่คนอื่นก็ยังตั้งสติและคุมอารมณ์โกรธได้ โดยใช้วิธีแสดงออกที่คาดไม่ถึง ด้วยการนำดอกไม้ไปขอโทษ และชี้แจงเหตุผลว่าวันนั้นต้องรีบไปเปลี่ยนชุดเพื่อไปงานพระราชทานเพลิงศพ แต่ที่จอดรถของบริษัทถูกรถคันอื่นมาจอด เลยต้องไปอาศัยที่จอดของห้องตรงข้าม
แทนที่จะใช้การตอบโต้ให้กลายเป็นเรื่องรุนแรงตามเสียงเชียร์ของคนในบริษัท เมื่อยื่นไมตรีออกไปก็ได้รับไมตรีกลับมาด้วยความเข้าใจ พร้อมกระเช้าผลไม้และขวดไวน์ชั้นดี แถมด้วย Love Note จากเจ้าของบริษัททัวร์ชั้นนำของเยอรมนี ปรับความเข้าใจและขอใช้บริการที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
ว่าไปแล้ว ทุกคนล้วนมีความโกรธ ซึ่งเกิดจากอารมณ์หงุดหงิดที่ซ่อนอยู่ในตัวตนของเรา ที่เกิดจากความไม่พอใจ ไม่สบอารมณ์ แล้วทำให้อารมณ์ขุ่นมัว มลพิษทางความคิด ที่หมักหมมไปด้วยความโกรธ เป็นชนวนเหตุให้เสียสุขภาพจิตที่รุมเร้าก่อตัวส่งผลร้ายต่อร่างกาย แต่ทุกอารมณ์ความโกรธ เราสามารถที่จะจัดการได้ด้วยการ
คุณดนัยจัดระดับคนที่มีปัญหาสะสมด้านอารมณ์ขุ่นมัวและความโกรธอยู่ 3 ระดับ ที่ต้องชำระล้างหรือดีทอกซ์ ได้แก่
1.ตะกอนใจ
2.ก้อนกรวดแห่งความคับแค้นใจ
3.สนิมใจ
ดีท็อกซ์ตะกอนใจ
มีวิธีง่ายๆ เช่น อย่าไปซีเรียสจริงจังกับชีวิตมากเกินไป คิดว่าเป็นเรื่องขำๆ ที่ผ่านมาแล้วจากไป หยุดที่จะใช้แว่นขยายความผิดเพ่งโทษผู้อื่น เปลี่ยนมาหาความดีที่ซ่อนอยู่ในตัวของเขาดีกว่า หรือไม่ก็เปลี่ยนบรรยากาศให้ความสุขกับตนเอง ด้วยการเดินเล่นพักผ่อนสมอง ฟังเพลง ดูหนัง ทำอะไรก็ได้ที่คิดว่าทำแล้วมีความสุข
ดีท็อกซ์ก้อนกรวดแห่งความคับแค้นใจ
ทุกครั้งที่จิตใจขุ่นมัว มีตะกอนนอนแน่นิ่งอยู่ที่ก้นบึ้งของหัวใจ จนสะสมพอกพูนเป็นก้อนกรวดแห่งความคับแค้นใจ คอยทิ่มแทงปมในอดีตอันแสนเจ็บปวดร้าว จะด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ หรือความเศร้าสลดคราครั้งในอดีตที่ฝังจมแน่นในใจ เราสามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้ ด้วยการรู้จักที่จะรักและเมตตาตัวเอง ไม่ว่าจะชื่นชม ขอบคุณลมหายใจที่ต่อเติมชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย หรือรู้จักหักหอกเป็นดอกไม้ คือการไม่เอาความคิดมาคอยทิ่มแทงตัวเองให้เกิดบาดแผล ให้เรามองโลกในแง่บวก สลัดความคิดลบออกจากสมอง
ดีท็อกซ์ สนิมใจ
เป็นอดีตที่เราจมอยู่ปลัก ด้วยการปล่อยให้อดีตจับเอาอนาคตเป็นตัวประกัน คนเช่นนี้มีความขุ่นข้องเคียดแค้น พยาบาทชิงชังฝังลึกสะสมอยู่ในก้นบึ้งใจ เกาะกินกลายเป็นสนิมที่ยากจะชำระล้างให้สะอาดหมดจดได้ การที่เราจะหยุด เราต้องดึงตัวเองออกมาจากอดีตอันขมขื่น ให้มาอยู่ในโลกปัจจุบัน และลืมความจำที่อคติทิ้ง เปลี่ยนเป็นความสดใส ความสุข ให้กับตนเอง
ใจที่ผ่านการชำระซักฟอก ไร้ซึ่งความมืดดำเปรอะเปื้อนอารมณ์ ย่อมส่งผลให้จิตเกิดความเมตตา อย่างคำที่ว่า “จิตเหมือนปลา เมตตาเหมือนน้ำ” นั่นหมายความว่า ปลาที่ขาดน้ำ ย่อมที่จะอยู่ไม่ได้ฉันใด จิตใจที่ขาดความเมตตา ก็ย่อมที่จะห่อเหี่ยวแห้งแล้ง ขาดพละกำลังที่จะสร้างบุญกุศลและความดีได้ฉันนั้น ซึ่งการให้อภัยและการให้อโหสิกรรม ถือเป็นการชำระล้างเอาตะกอน ก้อนกรวด และสนิมที่ตกค้าง เกาะกินใจเรามานานแสนนาน มีความสะอาด เบาบางโปร่งใส ก้าวสู่หัวใจสีขาวที่ผ่านการกลั่นกรองด้วยสติ
ขณะที่ประโยชน์ของการละความโกรธนั้นมีมากมาย
- คนไม่โกรธหลับเป็นสุข
- ตื่นเป็นสุข
- ไม่ฝันร้าย
- เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
- เทวดาก็ย่อมรักษาผู้นั้น
- ภยันตรายทั้งหลายจะไม่ทำลายผู้นั้น (ไฟ พิษ ศาสตราวุธ)
- จิตตั้งมั่น
- สีหน้าผ่องใส ผิวพรรณผุดผ่อง
- เป็นบุคคลที่ไม่หลงตาย คือ มีสติก่อนตาย
- ถ้ายังไม่บรรลุคุณวิเศษยิ่ง สามารถจะเข้าถึงพรหมโลกได้
การใช้คัมภีร์พิชิตโกรธ เปลี่ยนอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา และเป็นยาขัดเกลาจิตใจให้พึงคิด ไม่หลงไปกับอารมณ์ ที่สร้างความปั่นป่วนให้จิตตกต่ำ จนกลายเป็นความโกรธที่ขาดการยับยั้งชั่งใจ เพราะทุกๆ ความโกรธ ไม่ว่าเกิดจากปัญหาสาเหตุอะไร ย่อมมีทางออก หรือการแก้ไข อยู่ที่ตัวเราปรับเปลี่ยน ยอมรับกับสิ่งนั้นได้หรือไม่? หากเรายังก่อหวอดให้กับอารมณ์ ไม่ยอมรับ หรือยังหลงอยู่ในกิเลส เราก็ตกเป็นทาสของความโกรธ
แต่ถ้าเราปล่อยวาง เปลี่ยนความคิดปรับตัวใหม่ ความสุขก็จะคืบคลานเข้ามาและค่อยๆ ขจัดความทุกข์ออกจากใจของเราได้ในที่สุด