xs
xsm
sm
md
lg

ความจริง ที่บริษัทนมผงไม่กล้าบอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครดิตภาพ lifestyle.th.msn.commothercare
ข้อมูลจาก เซกชัน Good Health Smart Life ของ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6-12 กันยายน 2557


• วิกฤตสุขภาพเด็กไทย
โรคร้ายแห่จองกฐินตั้งแต่วัยแบเบาะ
• ออนซ์ต่อออนซ์ “นมผง” VS “นมแม่” ใครดีกว่ากัน
• แฉเล่ห์ กลลวงบริษัทนมผง...แหกตาคนไทย
• วิบากกรรม “นมแม่” 23 ปี ยังไม่มีวันคลอด ?
• 8 ใจความสำคัญของ Code นม ที่คนไทยต้องรู้


หนึ่งในข่าวสุขภาพเขย่าโลก ที่ถูกกระแสถังน้ำแข็ง Ice Bucket Challenge กลบจนเงียบเป็นเป่าสาก คงเป็นข่าว “มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย” ร่วมกับ “เทศบาลตำบลท่าม่วง” อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ประกาศสัญญาประชาคม จับมือองค์กรภาคีเครือข่ายและภาคประชาสังคม เร่งผลักดัน “พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง CODE (International Code of Marketing of Breast-Milk Substitutes )” ปกป้องสิทธิของเด็กทารกให้ได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน


หากเป็นสังเวียนผ้าใบ ศึกเต้าชนเต้า “นมผง VS นมแม่” ไฟต์นี้ คงเป็นมวยคู่เอก ที่แฟนมวยต้องเกาะเวทีตะโกนเชียร์ให้นายกฯคนที่ 29 ของเมืองไทย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”ส่งสุขภาพดีให้เด็กไทยกันสุดเสียง เพราะศึกครั้งนี้ “กุมชะตา” สุขภาพเด็กไทยทั้งประเทศ

แปลกเว้ยเฮ้ย! ทั้งๆ ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และประเทศสมาชิก ประกาศใช้หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (Code นม) แถมยืนยันเสียงดังฟังชัดว่า “ทารกที่ได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีระดับสติปัญญาดีกว่าทารกที่กินนมผงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522

กอปรกับความพยายามจะคุ้มครองเด็กไทยจากกระทรวงสาธารณสุข,ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยภายใต้การสนับสนุนของ สสส. และภาคเอกชน อีกว่า 20 ปี ...ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ถึงกับมีนโยบายส่งเสริมให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน ให้ได้ร้อยละ 60 ภายในปี 2558

แต่...“พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (CODE)”ในประเทศไทย ก็ยังไม่คลอดออกมาคุ้มครองเด็กไทยเสียที

การปล่อยให้บริษัทนมผงข้ามชาติแย่งชิงทารกจากอกแม่ได้อย่างเสรี ทำให้สุขภาพเด็กไทยเข้าขั้นวิกฤติ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีอาถรรพ์ อาถรรพ์อะไร เซกชัน Good Health Smart Life ของ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ล้วงลึกทุกคำตอบ

วิกฤตสุขภาพเด็กไทย โรคร้ายจองกฐินตั้งแต่แบเบาะ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ตัวเลขเด็กไทยที่โตด้วยนมแม่ ร้อยละ 12 ก่อให้เกิดวิกฤติสุขภาพเด็กไทยวันนี้ แน่นอนว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นผลพวงมาจากการรอคอย พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารก และเด็กฯ” แพทย์หญิงยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เผย พร้อมกับบอกว่า

“ทั้งนี้ เพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวโดยไม่ต้องใช้นมผสม ในระยะ 6 เดือนแรก เป็นการป้องกันเบื้องต้นต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ เนื่องจากทารกที่กินนมแม่จะไม่ได้รับโปรตีนแปลกปลอม จากนมผสมซึ่งท􀄢ำมาจากนมวัว หรือนมแพะ

รายงานการวิจัย โดยติดตามทารกจ􀄢ำนวน 1,105 ราย ตั้งแต่ แรกเกิดไปจนอายุ 6 ปี ในปี ค.ศ. 2012 จากประเทศนิวซีแลนด์ พบว่า เด็กที่เคยกินนมแม่ เพียงอย่างเดียวนานกว่า 3 เดือน เป็นโรคหืดเมื่ออายุ 6 ปี น้อยกว่าเด็กที่เคยกินนมแม่ไม่ถึง 3 เดือนประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งนั่นหมายความว่าการกินนมแม่เพียงอย่างเดียว อย่างน้อย 3 เดือน ช่วยป้องกันการเกิดโรคหืดให้เด็กไปจนถึงอายุ 6 ปี

ขณะที่ทารกที่กินนมผง มีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดโรคมากมาย อาทิ โรคเบาหวาน, โรคมะเร็ง, การติดเชื้อที่หู หูชั้นกลางหรือแก้วหูอักเสบ และทางเดินหายใจ, การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร, โรคหอบหืด, โรคภูมิแพ้, โรคหัวใจ และโรคอ้วน โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย โรคขาดสารอาหาร โรคผิวหนังอักเสบออกผื่นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน รวมถึงโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะด้วย

ออนซ์ต่อออนซ์ “นมผง” VS “นมแม่” ใครเหนือกว่าใคร

แพทย์หญิง ยุพยง แห่งเชาวนิช บอกอีกว่า “การให้เด็กได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนแรกของชีวิต ทารกจะได้รับสารอาหารที่ดีที่สุด มีประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ได้เป็นอย่างดี

แพทย์และนักวิชาการต่างยืนยันว่า นมแม่มีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์สมองและระบบประสาท ส่งผลให้ IQ ของเด็กเพิ่มสูงขึ้น 2 - 12 จุด ทั้งนี้ แม้มีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วย อาทิ กรรมพันธุ์ อาหาร และการเลี้ยงดู แต่หัวใจสำคัญของการให้นมแม่คือ แม่จะมีโอกาสสัมผัสลูกน้อยอยู่ในอ้อมกอด การสัมผัสจะช่วยกระตุ้นการรับรู้และพัฒนาการทางสมอง ยิ่งกอด ยิ่งหอมแก้ม - ยิ่งเพิ่มการเชื่อมโยงของเส้นใยสมอง เส้นประสาทจะรับสัญญาณการเรียนรู้เร็วขึ้น เพราะธรรมชาติของมนุษย์ต้องใช้สมองเพื่อความอยู่รอด น้ำนมของมนุษย์จึงมีสารจำเป็นสำหรับการพัฒนาสมองของลูก และเป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทารก

เหนืออื่นใดในนมแม่มีองค์ประกอบของสารอาหารและสารต่างๆ มากกว่า 200 ชนิด ที่มีประโยชน์และ ความโดดเด่นในตัวเอง แตกต่างจากอาหารชนิดอื่นใดในโลก ได้แก่ น้ำ 87.1% ไขมัน 4.5% น้ำตาลแลคโตส 7.1% โปรตีน 0.8 - 0.9% น้ำนมแม่ 100 กรัมให้พลังงาน 72 กิโลแคลอรี

เมื่อมองจากมุมนี้ การให้เด็กกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด เป็นวิธีการป้องกัน “โรคภูมิแพ้” และโรคอื่นๆ ตั้งแต่เริ่มแรก และยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่เกิดจากการรักษาโรคภูมิแพ้โดยไม่จำเป็นอีกต่างหาก

เพราะน้ำนมแม่ในช่วงแรก คือ หัวน้ำนม (colostrum) ที่มีสีเหลืองข้น อุดมด้วยสารอาหารจำเป็น ได้แก่ โปรตีน เกลือแร่ วิตามิน โดยเฉพาะวิตามินเอ และวิตามินเค สารช่วยการเจริญเติบโต และที่โดดเด่นที่สุด คือ หัวน้ำนมมีสารภูมิคุ้มกันในปริมาณที่สูงมาก เทียบได้กับ “วัคซีนหยดแรก” ที่มีคุณสมบัติ ป้องกันการติดเชื้อในทารกแรกเกิดเลยทีเดียว (ดูตารางน้ำนมจากแม่ - ให้แต่ประโยชน์)

แฉเล่ห์กลลวง บริษัทนมผง...แหกตาคนไทย

ทั้งๆ ที่ “นมแม่” มีคุณค่าเหนือกว่า “นมผง” มากมาย แต่อิทธิพลโฆษณาจากบริษัท “นมผง” ก็สร้างภาพและความเชื่อว่านมผงดีเทียบเท่านมแม่ กระทั่งทำให้แม่เกิดความเข้าใจผิด และหันไปใช้นมผงมากขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่มีอาหารอะไรที่มีคุณค่า และสามารถทดแทนนมแม่ได้เลย

สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยลดต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ 12 ซึ่งน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดในกลุ่มประเทศอาเซียน” ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง ตัวแทนคณะผู้วิจัยจาก “โครงการการสื่อสารเพื่อสนับสนุนนมแม่และผลักดันร่างพ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กฯ” เผย

พร้อมแจกแจงให้ฟังว่า “การวิจัยกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดของบริษัทนมผงและการละเมิด CODE พบว่า อุตสาหกรรมนมผงได้ใช้กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดเชิงบูรณาการโดยมีเครื่องมือการสื่อสารที่สำคัญ 7 ประการได้แก่ การโฆษณา, การส่งเสริมการขาย, พนักงานขาย, การขายตรง, การตลาดอินเตอร์เน็ต, การแสดงสินค้า ณ จุดขาย และบรรจุภัณฑ์

ซึ่งรูปแบบดังกล่าวล้วนแต่เป็นการละเมิด CODE ทั้งสิ้น และจากอิทธิผลของการสื่อสารการตลาดเหล่านี้ได้สร้างวาทกรรมและมายาคติที่ส่งผลต่อความคิด และความเชื่อแก่แม่ว่าสารอาหารในนมผงมีเทียบเท่ากับนมแม่ผ่านการใช้ภาษาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ อีกทั้งการใช้ภาษาโฆษณายังสร้างความกังวลใจให้กับแม่ว่านมแม่อาจมีสารอาหารไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความลังเลใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก

การสื่อสารการตลาดที่ละเมิด CODE ในปัจจุบัน มีผลให้แม่เชื่อและลังเลว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้วใช่นมผงร่วม หรือจะใช้นมผงอย่างเดียว” ดร.บวรสรรค์ กล่าว

ก่อนจะกระซิบดังๆ ว่า “ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจ คือการใช้บุคลากรทางการแพทย์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารการตลาดในรูปแบบต่างๆ อาทิ การเป็นวิทยากร การแจกตัวอย่างนม หรือการใช้พื้นที่ของสถานพยาบาลแสดงเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของนมผง”

23 ปี มหากาพย์วิบากกรรม “นมแม่”

จากหลายเหตุหลายปัจจัย ก่อเกิดมหากาพย์ วิบากกรรม “นมแม่” ที่ยืดเยื้อนานกว่า 23 ปี จนสังคมไทยตั้งคำถาม ว่าเกิดอะไรกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ “จริงๆ แล้วเราต้องรู้ก่อนว่าเราไม่ได้มาขัดขวางการขายนมนะ” อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เผยเจตนาในการผลักดัน พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้ฟัง พร้อมกับยืนยันว่า

“เราไม่ได้มาขัดขวางธุรกิจนม แต่เราลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิให้กับเด็ก ซึ่งไม่สามารถปกป้องคุ้มครองตนเองได้ ตรงนี้ทุกภาคส่วนที่จะเข้ามาทำจะต้องเห็นตรงกันก่อนว่า เราจะต้องคุ้มครองเด็ก เพื่อจะให้เด็กไทยได้กินนมแม่มากขึ้น

เมื่อเห็นไม่ตรงกันวิบากกรรมทจึงเกิดขึ้น เพราะภาคธุรกิจที่ทำเรื่องอาหารทารก มองว่าถ้า พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกมาแล้วจะไปขัดขวางการทำมาหากินของเขา เพราะกลัวว่าจะทำให้ขายผลิตภัณฑ์สินค้าได้น้อยลง พอมองกันคนละมุมอย่างนี้ จึงจูนเข้าหากันไม่ได้ มันก็เลยเกิดวิบากกรรมอย่างที่เป็นอยู่

หลังศึกษาดูว่า ทำไมหลายประเทศถึงออกกฎหมายฉบับนี้ออกมาคุ้มครองสิทธิเด็กสำเร็จ ทั้งๆที่ทำภายใต้เงื่อนไขทางภาคธุรกิจที่ทำกับตลาดทารก ?

ประเด็นนี้ฟังดีดีนะครับ ประเทศเหล่านั้นไม่มีข้อตกลงร่วมกับภาครัฐบาล สรุปง่ายๆก็คือCODE นมจะประสบความสำเร็จ ทุกภาคส่วนจะต้องเห็นดีเห็นงามพร้อมกัน มันถึงจะเป็นไปได้ ทีนี้ถามว่าทำไมประเทศไทยถึงไม่ไปไหน เพราะทุกภาคส่วนยังมองไม่เห็นประโยชน์ร่วมกัน มันก็เลยเกิดการขัดแย้งกัน คือยังจูนคอนเซ็ปต์ไม่ตรงกัน ระหว่างภาครัฐบาลที่จะผลักเรื่องนี้ กับภาคธุรกิจ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้มีการประชุมกันเยอะมาก

แต่มีอยู่บางจุดที่ทางภาคธุรกิจเขียนว่า “ไม่สามารถปฏิบัติได้” อันนี้อาจารย์ไม่ขอลงรายละเอียดนะว่ามันคืออะไร พอเขาบอกว่าปฏิบัติไม่ได้ปุ๊บ ภาครัฐฯ ก็ไปศึกษาจากต่างประเทศว่าทำไมในประเทศที่ทำเสร็จแล้ว จึงยอมทำตามเงื่อนไข แล้วทำไมภาคธุรกิจในประเทศไทยจึงไม่ยอม

ทีนี้ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาอีกว่า เหตุใดตลาดอาหารทารกในประเทศไทยจึงไม่ยอมเดินทางตามสากล ที่เขาดำเนินกันอยู่

ถ้าถามว่าแล้วจะเดินหน้าต่ออย่างไรในมุมมองของอาจารย์ สิ่งที่เป็นไปได้จริง จะต้องเกิดจากโต๊ะเจรจา คือต้องมีการเจรจาแล้วให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านี้ จากนั้นทำให้ภาคอาหารทารกเกิดความรู้สึกว่า เขาไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย “ยังขายได้อยู่ แต่ขายอย่างถูกที่ถูกทาง ขายอย่างถูกกฎหมายซะ” ก็แค่หันไปทำธุรกิจนมสำหรับเด็กโต

ส่วนเด็กเล็ก ถ้าคิดว่า พ.ร.บ. นี้ออกมาแล้วจะทำให้รายได้ของบริษัทลดลง คุณก็ต้องเห็นแก่เด็กไทยที่เป็นลูกหลานของคุณเหมือนกัน เพราะงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า ถ้าขืนปล่อยให้ตลาดนมผงเกลื่อนกลาดอยู่อย่างนี้ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะลดลงอีก แล้วลูกหลานเราจะเติบโตได้อย่างไร ?

ผมว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องทำเรื่องนี้ คนที่เป็นแม่ก็ต้องเรียกร้อง ประชาชนเองก็ต้องเรียกร้อง เพื่อช่วยกันขับเคลื่อน พ.ร.บ. ฉบับนี้ จากทุกภาคส่วนตามความต้องการของประชาชน

เราคงไม่สามารถบอกได้ว่า ถ้าไม่มี พ.ร.บ. นี้ออกมา จะมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศเท่าไร เพียงแต่เราบอกได้ว่า นมแม่ จะทำให้เด็กไทยมีศักยภาพในการเจริญเติบโตเต็มตามศักยภาพ มีภูมิคุ้มกันในการเจ็บป่วยน้อยลง เด็กไทยจะมีไอคิวที่ดีขึ้น เด็กไทยจะมีความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น

ตรงกันข้ามถ้าไม่ได้กินนมแม่อย่างถูกต้อง และเพียงพอ เด็กไทยที่โตขึ้นก็อาจจะมีศักยภาพในการเจริญเติบโตที่ด้อย เป็นผู้ใหญ่ที่มีสมรรถภาพในการทำงานต่ำกว่าความเป็นจริง ฉะนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้น มันก็จะครบทุกด้านของประเทศไทย พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเด็กไทยไม่ได้กินนมแม่ในวันนี้ คุณภาพและศักยภาพของคนไทยในอนาคตมันก็จะด้อยลง และมีผลต่อการพัฒนาประเทศทุกด้านเช่นกัน”

สุดท้ายอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ แนะว่า ที่สำคัญคนไทยต้องรู้ว่า “พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง CODE (International Code of Marketing of Breast-Milk Substitutes ) มีประโยชน์กับลูกหลานเราแค่ไหน มีใจความสำคัญอย่างไร (อ่านล้อมกรอบ 9ใจความสำคัญของ Code นม ที่คนไทยต้องรู้ ) ทั้งนี้เพื่อเราจะได้เท่าทันกลเกมการตลาดบริษัทนมผง ที่สำคัญเด็กไทยจะได้เติบโตเต็มตามศักยภาพ เด็กไทยจะมีภูมิคุ้มกันที่ดีครับ

9 ใจความสำคัญของ Code นม ที่คนไทยต้องรู้

1. บริษัทผู้ผลิต และผู้จำหน่ายอาหารทารกและเด็ก ห้ามโฆษณาและทำการตลาดสินค้าในทุกรูปแบบ ทุกช่องทางของการโฆษณา ไม่ว่าโทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ (Website) หรือ นิตยสารต่างๆ หรือแม้กระทั่งนิตยสารที่เกี่ยวกับแม่และเด็กโดยตรง รวมถึงสถานที่สาธารณะทุกแห่ง

2. ห้ามพนักงานขายติดต่อกับหญิงตั้งครรภ์ แม่ และครอบครัว ในอดีตพนักงานบริษัท อาศัยช่องทางจากการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข โดยเสนอความช่วยเหลือจัดชั้นสอนสุขศึกษา ผลิตสื่อต่างๆ ให้ ขณะเดียวกันก็ได้สอดแทรกโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนเข้าไปด้วย ทำให้แม่เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าพนักงานบริษัทได้รับการเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล

3. ห้ามบริจาคนมผงสำหรับทารกและเด็กเล็ก การบริจาคนั้นไม่ได้เป็นการกุศล แต่เป็นวิธีการตลาดที่รู้กันว่ามีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงไม่ควรให้การบริจาคมีส่วนเข้ามาแทรกแซงการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

4. บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กควรปฏิบัติตาม CODE แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะของ CODE นมก็ตาม

5. ห้ามสถานบริการสาธารณสุข ส่งเสริมธุรกิจอาหารทารกและเด็กเล็ก

6. ห้ามสถานบริการสาธารณสุข ติดสื่อประชาสัมพันธ์ของบริษัท ไม่รับและติดแสดงสื่อของบริษัท อาทิ โปสเตอร์ เอกสาร ปฏิทินตั้งโต๊ะ ที่มียี่ห้อสินค้าและเครื่องหมายการค้าของบริษัทตามห้องตรวจแพทย์ หอผู้ป่วย หรือพื้นที่ที่ให้บริการ

7. ห้ามสถานบริการสาธารณสุข สนับสนุนด้านการเงิน เพื่อจัดประชุมสัมมนาเชิงวิชาการไม่เป็นการละเมิด CODE แต่ต้องกระทำโดยเปิดเผย ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ ซ่อนอยู่

8. ห้ามบุคลากรสาธารณสุข เสนอข้อมูลสินค้าของบริษัทที่ให้แก่แพทย์ พยาบาล และนักโภชนาการ จะต้องเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเป็นจริง ไม่ใช่ข้อมูลในเชิงโฆษณา

9. ห้ามบุคลากรสาธารณสุข รับตัวอย่างนมผง

147 ปี...เส้นทางนมผง

• 2410 คือปี พ.ศ. ที่นมผงถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อคุณแม่ที่ไม่สามารถให้นมลูกได้

• 2493-2503 คือปี พ.ศ. แห่งการเลี้ยงดูทารกด้วยนมผงรุ่งเรืองในยุโรปและอเมริกา กระทั่งเป็นแบบอย่างการเลี้ยงทารกให้กับเอเชีย แอฟริกาและลาตินอเมริกา ซึ่งมีอัตราการเกิดสูง

• 2513 คือปี พ.ศ. ที่ชุมชนสากลเริ่มตระหนักว่ากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติทางสุขภาพ

• ต้นศตวรรษที่ 20 นมผงกลายเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ล่าสุด นัยว่าเพื่อให้ระบบสาธารณสุขสนับสนุนเป้าหมายการตลาดของบริษัท จึงมีโฆษณานมผงในวารสารการแพทย์ให้รายละเอียดอ้างถึงความเหนือชั้นของนมผง

• จากนั้นมีการตกลงกับโรงพยาบาล หรือคลินิก ที่เห็นแก่ได้เพื่อขอสิทธิ์ แจกตัวอย่างนมผงฟรีแก่แม่หลังคลอด ข้อตกลงเหล่านี้มักมาพร้อมกับเงิน “ของขวัญ” จนเป็นที่มาการให้อาหารทารกด้วยการชั่งตวงวัดและ “การสั่งการรักษา”

• การโฆษณาอย่างต่อเนื่องบริษัทนมผง ทำให้ผู้หญิงเชื่อมั่นว่านมผงดีเท่ากับนมแม่ และเหนือกว่านมแม่ ทั้งๆความจริงแล้วแทบจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้

• 2522 คือปี พ.ศ. ที่ผู้แทนจาก WHO , Unicef และผู้ให้บริการทางสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกัน พร้อมแนะนำให้ร่าง “Code” เพื่อควบคุมการตลาดของผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่

• ก่อนปี พ.ศ. 2523 บริษัทนมผงพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและระบบสาธารณสุข เพราะความถี่โฆษณาต่อสาธารณชนในอเมริกาเหนือลดลง

• 2523 คือปี พ.ศ. ที่บริษัทนมผงยักษ์ใหญ่ทำการตลาดโดยตรงกับพ่อแม่และสาธารณชน โดยลงโฆษณาในนิตยสารเกี่ยวกับการดูแลเด็ก จัดทำคู่มือแม่และเด็ก คู่มือการเลี้ยงทารก เสนอบทความที่เขียนโดยกุมารแพทย์ หรือ หนังสือนิทาน ลงโฆษณาทางสื่อออนไลน์ ส่งตัวอย่างนมผงฟรีถึงบ้าน

• ทุ่มเงินสนับสนุนวารสารทางการแพทย์ การวิจัย การประชุมวิชาการ และให้ของขวัญ เพื่อรบกวนบุคลากรทางการแพทย์ มอบตัวอย่างนมผงฟรี หรือแจกบทความที่สนับสนุนนมผงให้แก่แม่ตั้งครรภ์ หรือหลังคลอด

• 2524 คือปี พ.ศ. ที่ WHO และ Unicef เล็งเห็นว่าการโฆษณานมผงเป็นสาเหตุทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดต่ำลง และก่อวิกฤติการตายของทารกในประเทศที่ยากจน นำไปสู่การยอมรับ the International Code of Marketing of Breast-Milk Substitutes ที่ World Health Assembly ครั้งที่ 34

• สมาชิก 118 จาก 119 ประเทศออกเสียงสนับสนุน มีเสียงคัดค้านเพียงหนึ่งเดียวมาจาก USA ด้วยเกรงว่า International Code อาจมีผลกระทบต่อกำไรโดยรวม เพราะเป็นผู้ผลิตนมผงรายใหญ่ของโลก

• 2537 คือปี พ.ศ. ที่ WHO รายงานว่าทุกๆปีทารกประมาณ 1.5 ล้านคน เสียชีวิตเพราะไม่ได้กินนมแม่ อีกหลายล้านคนเป็นโรคขาดอาหารและโรคอื่นๆ

• ผลเสียจาการกินนมผงโดยไม่จำเป็นมีเหมือนกันทั่วโลก ในทวีปอเมริกาเหนือ ทารกที่กินนมผงมีโอกาสเสี่ยงทางสุขภาพและปัญหาพัฒนาการมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งผลระยะสั้นคือโรคติดเชื้อ และผลระยะยาวคือ ภาวะโรคเรื้อรัง ผู้ที่อยู่ในชุมชนยากจนยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเหล่านี้รุนแรงขึ้น

• 2547 คือปี พ.ศ. ที่ประเทศมากกว่า 27 ประเทศ ได้ผ่าน Code เป็นกฎหมาย อีก 33 ประเทศมีหลายบทใน Code เป็นกฎหมาย อีก 18 ประเทศมีนโยบายหรือมาตรการแบบสมัครใจ และอีก 33 ประเทศกำลังร่างข้อตกลงและรอความเห็นชอบขั้นสุดท้าย การนำ code ไปใช้อย่างจริงจังยังคงเป็นเป้าหมายของพ่อแม่ ผู้ให้บริการสุขภาพ และประชาชน

• ประเทศไทย ได้มีการประกาศ หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 หลังมีกระแสข่าวนมผงสำหรับทารกในประเทศจีนปนเปื้อนเมลามีน ทำให้เด็กป่วยจำนวนมากและเสียชีวิตจำนวนมาก ส่งผลให้ทั่วโลกตื่นตัวต่ออันตรายจาการสารปนเปื้อนในนมผง พยายามรณรงค์ให้ลูกได้กินนมแม่กันมากขึ้น

• พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการขับเคลื่อนจากหน่วยงานต่างๆ ทางด้านสาธารณสุขและภาคประสังคมมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการได้รับการรับรองจากภาคีเครือข่ายในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 เมื่อปี 2553 โดยคณะรัฐมนตรีได้รับรองมติของที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2554 แต่ปัจจุบัน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวอยู่ในระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบและประกาศเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ต่อไป
แพทย์หญิงยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.

กำลังโหลดความคิดเห็น