สธ. จัดทำคู่มือให้พ่อแม่ - บุคลากรสาธารณสุข ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 0 - 5 ขวบ พร้อมฉีดวัคซีนหัด-หัดเยอรมันเข็ม 2 ให้เด็ก 2 ขวบครึ่ง - 7 ปี ก่อนปรับเกณฑ์ฉีดใหม่ ช่วง พ.ค.- ก.ย. นี้ เป็นของขวัญวันเด็กแห่งชาติ หวังเด็กไทยไอคิว - อีคิวเลิศ ด้านกรมสุขภาพจิตแนะ 7 วิธีเล่นสร้างสุขกับลูกหลาน
วันนี้ (7 ม.ค.) ทีมโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวแนวทางการดำเนินงานของ สธ. เพื่อเป็นของขวัญวันเด็กแห่งชาติปี 2558 ซึ่งตรงกับทุกวันเสาร์ที่ 2 เดือน ม.ค.ของทุกปี โดย นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย โฆษก สธ. กล่าวว่า เด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในครรภ์มารดา เพื่อให้มีพัฒนาการที่สมบูรณ์ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และ สติปัญญา โดย สธ. ได้เตรียมของขวัญมอบให้เด็กไทย 2 ชิ้น เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้มีสุขภาพแข็งแรง สติปัญญาเกิน 100 คือ 1. การดูแลพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และ 2. การเตรียมฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด และหัดเยอรมัน
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร โฆษก สธ. กล่าวว่า สธ. ได้จัดทำคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง ซึ่งจะพิมพ์และจัดส่งไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่ รวมถึงในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้พ่อแม่ที่เพิ่มมีลูกแรกคลอดได้นำไปศึกษาและติดตามพัฒนาการของลูกในแต่ละช่วงขวบวัย นอกจากนี้ ยังได้จัดทำคู่มือคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัยแรกเกิด - 5 ปี สำหรับบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งแบ่งเป็น 2 เล่มคือ เล่มขาวสำหรับเด็กที่มีพัฒนาการปกติ และเล่มสีเขียว สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงมีพัฒนาการผิดปกติตั้งแต่แรกคลอด
“เด็กที่มีพัฒนาการปกติก็มีโอกาสเกิดปัญหาพัฒนาการเรียนรู้ในภายหลังได้ถึง 10% ซึ่งสาเหตุมาจากการเลี้ยงดู โดยเฉพาะช่วงวัยไม่เกิน 5 ขวบ ที่เป็นช่วงทองในการเลี้ยงดูลูกให้มีพัฒนาการที่ดีสมวัย ทั้งด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ด้านการเข้าใจภาษา ด้านการช่วยเหลือตัวเองและสังคม และด้านการเคลื่อนไหว ซึ่งหากพื้นฐานไม่ดี จะพัฒนาภายหลังได้ยาก ซึ่งพ่อแม่สามารถติดตามพัฒนาการของลูกได้ตามคู่มือ หากพบความผิดปกติก็สามารถปรึกษาบุคลากรสาธารณสุขได้ ซึ่งจะมีคู่มือเล่มขาวในการตรวจเช็กว่าความผิดปกติของเด็ก เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ไม่ถูกต้อง หรือพัฒนาการผิดปกติของเด็กเอง ซึ่งจะให้คำแนะนำในการปฏิบัติต่อไป ส่วนคู่มือเล่มเขียวสำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงจะมีเนื้อหาแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น” พญ.พรรณพิมล กล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า คู่มือคัดกรองสำหรับเจ้าหน้าที่มีใช้แล้ว 33 จังหวัด และจะแจกให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายใน เม.ย. นี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับการป้องกันพัฒนาการผิดปกติเด็กตั้งแต่แรกคลอดนั้น สธ. มีการพัฒนาคลินิกฝากครรภ์ และรณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ให้เร็วขึ้นตั้งแต่อายุครรภ์น้อยกว่า 3 เดือน เพื่อรับวิตามินที่จำเป็นในการพัฒนาสมองเด็กฟรี ประกอบด้วย โฟลิกแอซิด ไอโอดีน และ เหล็ก โดยให้กินต่อเนื่องจนถึงหลังคลอด 6 เดือน และพัฒนามาตรฐานห้องคลอดเพื่อป้องกันปัญหาเด็กขาดออกซิเจน
ด้าน นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษก สธ. กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโรคหัด และหัดเยอรมัน เป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับ โดยจะเริ่มฉีดเข็มที่ 1 เมื่ออายุ 9 - 12 เดือน และกระตุ้นซ้ำเข็มที่ 2 ในช่วงอายุ 7 ปี แต่ที่ผ่านมาพบว่า เด็ก 2 ขวบที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วกลับป่วยโรคหัดมากขึ้น เนื่องจากภูมิต้านทานต่ำลง สธ. จึงปรับเปลี่ยนเกณฑ์การฉีดวัคซีนโรคหัดครั้งที่ 2 ให้เร็วขึ้นคือจะฉีดช่วงอายุ 2 ปีครึ่ง โดยในปี 2558 มีเด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 2 ปีครึ่ง - 7 ปี ประมาณ 3 ล้านคนทั่วประเทศ ก็จะเริ่มทยอยฉีดตั้งแต่ พ.ค. - ก.ย. ทั้งนี้ ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัดให้เหลือไม่เกิน 1 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ภายในปี 2563 และคาดว่า ใน 5 - 10 ปี จำนวนผู้ป่วยจะลดลงเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยได้รวม 205 ล้านบาท ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและให้ผลในระยะยาว
วันเดียวกัน ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กป่าไม้อุทิศ 9 จ.นนทบุรี พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ กรมสุขภาพจิตจึงมอบชุดสื่อเทคโนโลยีด้านการเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์และด้านการอ่านในเด็กปฐมวัย และสื่อด้านการส่งเสริมพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ให้กับ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงพยาบาลชุมชน โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญต่อการพัฒนาเด็ก สำหรับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเป็นเรื่องสำคัญ พ่อแม่สามารถทำได้ที่บ้านผ่านการเล่นกับลูก ไม่จำเป็นต้องใช้เวลามาก หรือใช้ของเล่นราคาแพง เพียงแค่เด็กได้เล่นกับพ่อแม่ได้ฝึกทักษะต่างๆ ระหว่างเล่น ในบรรยากาศที่สนุกสนานและอบอุ่น ก็จะได้รับการส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง อารมณ์ และสังคมที่ดี
พญ.อัมพร กล่าวว่า ทั้งนี้ จะต้องเริ่มฝึกตั้งแต่วัยทารก เช่น ให้ลูกสัมผัส สังเกต จับคู่ ฝึกนับ และคัดแยกของเล่นใส่ตะกร้า เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องจำนวนและการนับ เรียนรู้เรื่องภาษาผ่านการออกเสียง เป็นต้น โดยแนวทางสร้างสุขในการเล่นกับลูกหลาน มี 7 วิธี คือ 1. สร้างโอกาสในการเล่นที่หลากหลาย 2. ให้เด็กรู้สึกว่าเราและเด็กกำลังเล่นด้วยกัน 3. ให้เด็กเล่นสิ่งของที่เขากำลังสนใจอยู่ในขณะนั้น 4. ให้คำชมหรือรางวัล เมื่อเด็กมีการเล่นที่พัฒนาขึ้น 5. ฝึกนิสัยการเล่นที่ดีให้เด็ก เช่น เล่นของเล่นทีละอย่าง เก็บของเล่นทุกครั้งหลังการเล่น 6. เฝ้าระวังความปลอดภัยขณะที่เด็กเล่น และ 7. ส่งเสริมการเล่นตามลำดับขั้น เพื่อการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น เช่น ให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนๆ โดยระหว่างที่ลูกเล่น ควรสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็ก หากพบความผิดปกติหรือมีข้อสงสัย ควรรีบพาเด็กๆ ไปปรึกษาแพทย์
“นอกจากนี้ พ่อแม่ต้องเสมอต้นเสมอปลาย ยอมรับและเข้าใจ ไม่คาดหวังสูง เป็นตัวอย่างที่ดี ฝึกวินัยลูกอย่างสม่ำเสมอ แสวงหาความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงลูกหลานกับผู้อื่นเสมอ เป็นคนเลี้ยงลูกหลานอย่างมีเหตุผล ไปทางเดียวกันทั้งบ้าน ไม่ใช้อารมณ์ และเป็นคนที่ดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจอย่างสม่ำเสมอ” ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่